xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.กองทัพพม่าแจงโรฮิงญากลับประเทศก็ได้ต่อเมื่อชาวพม่ายอมรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไม่สามารถกลับรัฐยะไข่ได้จนกว่า “พลเมืองพม่าที่แท้จริง” พร้อมที่จะยอมรับพวกเขา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่ากล่าววันนี้ (16) ความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับคำมั่นของรัฐบาลที่จะเริ่มกระบวนการส่งชนกลุ่มน้อยมุสลิมกลับประเทศ

ชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน กำลังอ่อนล้าอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศหลังหลบหนีการปราบปรามทางทหารของพม่าที่เริ่มขึ้นในปลายเดือน ส.ค.

สหประชาชาติ ระบุว่า ปฏิบัติการเผาทำลายล้างที่ทำให้หมู่บ้านหลายร้อยแห่งเหลือแต่เถ้าถ่านในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ เทียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติกลุ่มนี้

แต่ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และยืนยันว่า กองกำลังทหารมุ่งเป้าแต่เพียงผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา เช่นเดียวกับที่ระบุบนหน้าเพจเฟซบุ๊กตลอดช่วงที่เกิดวิกฤต ซึ่งแพร่กระจายความรู้สึกต่อต้านโรฮิงญาในหมู่ประชาชนชาวพม่า และตราชาวมุสลิมกลุ่มนี้ว่าเป็นผู้บุกรุกจากบังกลาเทศ แม้หลายคนจะอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่มาหลายรุ่นแล้วก็ตาม

ในวันนี้ (16) พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ยังส่งสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า การส่งตัวชาวโรฮิงญากลับเป็นหนทางที่ยาวไกล โดยระบุว่า การเดินทางกลับของพวกเขาอย่างแรกคือ ต้องได้รับการยอมรับจากชาวพุทธยะไข่ -- ที่หลายคนรังเกียจชนกลุ่มน้อยมุสลิม และถูกกล่าวหาว่าช่วยทหารเผาบ้านของชาวโรฮิงญา

“ต้องให้ความสำคัญต่อความต้องการของชาวยะไข่ในท้องถิ่นที่เป็นพลเมืองพม่าอย่างแท้จริง ทุกคนจะรู้สึกพอใจก็ต่อเมื่อชาวยะไข่ยอมรับเท่านั้น” คำแถลงบนเฟซบุ๊ก ระบุ

ผู้บัญชาการกองทัพพม่ายังกล่าวว่า พม่าจะไม่อนุญาตให้ชาวโรฮิงญาทั้งหมดที่อยู่ในบังกลาเทศกลับมา

“มันเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมรับคนทั้งหมดตามที่บังกลาเทศเสนอ” คำแถลง ระบุ พร้อมกำกับว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่หลบหนีไปพร้อมกับครอบครัว

ความเห็นของผู้บัญชาการกองทัพพม่ามีขึ้น 1 วัน หลังพบหารือกับเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เมื่อวันพุธ (15) ได้เรียกร้องให้กองทัพให้การสนับสนุนต่อความพยายามการส่งกลับผู้ลี้ภัยทั้งหมด และระบุว่า รายงานเกี่ยวกับการกระทำโหดร้ายทารุณอย่างกว้างขวางของทหารพม่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ

บังกลาเทศ และพม่าได้ตกลงในหลักการที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่ยังติดขัดในเรื่องรายละเอียด

ความตึงเครียดระหว่างชาวยะไข่ และชาวโรฮิงญาคุกรุ่นมานานหลายปี และปะทุขึ้นเป็นเหตุนองเลือดในปี 2555 ที่ผลักดันให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 100,000 คน ต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่น

ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมต้องทนทุกข์อยู่นานหลายปีจากการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลที่ปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง และจำกัดการเข้าถึงการทำงาน การดูแลสุขภาพ และการศึกษา.
กำลังโหลดความคิดเห็น