xs
xsm
sm
md
lg

รัฐยะไข่ยังสู้รบไม่หยุดทำโรฮิงญาทะลักเข้าบังกลาเทศต่อเนื่อง อีกหลายพันติดค้างช่วงรอยต่อพรมแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนบังกลาเทศออกคำสั่งให้โรฮิงญากลับไปฝั่งพม่า ซึ่งอยู่อีกฝั่งของลำคลองที่กั้นกลางระหว่างสองประเทศ. -- Agence France-Presse/Emrul Kamal.</font></b>

รอยเตอร์ - ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 9,000 คน ที่หลายคนล้มป่วย และหวาดกลัวอันตรายต่อชีวิต ได้หลบหนีความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 5 ปี ที่เกาะกุมพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ขณะที่ผู้คนอีกหลายพันชีวิตติดค้างอยู่ตามแนวพรมแดนบังกลาเทศ และกำลังจะเดินทางมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้

การโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญาต่อกองกำลังรักษาความมั่นคงในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ เมื่อวันศุกร์ (25) ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต่างเร่งอพยพหลบหนี ขณะที่รัฐบาลพม่าอพยพชาวพุทธยะไข่ออกจากพื้นที่ขัดแย้งอีกหลายพันคน

สหประชาชาติที่ได้กล่าวประณามเหตุโจมตีครั้งนี้ ได้กดดันรัฐบาลพม่าให้คุ้มครองพลเรือนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และขอร้องให้ทางบังกลาเทศปล่อยให้ผู้คนที่หลบหนีการปราบปรามทางทหารผ่านข้ามแดน

“สถานการณ์เวลานี้น่ากลัวมาก บ้านเรือนถูกเผา ทุกคนต่างวิ่งหนีออกจากบ้านตัวเอง ครอบครัวกระจัดกระจาย บางคนหายตัวไป บางคนก็เสียชีวิต” อับดุลลาห์ ชาวโรฮิงญาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองบุติด่อง กล่าวต่อรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ และเตรียมที่จะหลบหนีเช่นกัน

ด้านองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีชาวมุสลิมโรฮิงญาข้ามเข้าไปในเขตแดนของบังกลาเทศแล้วราว 18,000 คน

IOM ระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์จำนวนผู้คนที่ติดค้างอยู่บริเวณรอยต่อพรมแดนระหว่างบังกลาเทศและพม่า

รัฐบาลพม่า ระบุว่า ในการปะทะกับกลุ่มก่อการร้ายทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 109 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อการร้าย

การปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 1.1 ล้านคน ในพม่า กลายเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับนางอองซานซูจี ที่ถูกชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ปกป้องชนกลุ่มน้อย ชาวโรฮิงญายังถูกปฏิเสธการเป็นพลเมืองในพม่า และถูกมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฏหมายจากบังกลาเทศ แม้หลายคนอ้างว่า บรรพบุรุษอยู่ในพม่ามานานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม

อับดุลลาห์ ชาวโรฮิงญาที่ยังอยู่ในพม่ากล่าวว่า ชุมชนขนาดเล็ก 4 ใน 6 ในหมู่บ้านของเขาถูกเผาราบโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง ทำให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดต้องหนีไปบังกลาเทศ

ชาวบ้านที่ตกอยู่ในความหวาดกลัวหลายพันคนรวมตัวกันที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขามายู และเตรียมที่จะเดินผ่านภูเขาไปยังชายแดน

“ผมกำลังรอญาติๆ เพื่อเดินทางออกไปพร้อมกันกับครอบครัวผมให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้” อับดุลลาห์ กล่าว

เวลานี้บังกลาเทศมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่มากกว่า 400,000 คน ที่หลบหนีมาจากพม่าตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990

กรุงธากา ได้ร้องขอให้สหประชาชาติกดดันพม่าเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิม และยืนยันว่า บังกลาเทศไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยได้มากไปกว่านี้

สหประชาชาติ ระบุว่า ตั้งแต่วันศุกร์ (25) เป็นต้นมา มีชาวโรฮิงญามากกว่า 8,700 คน ได้ลงทะเบียนในบังกลาเทศ และยังมีชาวโรฮิงญาอีกราว 4,000 คน ติดค้างอยู่ในพื้นที่ที่ไร้ผู้ครอบครองระหว่างสองประเทศใกล้หมู่บ้านตองโบร ซึ่งคนเหล่านั้นได้สร้างเพิงพักชั่วคราวขึ้นบนผืนดินแคบๆ ระหว่างแม่น้ำนาฟ และรั้วชายแดนพม่า

ชาวโรฮิงญาหลายคนที่พยายามจะเข้าไปในบังกลาเทศมีอาการเจ็บป่วย และเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 คน หลังจากข้ามฝั่ง ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ แต่เพราะความกลัวว่าจะถูกจับตัว และส่งกลับพม่าทำให้หลายคนปฏิเสธที่จะขอความช่วยเหลือ

ดร.ชาฮีน อับดูร์ เราะห์มาน แพทย์ของโรงพยาบาลคอกซ์บาซาร์ ในบังกลาเทศ ระบุว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 15 คน ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ทั้งหมดมีบาดแผลจากการถูกยิง และมี 4 คน ที่มีอาการสาหัส ซึ่งถูกส่งไปยังเมืองจิตตะกอง นอกจากนั้น ยังมีอาการบาดเจ็บอื่นๆ เช่น กระดูกแตกร้าว ที่อาจมีสาเหตุมาจากการถูกทุบตี หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างหลบหนี

“เราไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนที่มาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบังกลาเทศ หรือไม่ใช่บังกลาเทศก็ตาม เราให้การดูแลต่อพวกเขา เราทราบเรื่องเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น เราพร้อมรับมือต่อเรื่องนี้” ดร.ชาฮีน อับดูร์ เราะห์มาน กล่าว

เจ้าหน้าที่พม่า ระบุว่า พม่าถูกโจมตี และมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการป้องกันตนเอง และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่า พลเรือนผู้บริสุทธิ์ไม่ได้รับอันตราย

การต่อสู้ และการระเบิดยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลพม่ากล่าวโทษผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาสำหรับบ้านเรือนที่ถูกเผาทำลาย และระบุว่า ผู้ก่อการร้ายกลับเข้าไปในเขตภูเขาหลังเข้าโจมตี.
.
<br><FONT color=#000033>ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาต้องหอบข้าวของกลับฝั่งพม่าหลังเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนบังกลาเทศขวางไม่ให้พวกเขาข้ามพรมแดนเข้าไป. -- Agence France-Presse/Rehman Asad.</font></b>
.
<br><FONT color=#000033>ชาวพุทธยะไข่ต่อแถวขึ้นเรือเพื่อหลบหนีออกจากเมืองหม่องดอ ไปยังเมืองสิตตะเว. -- Associated Press/Thein Zaw.</font></b>
.
<br><FONT color=#000033>ทหารพม่าเดินทางถึงท่าเรือเมืองบุติด่อง เข้าเสริมกำลังในพื้นที่หลังกองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่ (ARSA) โจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าตั้งแต่วันศุกร์ (25). -- Reuters/Soe Zeya Tun.</font></b>
.
กำลังโหลดความคิดเห็น