xs
xsm
sm
md
lg

พม่าก็เป็น.. ผู้ว่าฯ ย่างกุ้งพรรคซูจีโดนจวกไม่โปร่งใส โครงการซื้อ 2,000 คันรถเมล์จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>รถโดยสารสีเหลืองสดจากจีนชุดแรกตามข้อตกลงจัดซื้อระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลส่งถึงนครย่างกุ้งเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ในความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการจะยกเครื่องระบบขนส่งของเมืองที่ล้าสมัย. -- ภาพ : ElevenMyanmar/Kyi Naing.</font></b>

รอยเตอร์ - โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โครงการแรกของอองซานซูจี ที่ยากจะหลุดรอดไปจากสายตา คือ รถโดยสารสีเหลืองใหม่เอี่ยมหลายร้อยคันที่เวลานี้วิ่งให้บริการอยู่ตามท้องถนนในนครย่างกุ้ง เป็นหนึ่งสิ่งที่พรรครัฐบาลของซูจี หวังว่าจะเป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงชีวิตของประชาชน

แต่ข้อตกลง 2 ฉบับ ในการนำเข้ารถโดยสารจากจีน จำนวน 2,000 คัน ที่คาดว่ามีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ได้ก่อให้เกิดรอยร้าวที่ไม่ปกติภายในพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ด้วยสมาชิกสภาระดับภูมิภาคตั้งคำถามถึงค่าใช้จ่าย และกล่าวหามุขมนตรีนครย่างกุ้ง เพียว มิน เต็ง เกี่ยวกับระบบพวกพ้อง และการขาดความรับผิดชอบ

“คณะบริหารของเพียว มิน เต็ง ขาดความโปร่งใส ภาพลักษณ์ของรัฐบาลจะเสียหายหากเขาไม่เปลี่ยนแปลง” กอ เซ ยา สมาชิกสภาจากพรรค NLD นครย่างกุ้ง กล่าว

ข้อตกลงกับบริษัทจีน และนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับอดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร ได้บ่อนทำลายความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก นักการทูตกล่าว

แม้ยังไม่มีหลักฐานว่ามีการละเมิดกฎหมายในการทำข้อตกลง แต่โรแลนด์ โคเบีย ทูตสหภาพยุโรปประจำพม่า ร้องเรียนในจดหมายส่วนตัวถึงรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อ

“ปัจจุบันเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงถูกครอบครองโดยกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีแนวทางปฏิบัติมายาวนานป้องกันไม่ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม” โคเบีย ระบุในจดหมายลงวันที่เดือน มิ.ย. แต่ไม่ได้อ้างเจาะจงถึงข้อตกลงรถโดยสาร

แม้ว่ารถโดยสารจีนจะมีราคาถูกกว่าราคาคู่แข่งประเทศอื่นราวครึ่งหนึ่ง แต่วิศวกรที่ตรวจสอบรถโดยสารสำหรับพม่าคาดการณ์ว่า รถเหล่านี้จะชำรุด และจำเป็นต้องเปลี่ยนเร็วกว่ามาตรฐานสากล

เพียว มิน เต็ง ปฏิเสธคำขอสัมภาษณ์จากรอยเตอร์ ก่อนหน้านี้ทั้งเขาและรัฐมนตรีคนอื่นๆ ได้กล่าวป้องข้อตกลง โดยระบุว่า เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งจีนเสนอราคาส่วนลดและการจัดส่งด่วน

โคเบีย ทูตสหภาพยุโรปกล่าวในคำแถลงที่เป็นการตอบคำถามของรอยเตอร์ว่า “กิจการในยุโรปหลายรายพร้อมที่จะทำงานพม่า แต่จำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้โอกาสอย่างเป็นธรรมแก่พวกเขาเพื่อร่วมแข่งขันสำหรับข้อตกลง“

ด้านโฆษกกระทรวงพาณิชย์พม่าได้ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

เมื่อซูจี เข้าสู่อำนาจจากการเลือกตั้งที่ได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายในปี 2558 นักวิเคราะห์คาดการณ์บริษัทตะวันตกที่สนับสนุนรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2554 จะได้ตบเท้าเข้าลงทุนในประเทศ

แต่ข้อตกลงรถโดยสารย่างกุ้งชี้ให้เห็นว่า ผู้สนับสนุนของซูจีในตะวันตกต้องพบกับความไม่คาดฝันเมื่อพม่าต้องการทำธุรกิจกับจีนมากขึ้น

เพียว มิน เต็ง มุขมนตรีนครย่างกุ้ง อายุ 48 ปี ที่ใช้เวลาราว 15 ปี ถูกขังอยู่ในเรือนจำจากการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร มักกล่าวกับคนอื่นๆ ว่าเขาไม่ต้องการที่จะเสียเวลา

ความพยายามของเพียว มิน เต็ง ที่จะยกเครื่องระบบขนส่งสาธารณะล้าสมัยของนครย่างกุ้ง ถูกยื่นเสนอต่อพรรคของซูจี หนึ่งในโอกาสแรกของเขาที่จะปรับปรุงชีวิตของผู้คนมากกว่า 2 ล้านคนของเมืองที่ลงคะแนนให้แก่พรรค NLD ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

เมื่อปีก่อน เจ้าหน้าที่นครย่างกุ้งได้ปฏิเสธข้อเสนอที่จะปรับปรุงเครือข่ายการขนส่งจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ที่เป็นหน่วยงานด้านการลงทุนของธนาคารโลก เนื่องจากความแตกต่างในรายละเอียดของแผนที่ต้องการการตรวจสอบการจราจร และการประมูลแบบเปิด

การเจรจาเบื้องต้นกับผู้จัดหาจากเนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศสยังไม่มีความคืบหน้า เพราะพวกเขาไม่สามารถจัดส่งรถโดยสารจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วตามที่มุขมนตรีนครย่างกุ้งเรียกร้อง นักการทูต และผู้เจรจาที่เกี่ยวข้องต่อข้อตกลงกล่าว ซึ่งเป็นผลให้บริษัทรถโดยสารสาธารณะย่างกุ้ง (YBPC) บริษัทร่วมทุนที่รัฐบาลย่างกุ้งเป็นเจ้าของ ได้จัดซื้อรถโดยสาร จำนวน 1,000 คัน จากบริษัทจีน 2 แห่ง ที่เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่าเป็นผู้เลือก

ส่วนรถโดยสารอีก จำนวน 1,000 คัน จัดซื้อจากบริษัทจีนรายที่ 3 ในข้อตกลงส่วนตัวโดยกอ เน วิน นักธุรกิจที่เป็นหลานชายของนายพลเน วิน อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยไม่มีการประกวดราคา หรืออธิปรายในสภาก่อนเห็นชอบข้อตกลง

“ใช่ ประชาชนสามารถพูดได้ว่าไม่มีความโปร่งใส แต่การประมูลไม่จำเป็นมากนัก เพราะข้อตกลงที่บรรลุไปนั้นเกิดขึ้นเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ” หม่อง อ่อง ประธาน YBPC กล่าว
.

.
<br><FONT color=#000033>รัฐบาลปฏิรูประบบขนส่งมวลชนในนครย่างกุ้ง โดยปรับลดเส้นทางให้บริการของรถโดยสารสายต่างๆ จากที่เคยมีมากถึง 300 สาย เหลือเพียง 61 สาย พร้อมกับตารางเวลาเดินรถ เพื่อลดปัญหาการจราจรแออัดและร่นระยะเวลาในการเดินทาง. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>
.
แม้อองซานซูจี จะเป็นขวัญใจของชาติตะวันตก แต่ก็ต้องมัวหมองจากข้อกล่าวหาว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงกระทำทารุณต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ขณะเดียวกัน จีนและพม่ากำลังพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์จากครั้งที่รัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดก่อนได้ระงับโครงการเขื่อนยักษ์ที่จีนให้การสนับสนุนเมื่อปี 2554

ในการเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือน ก.ย. ซูจี และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้หารือถึงวิธีที่พม่าจะสามารถได้ประโยชน์จากโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน “เส้นทางสายไหม” ตามการระบุของเจ้าหน้าที่อาวุโสในสำนักงานประธานาธิบดีพม่า

ซูจี กล่าวว่า มีความวิตกบางอย่างเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าจีน ส่งผลให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอให้ทูตจีนช่วยจัดหาผู้ผลิตที่ดีที่สุดให้ ตามการระบุของเจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัทจีนที่เกี่ยวข้องในข้อตกลง

มูลค่ารถโดยสารกำหนดไว้ที่ 56,000 ดอลลาร์ต่อคัน และข้อตกลงลงนามกันเมื่อวันที่ 11 เม.ย. และ 2 เดือนต่อมา บริษัทที่ได้รับเลือก คือ บริษัท Anhui Ankai Automobil ของรัฐบาล และบริษัท Zhengzhou Yutong Bus ของเอกชน ได้จัดส่งรถโดยสารสีเหลืองบริษัทละ 500 คัน

หม่อง อ่อง ประธาน YBPC กล่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นที่บริษัททั้งสองแห่งตั้งอยู่นั้นได้รับรองคุณภาพของรถโดยสาร

ขณะที่การปรับปรุงยานพาหนะที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศอายุ 40 ปี ที่ซึ่งผู้สัญจรในย่างกุ้งต้องทนทุกข์ต่อความร้อนอบอ้าวมายาวนาน โซ อ่อง วิศวกรที่ตรวจสอบรถโดยสารจีนสำหรับพม่าก่อนการจัดซื้อ ทราบว่า รถโดยสารนี้มีคุณภาพต่ำว่าทางเลือกจากยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่เขาประเมินว่าน่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงราว 2 เท่า

“โครงการนี้มีระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น” โซ อ่อง ระบุ และว่า รถเหล่านี้จะเสื่อมสภาพทุกวันที่ใช้งานในช่วงเวลาดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ระบุว่า หลังจากนั้นรถโดยสารจีนจะถูกแทนที่ด้วยรถไฟฟ้า แต่นักวิจารณ์บางคนมองว่าในความเป็นจริงแล้วพม่ายังมีปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน ที่ไม่คาดว่าจะแก้ปัญหาได้ในช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี

เมื่อสมาชิกสภาระดับภูมิภาคอนุมัติงบ 70,000 ล้านจ๊าต (51.5 ล้านดอลลาร์) สำหรับโครงการในเดือน ธ.ค. พวกเขาเพียงแค่ลงมติเพื่องบประมาณสำหรับโครงการขนส่งเท่านั้น แต่หลังจากลงนามข้อตกลงไปในเดือน เม.ย. สมาชิกสภาบางคนร้องเรียนว่า เมื่อตั้งคำถามถึงการเงิน แผนธุรกิจ และวิธีเลือกรถโดยสาร มักถูกหลบเลี่ยง หรือไม่ได้รับคำตอบ ส่วนรัฐมนตรีฝ่ายวางแผนและการเงินเขตย่างกุ้ง ก็ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดอื่นๆ ถึงวิธีจัดการเงินของข้อตกลง รวมถึงความเกี่ยวข้องของกอ เน วิน หลานของอดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร ก็สร้างความเคลือบแคลงให้แก่สมาชิกสภาบางคนโดยเฉพาะจากพรรค NLD.
กำลังโหลดความคิดเห็น