xs
xsm
sm
md
lg

กัมพูชาระงับส่งออกน้ำนมแม่จากหญิงท้องถิ่นไปสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 16 มี.ค. เผยให้เห็นสำนักงานของบริษัทแอมโบรเซีย แลบส์ ในย่านสตึงเมียนเจย ชานกรุงพนมเปญ ปิดทำการหลังทางการสั่งบริษัทระงับส่งออกน้ำนมของแม่ชาวเขมรไปสหรัฐฯ. -- Agence France-Presse/Tang Chhin Sothy.</font></b>

เอเอฟพี - กัมพูชาได้สั่งบริษัทสัญชาติอเมริกันระงับการส่งออกน้ำนมจากแม่ชาวเขมรชั่วคราว หลังมีรายงานระบุว่า หญิงชาวเขมรที่ยากจนบางส่วนมีรายได้เสริมจากการค้านมแม่

บริษัทแอมโบรเซีย แลบส์ ที่มีสำนักงานในรัฐยูทาห์ของสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นบริษัทรายแรกที่ทำการส่งออกน้ำนมแม่จากต่างชาติไปยังสหรัฐฯ เพื่อให้แก่บรรดาแม่ที่ต้องการเสริมอาหารให้แก่ลูกของตัวเอง หรือมีน้ำนมไม่เพียงพอ โดยนมแม่ที่รวบรวมได้ในกัมพูชาจะถูกแช่แข็ง และส่งไปที่สหรัฐฯ เพื่อเข้ากระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ และบริษัทจะจำหน่ายในราคา 20 ดอลลาร์ต่อแพก (147 มิลลิลิตร)

แต่ในวันจันทร์ (20) กรมศุลกากรกัมพูชายืนยันว่า บริษัทดังกล่าวถูกระงับการส่งออกน้ำนมแม่จริง

“เราได้ขอให้พวกเขาติดต่อกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจากอวัยวะมนุษย์ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข เสียก่อน” กุน แนม อธิบดีกรมศุลกากรและสรรพสามิต

กุน แนม ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะประชุมกันในเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ด้านผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีได้เดินทางไปที่สำนักงานของบริษัทแอมโบรเซีย แลบส์ ในเขตสตึงเมียนเจย ซึ่งเป็นย่านยากจนชานกรุงพนมเปญ สำนักงานที่ใช้ชื่อว่า คุน เมียดา ปิดทำการ และบรรดาผู้หญิงในย่านนั้นที่ขายน้ำนมให้แก่บริษัทระบุว่า พวกเธอได้รับแจ้งว่าบริษัทระงับการดำเนินการ แต่ไม่ทราบสาเหตุ

เจีย สม อายุ 30 ปี ระบุว่า ขายน้ำนมของตนเองให้แก่บริษัทมานาน 3 เดือน หลังให้กำเนิดลูกชาย โดยปั๊มนม 6 วันต่อสัปดาห์ และมีรายได้จากการขายน้ำนมประมาณ 30,000-40,000 เรียล (7.5-10 ดอลลาร์) ต่อวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำนม

“ฉันเป็นคนยากจน การขายน้ำนมช่วยฉันได้มาก พวกเราเสียใจมากที่บริษัทแจ้งระงับดำเนินการ เราต้องการให้บริษัททำธุรกิจต่อ” เจีย สม กล่าว และให้ข้อมูลว่า มีแม่ลูกอ่อนอย่างน้อย 20 คน ที่หารายได้จากการขายน้ำนมของตัวเอง

บริษัทแอมโบรเซีย แลบส์ ไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอแสดงความคิดเห็น แต่ในการให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวในกัมพูชาที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Vice.com เมื่อสัปดาห์ก่อน บรอนสัน วู้ดส์ ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กล่าวปกป้องธุรกิจนี้ว่า เขาได้ไอเดียขณะทำงานเป็นมิชชันนารีนิกายมอร์มอนในกัมพูชา และบริษัทของเขาสนับสนุนให้ผู้หญิงเขมรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมีรายได้ที่มั่นคง

กัมพูชายังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของเอเชีย ด้วยรายได้ต่อปีต่อคนเฉลี่ย 1,160 ดอลลาร์ (ประมาณ 40,000 บาท)
กำลังโหลดความคิดเห็น