xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าเริ่มสอบภายในถึงข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิโรฮิงญาระหว่างปราบผู้ก่อการร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - ทหารพม่าเริ่มการสอบสวนภายในการดำเนินการของทหารระหว่างปราบปรามผู้ก่อการร้ายที่ส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่าครึ่งล้านคนอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ และหลายคนระบุว่า ได้เห็นการสังหาร การข่มขืน และการลอบวางเพลิงโดยทหาร

การโจมตีของผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาที่เกิดขึ้นต่อด่านตำรวจกว่า 30 จุด ในวันที่ 25 ส.ค. ก่อให้เกิดการตอบโต้ทางทหารอย่างรุนแรงในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ที่ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวมุสลิม และสหประชาชาติระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

คณะกรรมการภายใต้การนำของ พล.ท.เอ วิน ได้เริ่มการสอบสวนพฤติกรรมของนายทหาร ตามการระบุของสำนักงานผู้บัญชาการทหารที่ยังยืนยันว่า ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ

ตามคำแถลงที่โพสต์บนเพจเฟซบุ๊กของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย คณะกรรมการจะสอบถามนายทหารว่า ได้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของทหารหรือไม่ ดำเนินการตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดระหว่างปฏิบัติการหรือไม่ และหลังจากนั้น คณะกรรมการจะนำข้อมูลทั้งหมดออกเผยแพร่

พม่ากำลังปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศของคณะจากสหประชาชาติ ที่ได้รับหน้าที่ให้เข้าสืบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดต่างๆ หลังการตอบโต้ทางทหารเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งเดือน ต.ค.2559

แต่การสอบสวนภายในประเทศ รวมทั้งการสอบสวนภายในของทหารก่อนหน้านี้ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของผู้ลี้ภัยเป็นส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการละเมิดที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิบัติการกวาดล้างของกองกำลังรักษาความมั่นคง

ผู้ลี้ภัยหลายพันคนยังคงเดินทางข้ามแม่น้ำนาฟ ที่กั้นกลางระหว่างพม่า และบังกลาเทศในช่วงหลายวันที่ผ่านมา แม้ฝ่ายพม่ายืนยันว่า ปฏิบัติการทางทหารยุติไปตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.

หน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประเมินว่า มีประชาชนราว 536,000 คน เดินทางถึงเมืองคอกซ์บาซาร์ ทำให้ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มช่วยเหลือเริ่มขาดแคลนทรัพยากร

ในบังกลาเทศนั้นมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ก่อนแล้วราว 200,000 คน หลังหลบหนีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่าก่อนหน้านั้น ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง และยังเผชิญต่อข้อจำกัดความเคลื่อนไหว และการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ ในพม่า

แม้ นางอองซานซูจี ผู้นำพม่าจะได้ให้คำมั่นว่า จะรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกล่าวว่า พม่าจะรับผู้ลี้ภัยที่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นชาวพม่ากลับประเทศ

แต่ผู้บัญชาการกองทัพกลับแสดงจุดยืนแข็งกร้าว โดยกล่าวต่อเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำพม่าว่า การอพยพของชาวโรฮิงญาที่เขาระบุว่าเป็นชาวเบงกาลีนั้นเป็นการกล่าวเกินจริงไปมาก

และในความเห็นต่อเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่สื่อท้องถิ่นนำออกเผยแพร่ ระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ได้ปฏิเสธการกวาดล้างชาติพันธุ์ โดยอ้างเหตุผลจากภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่าชาวมุสลิมเดินทางออกไปอย่างสงบมากกว่าที่จะหลบหนีด้วยความหวาดกลัว.
กำลังโหลดความคิดเห็น