xs
xsm
sm
md
lg

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนเตือนศาลอาจตัดสินพม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เซอิด ราอัล อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ. -- Associated Press/Salvatore Di Nolfi.

รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เขาจะไม่รู้สึกประหลาดใจหากวันหนึ่งศาลจะตัดสินว่า มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในพม่า

เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีว่าการโจมตีชาวโรฮิงญานั้น “ถูกคิดและวางแผนมาเป็นอย่างดี” และได้ร้องต่อ นางอองซานซูจี ผู้นำพม่าให้ดำเนินการให้มากขึ้นเพื่อหยุดยั้งปฏิบัติการของทหาร

เซอิด เรียกการปราบปรามของทหารพม่าว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ และไม่สามารถปฏิเสธได้ถึงองค์ประกอบของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งความเห็นล่าสุดของ เซอิด ยิ่งแสดงให้เห็นถึงท่าทีอันหนักแน่นของเขาต่อคดีนี้

“องค์ประกอบต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า เราไม่สามารถปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ว่าการกระทำของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้เกิดขึ้น” เซอิด กล่าว

สหประชาชาติกำหนดให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นการกระทำที่มุ่งหมายจะทำลายชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนาในแบบทั้งหมดหรือบางส่วน

พม่าปฏิเสธการกระทำทารุณต่อชาวโรฮิงญา และปฏิเสธการวิพากษ์วิจารณ์ของสหประชาชาติ ซึ่งทหารพม่ากล่าวว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นเป็นปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบที่ชอบด้วยกฎหมาย

เซอิด กล่าวว่า การตอบสนองที่ไม่จริงจังของพม่าต่อความวิตกกังวลของประชาคมโลกทำให้เขากลัวว่า วิกฤตในปัจจุบันอาจเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของบางสิ่งที่อาจเลวร้ายยิ่งกว่า

นายใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวต่อบีบีซีว่า เขาวิตกว่ากลุ่มญิฮาดอาจก่อตัวขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ หรือแม้แต่การเปิดฉากโจมตีในพม่า ที่บางทีอาจมุ่งเป้าไปที่วัด

อย่างไรก็ตาม เซอิด ไม่ได้กล่าวว่า ศาลใดที่อาจดำเนินคดีต่อข้อกล่าวหาการกระทำทารุณ ด้วยพม่านั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ ดังนั้น การเสนอข้อหาต่อศาลอาจดำเนินการได้เพียงจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ แต่จีนที่เป็นพันธมิตรของพม่าสามารถยับยั้งการเสนอดังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น