xs
xsm
sm
md
lg

สังคมออนไลน์พม่าเดือดเปรียบโป๊ปฟรานซิส “กิ้งก่าเปลี่ยนสี” กรณีโรฮิงญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - การกล่าวเรียกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมว่าโรฮิงญาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสระหว่างเยือนบังกลาเทศได้ก่อให้เกิดความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยโกรธแค้นไม่พอใจบนสื่อสังคมออนไลน์ในพม่า หลังก่อนหน้าเพียงไม่กี่วัน พระองค์ทรงเลือกที่จะไม่กล่าวถึงชะตากรรมของโรฮิงญาในที่สาธารณะ

เมื่อวันศุกร์ (1) สมเด็จพระสันตะปาปาทรงพบหารือกับกลุ่มผู้ลี้ภัยจากชนกลุ่มน้อยมุสลิมไร้สัญชาติของพม่าในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ

สมเด็จพระสันตะปาปาทรงกล่าวถึงคนเหล่านั้นว่า “โรฮิงญา” คำที่ไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวพม่าจำนวนมากที่มองว่าชนกลุ่มน้อยมุสลิมกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศมากกว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์

ในระหว่างการเสด็จเยือนพม่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสไม่ได้ตรัสถึงชนกลุ่มน้อยมุสลิมด้วยคำว่าโรฮิงญาหรืออ้างถึงโดยตรงเกี่ยวกับวิกฤติในรัฐยะไข่ ซึ่งความระมัดระวังของพระองค์ในช่วงเริ่มแรกนั้นได้รับความชื่นชมจากบรรดาชาวคาทอลิกในพม่าที่วิตกการตอบโต้จากกลุ่มชาตินิยม รวมทั้งชาวพุทธหัวรุนแรง

การโจมตีอย่างรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่เกิดขึ้นกับด่านตำรวจในปลายเดือนส.ค. ก่อให้เกิดการปราบปรามในรัฐยะไข่ ซึ่งสหรัฐฯ และสหประชาชาติ อธิบายว่าการปราบปรามของทหารที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

เมื่อพระองค์เสด็จกลับนครรัฐวาติกัน พระองค์ตรัสว่าพระองค์ตรัสถึงประเด็นโรฮิงญาเป็นการส่วนตัวในพม่า และยังอธิบายถึงเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงร้องไห้หลังพบหารือกับกลุ่มผู้ลี้ภัย

ความเห็นดังกล่าวของสมเด็จพระสันตะปาปานำมาซึ่งความไม่พอใจในหมู่ผู้ใช้งานโลกออนไลน์ในพม่า

“พระองค์เหมือนกับกิ้งก่าที่เปลี่ยนสีตามสภาพอากาศ” อ่อง โซ ลิน ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกล่าวถึงท่าทีแตกต่างของสมเด็จพระสันตะปาปาเกี่ยวกับวิกฤติ

“พระองค์ควรเป็นเซลส์แมนหรือโบรกเกอร์จากการใช้คำต่างกันเหล่านี้ ทั้งที่พระองค์เป็นผู้นำทางศาสนา” โซ โซ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกรายหนึ่ง ระบุ

โบสถ์คาทอลิกของพม่าได้ถวายคำแนะนำต่อสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสไม่ให้ยุ่งเกี่ยวในประเด็นสถานะของโรฮิงญาในพม่า ไม่เช่นนั้นพระองค์อาจทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นและชาวคริสต์ในพม่าจะตกอยู่ในอันตราย

“สมเด็จพระสันตะปาปาเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ แต่พระองค์ตรัสบางอย่างที่นี่ (พม่า) แล้วพระองค์ก็ตรัสสิ่งที่แตกต่างไปในอีกประเทศหนึ่ง พระองค์ควรตรัสแบบเดียวกันหากพระองค์รักความจริง” เย ลิน หม่อง แสดงความเห็น

นอกจากความเห็นที่แสดงถึงความไม่พอใจแล้ว ยังมีบางส่วนที่แสดงความชื่นชมต่อการเลือกใช้ภาษาของพระองค์ เช่น หม่อง เว ชุน ประธานพรรคผู้รักชาติ 135 (พรรคการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ) ชื่นชมการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระสันตะปาปาในการไม่ตรัสชื่อโรฮิงญาในพม่า แม้ทรงได้รับแรงกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน

“มันหมายความว่าพระองค์เคารพประชาชนพม่า พระองค์ไม่ได้ตรัสคำนั้นบ่อยครั้งในบังกลาเทศ ผมคิดว่าพระองค์ตรัสเพียงครั้งเดียวเพียงเพื่อปลอบประโลมองค์กรสิทธิมนุษยชน” หม่อง เว ชุน กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น