xs
xsm
sm
md
lg

ฮิวแมนไรท์วอทช์ร้องสหประชาชาติออกมาตรการคว่ำบาตรพม่าห้ามค้าอาวุธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตร และห้ามค้าอาวุธกับกองทัพพม่า เพื่อตอบโต้การปราบปรามรุนแรงของทหารที่ส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงญา 410,000 คน ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศเพื่อหนีจากสิ่งที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นการล้างชาติพันธุ์

ความรุนแรงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. เมื่อกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจ และค่ายทหาร และสังหารผู้คนไป 12 ราย

ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชน และชาวโรฮิงญาที่หลบหนี กล่าวว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงและชาวพุทธยะไข่ตอบโต้เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นด้วยสิ่งที่พวกเขาระบุว่า เป็นการปราบปรามอย่างรุนแรงและการลอบวางเพลิงที่มีเป้าหมายจะขับไล่ประชากรมุสลิมออกไปจากพื้นที่

ทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่า กองกำลังทหารกำลังดำเนินการปฏิบัติการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายจากกองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่ (ARSA) ที่อ้างความรับผิดชอบในเหตุโจมตีเดือน ส.ค. และการโจมตีในเดือน ต.ค.

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าไม่สนใจการประณามจากบรรดาผู้นำโลกเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง และการอพยพของผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมาก และถึงเวลาที่ต้องกำหนดมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้น ที่ทหารพม่าไม่สามารถละเลยได้

“คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และประเทศที่เกี่ยวข้องควรกำหนดมาตรการคว่ำบาตรและการห้ามค้าอาวุธกับทหารพม่าเพื่อยุติการล้างชาติพันธุ์” ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ

ชาวโรฮิงญาราว 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ จนกระทั่งเกิดเหตุความรุนแรงครั้งล่าสุด ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เผชิญต่อข้อจำกัดการเดินทาง และถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองของประเทศ ที่ชาวพุทธส่วนใหญ่มองว่า คนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

นางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพม่าเผชิญต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากชาติต่างๆ จากการเพิกเฉยที่จะยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขณะที่ทหารยังคงกุมนโยบายด้านความมั่นคง และไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจชาวโรฮิงญาในประเทศ อย่างไรก็ตาม ซูจี มีกำหนดที่จะกล่าวแถลงถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันอังคารนี้

ด้านสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองพลเรือน และนายแพทริก เมอร์ฟี รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนพม่าในสัปดาห์นี้ และมีกำหนดเดินทางไปยังเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ เพื่อพบหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐ และตัวแทนชุมชนต่างๆ รวมทั้งชาวโรฮิงญา แต่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้งทางตอนเหนือของรัฐได้

ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ กำหนดห้ามการเดินทางและระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทารุณร้ายแรงต่างๆ ขยายขอบเขตการห้ามค้าอาวุธที่มีอยู่เดิม รวมทั้งการจำหน่าย ความช่วยเหลือ และความร่วมมือทางทหารทั้งหมด และกำหนดห้ามการทำธุรกรรมทางการเงินกับบริษัทที่ทหารเป็นเจ้าของ

หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯและชาติตะวันตกต่างๆ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับพม่าด้วยมุ่งหวังที่จะยุติการปกครองของทหารและสนับสนุนการรณรงค์ประชาธิปไตยของอองซานซูจี แต่การตอบสนองของพม่าคือการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดขึ้นกับจีน เพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทางเหนือของประเทศ

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และพม่า จะพัฒนาขึ้นนับตั้งแต่ทหารถอยก้าวลงจากการปกครองประเทศในปี 2554 และปูทางไปสู่การเลือกตั้งปี 2558 ที่พรรคของนางอองซานซูจีชนะอย่างถล่มทลาย แต่เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้การสานสัมพันธ์ยากยิ่งขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น