xs
xsm
sm
md
lg

สหประชาชาติเปรียบสถานการณ์ในพม่าเหมือนตัวอย่างตำราล้างเผ่าพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ. -- Reuters/Denis Balibouse.</font></b>

เอเอฟพี - ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกมากล่าวถึงการโจมตีอย่างเป็นระบบของพม่าต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา และเตือนว่า ดูเหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กำลังเกิดขึ้นในประเทศ

“เพราะพม่าปฏิเสธการเข้าถึงของผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชน ทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันไม่สามารถประเมินได้อย่างสมบูรณ์ แต่สถานการณ์ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างตำราการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน กล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

สหประชาชาติ ระบุว่า ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา 294,000 คน ได้เดินทางถึงบังกลาเทศตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายต่อกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าในรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ทำให้ทหารดำเนินการตอบโต้อย่างรุนแรง

และคาดว่ายังมีผู้คนอีกหลายหมื่นชีวิตกำลังเดินทางอยู่ในรัฐยะไข่ หลังไร้ที่พัก น้ำ และอาหารมากว่า 2 สัปดาห์

“ปฏิบัติการ...เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างชัดเจน และไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เราได้รับรายงาน และภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่ากองกำลังรักษาความมั่นคง และกลุ่มกองกำลังชาวบ้านเผาหมู่บ้านโรฮิงญา และมีรายงานที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการก่อเหตุสังหารอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งการยิงพลเรือนที่กำลังหลบหนี” เซอิด กล่าว

รัฐบาลของนางอองซานซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการปฏิบัติของทหารต่อชาวโรฮิงญา

“ผมเรียกร้องให้รัฐบาลยุติปฏิบัติการทางทหารที่โหดร้าย โดยมีความรับผิดชอบต่อการละเมิดทั้งหมดที่เกิดขึ้น และยุติการเลือกปฏิบัติที่แพร่หลาย และรุนแรงต่อประชากรโรฮิงญา” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว

เซอิด ระบุว่า เขารู้สึกตกใจจากรายงานว่าเจ้าหน้าที่พม่าได้เริ่มวางกับระเบิดตามแนวชายแดนติดบังกลาเทศเพื่อป้องกันผู้ที่หลบหนีไปเดินทางกลับเข้ามาในประเทศอีก และยังวิพากษ์วิจารณ์คำแถลงอย่างเป็นทางการของพม่าที่ระบุว่า บรรดาผู้ลี้ภัยที่ได้หลบหนีความรุนแรงจะได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศได้เฉพาะผู้ที่สามารถให้หลักฐานการเป็นพลเมือง

“มาตรการนี้คล้ายกับวิธีการที่จะบีบบังคับโยกย้ายผู้คนจำนวนมากโดยไม่มีความเป็นไปได้ที่จะได้หวนกลับ” เซอิด กล่าว

เซอิด ยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการแสร้งว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้วางเพลิงเผาบ้านตัวเอง และทำลายหมู่บ้านของตัวเอง และเรียกร้องให้ทางการพม่าอนุญาตให้หน่วยงานของเขาถึงพื้นที่เพื่อสอบสวนสถานการณ์ในประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น