xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิมนุษยชนวิตกเสรีภาพสื่อพม่าถดถอยหลังนักข่าวถูกจับรายงานวิกฤติโรฮิงญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักข่าวพม่าจัดชุมนุมประท้วงเรียกร้องการปล่อยตัว 2 นักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. -- Agence France-Presse/Thila Lwin.

รอยเตอร์ - ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่งกล่าวว่า เสรีภาพสื่อในพม่ากำลังถูกโจมตี แม้การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารที่ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดได้เปิดทางให้รัฐบาลของนางอองซานซูจีเข้ามาทำหน้าที่แทนแล้วก็ตาม

นักข่าวในพม่าถูกควบคุมตัวแล้วอย่างน้อย 29 คน ในช่วง 20 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่อองซานซูจีเข้าบริหารประเทศ แม้ส่วนใหญ่จะได้รับการปล่อยตัวจากการประกันตัวก็ตาม แต่การจับกุมยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พร้อมกับการควบคุมตัวสองนักข่าวรอยเตอร์ ที่ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลครั้งใหม่ในหมู่นักข่าวที่พยายามจะรายงานความรุนแรงในรัฐยะไข่

“นักข่าวตกอยู่ในความเสี่ยงมากเกินไป ผมรู้สึกว่าเราไม่ก้าวไปข้างหน้า แต่กลับถอยหลังทั้งในเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก” ซันนี่ ส่วย ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Frontier ที่มีสำนักงานในนครย่างกุ้ง กล่าว

เฉพาะเดือนธ.ค. มีนักข่าว 5 คน รวมทั้ง 2 นักข่าวรอยเตอร์ ถูกจับกุมตัว

วา โลน และกอ โซ อู ที่ทำงานให้กับรอยเตอร์ในการรายงานวิกฤติในรัฐยะไข่ ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ในนครย่างกุ้ง โดยกระทรวงข้อมูลข่าวสารพม่าระบุว่า ทั้งคู่ได้รับข้อมูลอย่างผิดกฎหมายและมีเจตนาที่จะแบ่งปันข้อมูลกับสื่อต่างชาติ และพวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี ตามกฎหมายความลับทางราชการ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่พม่าได้กล่าวย้ำว่า คดีความที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อ

“มุมมองในเรื่องนี้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจุดที่คุณยืน ยังมีเสรีภาพสื่อในพม่าตราบเท่าที่คุณปฏิบัติตามกฎระเบียบ” เจ้าหน้าที่จากกระทรวงข้อมูลข่าวสาร กล่าว

สื่อภายในประเทศมีเสรีภาพมากขึ้นนับตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรัฐบาลทหารในปี 2554 และการยกเลิกเซ็นเซอร์สื่อก่อนตีพิมพ์ในปี 2555 แต่อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดนระบุว่า พม่าอยู่ในอันดับที่ 131 จาก 180 ประเทศ

“เจ้าหน้าที่ยังใช้อำนาจหน้าที่กดดันสื่อและแม้กระทั่งแทรกแซงโดยตรงเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายบรรณาธิการ” องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนระบุในรายงานปีนี้

จอ ซา โม บรรณาธิการนิตยสารอิรวดีภาคภาษาอังกฤษ กล่าวว่า เสรีภาพยังถูกกดไว้ด้วยเส้นที่มองไม่เห็น

“ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าเส้นนั้นอยู่ตรงไหนเพราะมองไม่เห็น แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณแตะต้องหรือข้ามเส้นนั้นไป คุณก็จบ” จอ ซา โม กล่าว

แม้อองซานซูจี จะเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า แต่ยังถูกบังคับให้ต้องแบ่งอำนาจกับทหารที่คุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและตำรวจ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การปราบปรามสื่อหนักขึ้น ตั้งแต่เดือนต.ค. 2559 เมื่อกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจในรัฐยะไข่ ส่งผลให้ทหารดำเนินการปราบปราม ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าประกอบด้วยการสังหาร ข่มขืน และวางเพลิง และหลังจากการโจมตีโดยกลุ่มก่อการร้ายอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 25 ส.ค. ทหารทวีความรุนแรงในการปราบปรามยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดการอพยพยของชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมากไปบังกลาเทศ ที่เวลานี้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมากกว่า 800,000 คน

นักข่าวท้องถิ่นบางคนกล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระในรัฐยะไข่ เนื่องจากถูกข่มขู่คุกคามจากทั้งเจ้าหน้าที่และคนท้องถิ่น ขณะที่นักข่าวต่างชาติถูกปฏิเสธเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้ง

โม มี้น นักข่าวอายุ 29 ปี จากเว็บข่าวออนไลน์อิรวดี ทราบเรื่องการจับกุมนักข่าว ความคิดแรกของเขาคือ “อาจเป็นเขาก็ได้”

“แล้วถ้าหากตำรวจพบว่าผมมีเอกสารขึ้นมา มันเป็นการจับกุมโดยไตร่ตรองเพื่อที่จะหยุดการทำงานของสื่อเกี่ยวกับความขัดแย้งในรัฐยะไข่” โม มี้น กล่าว

ซอ เต โฆษกของนางอองซานซูจี ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเรื่องเสรีภาพสื่อของพม่า แต่ระบุว่า นักข่าวที่ถูกจับกุมตัวได้รับความคุ้มครองตามหลักนิติธรรม

พม่าปฏิเสธเกือบทุกข้อกล่าวหาที่มีต่อกองกำลังรักษาความมั่นคงในรัฐยะไข่ และปฏิเสธข้อหาของสหประชาชาติ สหรัฐฯ และชาติต่างๆ ที่ระบุว่าการกวาดล้างชาติพันธุ์เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา

เจ้าหน้าที่ยังกล่าวหาว่าสื่อต่างชาติสร้างข่าวเท็จเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในรัฐยะไข่ และทำงานใกล้ชิดกับผู้ก่อความไม่สงบ

ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การริดรอนเสรีภาพสื่อไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การรายงานวิกฤติในรัฐยะไข่เท่านั้น โดยตั้งแต่เดือนเม.ย. 2559 มีนักข่าว 21 คน ถูกตั้งข้อหาหรือถูกจับกุมตัวภายใต้กฎหมายโทรคมนาคม ที่ระบุข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้เครือข่ายการสื่อสารในการ “บิดเบือน หมิ่นประมาท ขัดขวาง หรือข่มขู่คุกคาม” ซึ่งนักวิจารณ์ระบุว่ากฎหมายนี้ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่และรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น.


กำลังโหลดความคิดเห็น