xs
xsm
sm
md
lg

พม่าพานักข่าวลงพื้นที่ชี้หมู่บ้านถูกเผาจนสิ้นซากเป็นฝีมือโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



เอพี - เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของพม่า ได้พานักข่าวเดินทางไปยังหมู่บ้านโรฮิงญาที่ยังมีควันไฟปรากฏให้เห็น ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า สมาชิกของชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาวางเพลิงเผาบ้าน และยานพาหนะของตัวเอง

เหลือเพียงวัว ควาย และสุนัขที่เดินไปมาในหมู่บ้านอาห์เลตันกอ ในรัฐยะไข่ ที่รกร้าง และกลายเป็นเถ้าถ่าน เมื่อนักข่าว 24 คน เดินทางไปถึง พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาชายแดน 12 นาย

ชาวโรฮิงญาราว 146,000 คน ได้หลบหนีความรุนแรงไปบังกลาเทศในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ หลังผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจในหมู่บ้านแห่งนี้ และอีกหลายแห่งเมื่อวันที่ 25 ส.ค.

ทหารระบุว่า มีผู้เสียชีวิตในการปะทะเกือบ 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อการร้าย และทางการพม่าได้กล่าวโทษกลุ่มก่อการร้ายสำหรับหมู่บ้านที่ถูกวางเพลิง แต่ชาวโรฮิงญากล่าวว่า พวกเขาถูกบีบให้ต้องหนีเนื่องจากทหาร และม็อบชาวพุทธเข้าทำร้ายพวกเขา

เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น กล่าวว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีผู้เสียชีวิต 18 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง 1 คน และผู้ก่อการร้าย 17 คน สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในหมู่บ้านที่นักข่าวได้เห็นถูกเผาทำลาย รวมทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานที่ชาวบ้านซึ่งหลบหนีไปทิ้งเอาไว้

กลุ่มควันยังคงปรากฏให้เห็นหลายจุดจากระยะไกล รวมทั้งเสียงปืน

“พวกเขาเผาบ้านของตัวเองแล้วหนีไป เราไม่เห็นคนเผาเพราะเราต้องดูแลความปลอดภัยที่ด่านของเรา แต่ตอนที่บ้านถูกเผา มีแต่เบงกาลีพวกเดียวที่อยู่ในหมู่บ้าน” อ่อง กอ โม เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ กล่าว

พม่าเรียกชาวโรฮิงญาว่า เบงกาลี ด้วยมองว่า ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

การไหลบ่าของชาวโรฮิงญาทำให้ค่ายผู้ลี้ภัยที่มีอยู่เดิมนั้นไม่เพียงพอที่จะรองรับ ทางการบังกลาเทศ ระบุว่าจะสร้างค่ายผู้ลี้ภัยเพิ่มอย่างน้อยอีก 1 แห่ง ส่วนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ จำนวน 18 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือด้านอาหาร และที่พักสำหรับผู้ลี้ภัยหลายหมื่นชีวิตที่แออัดอยู่ในเพิงพักที่สร้างขึ้นชั่วคราว หรือติดค้างอยู่บริเวณรอยต่อชายแดนระหว่างสองประเทศ

หน่วยงานของสหประชาชาติ ระบุว่า พวกเขากำลังแจกจ่ายอาหารให้แก่ผู้อพยพมาใหม่ ที่ราว 80% ของผู้ลี้ภัยเป็นผู้หญิง และเด็ก ขณะที่หัวหน้าภารกิจขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ในบังกลาเทศ ระบุว่า ผู้คนจำนวนมากเดินทางมาพร้อมกับความอดอยาก และได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง และหลายคนจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน.
.

.

.
กำลังโหลดความคิดเห็น