xs
xsm
sm
md
lg

พม่าออกคำสั่งห้ามชุมนุมทั่วย่างกุ้ง นักสิทธิร้องจำกัดเสรีภาพประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนเรียกร้องทางการพม่ายกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมประท้วงในนครย่างกุ้ง ท่ามกลางความวิตกว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นกำลังถูกปราบปรามภายใต้รัฐบาลของนางอองซานซูจี

ซูจี นำความพยายามในการยุติการปกครองของทหารที่ยาวนานหลายสิบปี และชนะการเลือกตั้งครั้งสำคัญในปี 2558 แต่รัฐบาลพลเรือนของซูจียังต้องแบ่งอำนาจแก่ทหาร และไม่สามารถควบคุมกองทัพ และตำรวจได้

ซูจี ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาติตะวันตกถึงความล้มเหลวที่จะควบคุมทหารจากข้อกล่าวหาถึงบทบาทของกองทัพในการปราบปรามอย่างทารุณโหดร้ายต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาที่สหประชาชาติ ระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

คำสั่งห้ามชุมนุมประท้วงที่ออกในเดือนนี้โดยกระทรวงที่อยู่ในความควบคุมของทหาร จำกัดการยื่นคำร้องในการเดินขบวน หรือการชุมนุมในนครย่างกุ้ง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความรำคาญ และความวิตกกังวลของประชาชน และการรบกวนการจราจร ตามเอกสารอย่างเป็นทางการที่รอยเตอร์ได้รับทราบ

การควบคุมดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่พระสันตะปาปาฟรานซิส จะเดินทางเยือนนครย่างกุ้ง และคาดว่า พระสันตะปาปาจะยกประเด็นเรื่องโรฮิงญาขึ้นหารือ หลังชนกลุ่มน้อยมุสลิมจำนวนหลายแสนคนได้หลบหนีออกจากประเทศหลังทหารพม่าดำเนินการปราบปรามตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาในปลายเดือน ส.ค.

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวย้ำถึงความวิตกเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นในพม่า หลังมีการจับกุมนักข่าว และนักเคลื่อนไหวหลายครั้ง

“ไม่มีเหตุผลสำหรับการออกคำสั่งห้ามการชุมนุมในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของพม่า” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ภูมิภาคเอเชีย กล่าว

“คำสั่งนี้ออกโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และรัฐบาลควรมองสิ่งนี้ว่าเป็นการท้าทายโดยตรงต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวพม่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าว ส่งเสริมหลักนิติธรรม และปฏิเสธที่จะยินยอมต่อการกระทำโดยพลการของทหาร” อดัมส์ กล่าว

คำสั่งที่ออกโดย พ.อ.อ่อง โซ โม รัฐมนตรีกิจการชายแดนและความมั่นคงเขตย่างกุ้ง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ใน 11 เขตของนครย่างกุ้ง ปฏิเสธทุกคำขอในการจัดการชุมนุม โดยไม่ระบุระยะเวลาในการบังคับใช้คำสั่งนี้

เจ้าหน้าที่อาวุโสจากฝ่ายบริหารงานทั่วไปของเขตอาลอน ในนครย่างกุ้ง ยืนยันว่า สำนักงานของเขาได้รับคำสั่งดังกล่าว ขณะเดียวกัน นักข่าวของรอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อรองหัวหน้าตำรวจนครย่างกุ้งได้ ส่วนสำนักงานของมุขมนตรีนครย่างกุ้งก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลพม่าได้ตัดสินโทษจำคุกนักข่าว 2 ราย เป็นเวลา 2 เดือน พร้อมกับล่ามและคนขับรถ จากการละเมิดกฎหมายด้วยการบังคับโดรนถ่ายภาพเหนืออาคารรัฐสภา และเมื่อวันอาทิตย์ (12) ตำรวจยังได้จับกุมตัวพระสงฆ์หัวรุนแรงอีกรูปหนึ่ง

นับตั้งแต่รัฐบาลของนางอองซานซูจีเข้าบริหารประเทศเมื่อปีก่อน มีประชาชนถูกตั้งข้อหา หรือถูกจับกุมตัวภายใต้กฎหมายโทรคมนาคมแล้วทั้งหมด 93 คน รวมทั้งนักข่าว และนักเคลื่อนไหว.
กำลังโหลดความคิดเห็น