xs
xsm
sm
md
lg

ยูนิเซฟเผยมีเด็กโรฮิงญาติดค้างอยู่ในฝั่งพม่าเพียงลำพังนับร้อยคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - เด็กชาวโรฮิงญาราว 100 คน ติดค้างอยู่ในฝั่งพม่าโดยไม่มีพ่อแม่ หลังปฏิบัติการทางทหารได้ขับไล่ผู้คนกว่า 655,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่เดือน ส.ค. ตามการเปิดเผยของสหประชาชาติ

เด็กชาวโรฮิงญาอีก 60,000 คน กำลังไร้เรี่ยวแรงอยู่ในค่ายที่รุมเร้าไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บในฝั่งพม่า ตั้งแต่ถูกขับออกจากบ้านของตนเองระหว่างเหตุความรุนแรงในปี 2555 ตามการระบุของโฆษกยูนิเซฟ

โฆษกยูนิเซฟ กล่าวต่อนักข่าวในเจนีวาเมื่อวันอังคาร (9) ว่า เธอใช้เวลา 1 เดือนในรัฐยะไข่ของพม่า และเยี่ยมค่ายพักแห่งหนึ่งที่ที่พักพิงสร้างอยู่เหนือกองขยะ และสิ่งปฏิกูลต่างๆ และมีเด็ก 4 คน เสียชีวิตจากโรคต่างๆ ภายใน 3 สัปดาห์

ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่ากล่าวต่อรอยเตอร์ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่ามีเด็กถูกทิ้งไว้ลำพังในพม่าระหว่างการอพยพของชาวโรฮิงญาไปบังกลาเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2560

ความตึงเครียดคุกรุ่นอยู่นานหลายสิบปีระหว่างชาวพุทธยะไข่ และชาวมุสลิมโรฮิงญาที่เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งถูกปฏิเสธการเป็นพลเมือง แม้หลายครอบครัวอาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายชั่วอายุคนก็ตาม และในเหตุความรุนแรง 2 ระลอกในรัฐยะไข่ที่เกิดขึ้นในปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และชาวโรฮิงญาประมาณ 120,000 คน ยังคงอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่น

ในช่วงต้นของการปะทะในปี 2555 ชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธ และเปิดฉากโจมตีครั้งแรกในปี 2559 ซึ่งสังหารตำรวจชายแดนไป 9 นาย

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. กลุ่มที่รู้จักในชื่อ กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งยะไข่ (ARSA) ได้ก่อเหตุโจมตีอย่างกว้างขวางกับด่านตำรวจ และค่ายทหารของพม่า เป็นเหตุให้กองทัพต้องดำเนินการปราบปรามตอบโต้ด้วยปฏิบัติการกวาดล้างที่กลุ่มสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีการข่มขืน และสังหารพลเรือนโรฮิงญาร่วมด้วย

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาการล้างชาติพันธุ์ และกล่าวโทษความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ต่อผู้ก่อความไม่สงบ โฆษกยูนิเซฟกล่าวว่า เด็กชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 100 คน ถูกแยกออกจากครอบครัวระหว่างการอพยพ และเด็กส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

สหประชาชาติประเมินว่า มีชาวโรฮิงญาเหลืออยู่เพียง 60,000 คน จาก 440,000 คน ในเมืองหม่องดอ

ซอ เต กล่าวว่า พม่าจะเริ่มส่งตัวผู้ลี้ภัยจากบังกลาเทศกลับประเทศ 300 คนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. ตามข้อตกลงที่ลงนามกันในเดือน พ.ย. และรัฐบาลได้เริ่มสร้างบ้านสำหรับผู้ที่เดินทางกลับบางส่วน ขณะคนอื่นๆ ที่เหลือจะถูกส่งไปยังค่ายพักชั่วคราวใกล้กับหมู่บ้านเดิม

ในจดหมายของฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่ส่งถึงรัฐบาลพม่า และบังกลาเทศ ระบุเตือนว่า ทั้งสองรัฐบาลเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศจากการกดดันผู้ลี้ภัยให้เดินทางกลับพม่า ที่ยังคงเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากกองกำลังรักษาความมั่นคง

หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เสนอความช่วยเหลือเพื่อรับประกันว่า กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจะเป็นไปตามมาตรฐานสากล

“การฟื้นฟูความสงบสุขและความมั่นคง การรับประกันการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่และการจัดการกับต้นตอของปัญหาการพลัดถิ่นเป็นเงื่อนไขสำคัญ” โฆษกของ UNHCR ระบุ.


กำลังโหลดความคิดเห็น