xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยงานสหประชาชาติปัดข่าวตกลงพม่าสร้างที่อยู่สำหรับผู้ลี้ภัยในรัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-HABITAT) ในพม่า ปฏิเสธรายงานของสื่อทางการที่ระบุว่า หน่วยงานได้ตกลงที่จะช่วยเหลือสร้างที่พักอาศัยให้แก่ผู้ที่หลบหนีความรุนแรงในรัฐยะไข่ พื้นที่ที่ปฏิบัติการทางทหารทำให้ประชาชนหลายแสนคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย้ำให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างพม่า และสหประชาชาติ ที่ในเดือน เม.ย. ได้วิพากษ์วิจารณ์แผนก่อนหน้านี้ของรัฐบาลพม่าที่ระบุว่า จะตั้งถิ่นฐานให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาพลัดถิ่นอันเนื่องจากความรุนแรงปีก่อนในหมู่บ้านที่มีลักษณะเหมือนค่ายพัก

ประชาชนมากกว่า 600,000 คน ข้ามเขตแดนเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. หลังผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาก่อเหตุโจมตี จนทำให้ทหารต้องดำเนินการปราบปรามตอบโต้ ซึ่งสหประชาชาติระบุว่า การสังหาร วางเพลิง และการข่มขืน ที่ดำเนินการโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง และกลุ่มชาวพุทธยะไข่เปรียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา

หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงานว่า UN-HABITAT ตกลงที่จะจัดหาความช่วยเหลือทางเทคนิคในการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้พลัดถิ่นในรัฐยะไข่ และหน่วยงานจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการโครงการที่เอื้อต่อวัฒนธรรมสังคม และระบบบริหารของพม่า

แต่โฆษกของสำนักงานประสานงานองค์การสหประชาชาติในพม่ากล่าวต่อรอยเตอร์ทางอีเมลว่า “ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้” หลังผู้แทนของหน่วยงานเข้าร่วมการประชุมกับเจ้าหน้าที่พม่าในสัปดาห์นี้ที่กรุงเนปีดอ

“ภารกิจของ UN-HABITAT เน้นย้ำว่า การตั้งถิ่นฐานใหม่ควรดำเนินการสอดคล้องต่อหลักการของการอยู่อาศัย และการฟื้นฟูทรัพย์สินสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่สนับสนุนการกลับสู่แหล่งกำเนิดของตนอย่างปลอดภัย” โฆษกสำนักงานประสานงานองค์การสหประชาชาติในพม่า กล่าว

นางอองซานซูจี ผู้นำพม่าได้ให้คำมั่นว่า ผู้ที่ลี้ภัยอยู่ในบังกลาเทศที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นชาวพม่าสามารถเดินทางกลับประเทศได้ แต่ยังคงไม่ชัดเจนว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะได้รับอนุญาตให้กลับไปยังบ้านของตนหรือไม่

ชาวโรฮิงญาที่กลับไปพม่าอาจมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินของตนเอง และอาจพบว่าพืชผลที่เพาะปลูกไว้ถูกเก็บเกี่ยว และขายโดยรัฐบาล ตามการระบุของเจ้าหน้าที่พม่า และแผนการที่รอยเตอร์ได้รับทราบ

แต่อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงสวัสดิการสังคมที่เข้าร่วมการประชุมกับ UN-HABITAT ยังคงยืนยันว่า หน่วยงานของสหประชาชาติตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือ และทั้งสองฝ่ายจะพบหารือกันอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ย.

“เราได้บรรลุข้อตกลงกับสหประชาชาติสำหรับความช่วยเหลือทางเทคนิค เราจะหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมถึงวิธีการดำเนินการ” โซ อ่อง ปลัดกระทรวงสวัสดิการสังคมของพม่า กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น