xs
xsm
sm
md
lg

ประธานาธิบดีพม่ากล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีของพม่ากล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสครบรอบวันได้รับเอกราช เรียกร้องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับที่ทหารร่างขึ้น และความยุติธรรมสำหรับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มที่ได้รับการรับรองภายใต้ระบบสหพันธรัฐ แต่ไม่มีการกล่าวถึงการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกบทบาททางการเมืองของทหารเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในพม่านับตั้งแต่ประเทศหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ

การอภิปรายเกี่ยวกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหยุดชะงักไปตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การลอบสังหารทนายความของพรรครัฐบาลที่แนะนำเกี่ยวกับประเด็นนี้ในเดือน ม.ค.ปีก่อน

“ในขณะที่เราสร้างสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยจากการเจรจาทางการเมือง เราทุกคนจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม” ประธานาธิบดีถิ่น จอ กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันครบรอบ 70 ปี การเป็นเอกราชจากอังกฤษ

แต่ประธานาธิบดีถิ่น จอ ไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าอะไรที่เขามองว่าเหมาะสม หรือเหตุใดเขาถึงเสนอแนะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่ร่างขึ้นโดยทหารไม่เหมาะสม

รัฐธรรมนูญกำหนดห้ามมิให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมีคู่สมรส หรือบุตรเป็นชาวต่างชาติ ทำให้นางอองซานซูจี ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ เนื่องจากสามี และลูกชายทั้งสองของซูจีเป็นชาวอังกฤษ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังสงวนที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภาให้แก่ทหาร รวมทั้งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ที่ประกอบด้วย กลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน ซึ่งทำให้ทหารมีอำนาจคัดค้านการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และควบคุมกิจการด้านความมั่นคงของประเทศ

พม่าหลุดพ้นจากการปกครองของทหารที่ยาวนาน 49 ปี ในปี 2554 พรรคของนางอองซานซูจีกวาดชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2558 และตั้งรัฐบาล แต่ความวิตกก็เพิ่มมากขึ้นว่าการปฏิรูปกำลังชะงักงัน หรือแม้กระทั่งก้าวถอยหลัง

ความวิตกดังกล่าวเป็นผลจากการโจมตีเสรีภาพสื่อ ที่รวมทั้งการควบคุมตัวนักข่าวจำนวนหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ยังเข้าจับกุมตัวนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ที่รายงานการปราบปรามของทหารจนนำไปสู่การอพยพของชาวโรฮิงญาจำนวนมากจากรัฐยะไข่ข้ามแดนไปบังกลาเทศ

ประธานาธิบดีถิ่น จอ ยังเรียกร้องการเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้กล่าวถึงวิกฤตการอพยพของชาวโรฮิงญากว่า 655,000 คน หรือการประณามของต่างชาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

“เรากำลังทำงานเพื่อรัฐประชาธิปไตยที่อยู่บนหลักการของเสรีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม ความยุติธรรม ความเสมอภาค และสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” ผู้นำพม่า กล่าว

“ชาติพันธุ์” เป็นคำที่พม่าใช้กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม แต่ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ถูกปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วยทางการพิจารณาว่าชาวโรฮิงญานั้นเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

วิกฤตโรฮิงญาปะทุขึ้นในปลายเดือน ส.ค. หลังกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจในรัฐยะไข่ จนก่อให้เกิดการตอบโต้ของฝ่ายทหารที่สหประชาชาติประณามว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และระบุว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของประเทศได้ดำเนินการปฏิบัติการกวาดล้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ประธานาธิบดีถิ่น จอ เรียกร้องการยุติความขัดแย้งกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายกลุ่มซึ่งต่อสู้เรียกร้องการปกครองตนเองมาเป็นเวลาหลายสิบปี

ชนกลุ่มน้อยของพม่าเรียกร้องมายาวนานในการปกครองตนเองภายใต้ระบบสหพันธรัฐ แต่กองทัพมองว่า ตนเองเป็นเพียงสถาบันเดียวที่ป้องกันการแบ่งแยกประเทศ และสนับสนุนระบบรัฐเดี่ยว

นอกจากนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องได้คะแนนเสียงข้างมาก 76% ในรัฐสภา ที่สมาชิกทหาร และพันธมิตรของทหารควบคุมอยู่

เหตุการณ์การสังหาร โก นี ทนายความ และผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญเมื่อปีก่อน ยังไม่ได้รับการอธิบายอย่างครบถ้วน แม้ว่ามือปืนจะถูกจับตัวได้ในที่เกิดเหตุ นักเคลื่อนไหวหลายคนเชื่อว่า โก นี ที่เป็นชาวมุสลิม ตกเป็นเป้าจากความพยายามของเขาที่จะลดบทบาททางการเมืองของทหาร.


กำลังโหลดความคิดเห็น