xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลพม่าออกเก็บเกี่ยวข้าวจากผืนนาทิ้งร้างในรัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายมุมสูงเผยให้เห็นหมู่บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเผาทำลายและนาข้าวที่ทิ้งร้างในเขตเมืองหม่องดอ ของรัฐยะไข่ ซึ่งชาวโรฮิงญากว่าครึ่งล้านชีวิตได้หลบหนีเหตุความรุนแรงเข้าไปลี้ภัยอยู่ในฝั่งบังกลาเทศ. -- Agence France-Presse/Stringer.

เอเอฟพี - รัฐบาลพม่า เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวจากผืนนาที่ถูกทิ้งร้างในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ วานนี้ (28) ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ ความเคลื่อนไหวที่เพิ่มความวิตกเกี่ยวกับโอกาสในการกลับคืนสู่ถิ่นเดิมของผู้ลี้ภัยกว่าครึ่งล้านชีวิตที่หลบหนีความรุนแรงในพื้นที่ไปบังกลาเทศ

พื้นที่บริเวณชายแดนของพม่ากลายเป็นพื้นที่ร้างผู้คน โดยเฉพาะชาวมุสลิมโรฮิงญา ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. เมื่อทหารพม่าเริ่มดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา ที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

หมู่บ้านหลายร้อยแห่งถูกเผาราบ และชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน หลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศเพื่อลี้ภัย

ภายใต้แรงกดดันจากทั่วโลก พม่าตกลงที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศโดยต้องผ่านการตรวจสอบ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่

แต่รายละเอียดของแผนการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับนั้นยังไม่ชัดเจน และยิ่งสร้างความวิตกเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับ ว่า คนเหล่านั้นจะกลับไปที่ใด และใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในพื้นที่ที่ความรู้สึกเกลียดชังต่อต้านโรฮิงญาขยายตัวสูง

ในวันเสาร์ (28) รัฐบาลเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวในทุ่งนากว่าเกือบ 180,000 ไร่ ในพื้นที่เมืองหม่องดอ พื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา และได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตามการรายงานของสื่อทางการ และเจ้าหน้าที่

เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านการเกษตรของเมืองหม่องดอ ระบุว่า ทางการได้เข้าเก็บเกี่ยวข้าวในวันเสาร์ ทุ่งนาบางส่วนที่เข้าเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นเป็นของเบงกาลีที่หลบหนีไปบังกลาเทศ แต่ยังไม่ทราบว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับข้าวเหล่านั้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชนตำหนิการเก็บเกี่ยวพืชผลของรัฐบาล ว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างเป็นระบบที่จะกำจัดชาวโรฮิงญาออกไปจากรัฐยะไข่

ฟิล โรเบิร์ตสัน จากฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐให้ความสนใจกับนาข้าวที่ถูกทิ้งร้างเหล่านี้มากกว่าชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้ปลูก

ส่วนองค์กรโฟร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวเป็นความเคลื่อนไหวที่อุกอาจของเจ้าหน้าที่ที่มีประวัติยาวนานเกี่ยวกับการยึดที่ดิน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์.
กำลังโหลดความคิดเห็น