xs
xsm
sm
md
lg

พม่าหวั่นโลมาอิรวดีสูญจากลำน้ำ ชาวบ้านช็อตปลาหนัก-มลพิษเหมืองแร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 พ.ย. เผยให้เห็นโลมาอิรวดีว่ายเป็นฝูงอยู่ในแม่น้ำอิรวดี ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ คนท้องถิ่นและนักอนุรักษ์วิตกว่าสัตว์สายพันธุ์นี้จะสูญหายไปจากลำน้ำของพม่าเนื่องจากการทำประมงแบบช็อตปลาและมลพิษที่มาจากต้นน้ำ. -- Agence France-Presse/Wildlife Conservation Society.</font></b>

เอเอฟพี - หม่อง เล ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำไม่ไกลจากเมืองมัณฑะเลย์ เผยว่า โลมาที่เขาเคยเห็นตั้งแต่ยังเด็กพบตายเกยตื้นริมฝั่งเมื่อไม่นานนี้ นับเป็นความสูญเสียครั้งล่าสุดอันเนื่องจากมลพิษ และการช็อตปลาที่อาจทำให้สัตว์สายพันธุ์นี้สูญหายไปจากพม่า

โลมาอิรวดี ถูกฆ่าตายเป็นในจำนวนมากจากฝีมือของกลุ่มคนที่ใช้แบตเตอรี่รถยนต์ช็อตสัตว์น้ำ ซึ่งการทำประมงที่ผิดกฎหมายนี้กำลังคุกคามให้โลมาหายไปจากพื้นที่

โลมา ของหม่องเล ที่ชื่อ ทา จี มา ถูกพบตายเกยตื้นริมฝั่งแม่น้ำในเดือน พ.ย. และเมื่อคนท้องถิ่นผ่าท้องโลมาออกดูถึงพบว่า โลมาตัวนี้กำลังตั้งท้อง

โลมาอิรวดี สามารถพบได้ตามแม่น้ำ ทะเลสาบ และทะเลทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอ่าวเบงกอล ในอินเดีย ไปจนถึงทางใต้ ของอินโดนีเซีย

หม่อง เล ใกล้ชิดกับโลมาเหล่านี้ เนื่องจากพวกมันช่วยคนท้องถิ่นจับปลากันมาหลายรุ่นจนกลายเป็นความผูกพัน ชาวประมงจะใช้ท่าทางพิเศษเรียกโลมา ทั้งการใช้เสียง ตีไม้พายกระทบผิวน้ำ และใช้มือตีกราบเรือ ส่วนฝ่ายโลมา เมื่อพวกมันพร้อม จะเริ่มสะบัดครีบ และว่ายไล่ฝูงปลามุ่งหน้าไปที่เรือของชาวประมงซึ่งวางอวนรอไว้

หม่อง เล กล่าวว่า เขาใช้เวลามากกว่า 30 ปี จับปลากับกลุ่มโลมา 7 ตัว ที่นำโดยโลมา ทา จี มา

“ผมเสียใจต่อการสูญเสียครั้งนี้เพราะเธอเป็นผู้นำกลุ่ม ตัวอื่นๆ ไม่มีทักษะเหมือนเธอ” หม่อง เล กล่าว

ลาว ประเทศเพื่อนบ้านของพม่า กองทุนสัตว์ป่าโลกได้ประกาศว่า โลมาอิรวดี อยู่ในภาวะสูญพันธุ์โดยปริยาย เมื่อเดือน ต.ค.2559 หลังพบโลมาเพียง 3 ตัว ระหว่างการสำรวจครั้งล่าสุด

ส่วนในพม่า เจ้าหน้าที่กล่าวว่า คาดว่ามีโลมาอิรวดีเหลืออยู่ราว 62 ตัว หลังพบโลมาตาย 3 ตัว เมื่อปีก่อน

“เราเสียโลมาไปมากที่สุดในปี 2559” จอว์ การ์ รองหัวหน้ากรมประมงเมืองมัณฑะเลย์ กล่าว
.

.

.
จอว์ การ์ กล่าวโทษว่า มีสาเหตุมาจากมลพิษจากการทำเหมืองทางต้นน้ำในรัฐกะฉิ่น ที่กระบวนการสกัดทองที่ใช้สารเคมีในปริมาณมากเติบโตอย่างมากนับตั้งแต่รัฐบาลทหารก้าวลงจากอำนาจในปี 2554 นอกจากนั้น ยังมีสารเคมีจากปุ๋ยทางการเกษตร ที่คาดว่าทำให้น้ำเป็นพิษ

แต่ชาวประมง กล่าวว่า สิ่งที่อันตรายที่สุดมาจากกลุ่มคนที่เข้ามากอบโกยสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ ซึ่งแต่เดิมทีนั้น ชาวประมงเหล่านี้ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กติดกับลวดพันรอบเสาไม้ไผ่เพื่อช็อตปลาภายในรัศมีใกล้ๆ ซึ่งเป็นวิธีการจับปลาที่มีราคาถูก และได้ผล

แต่เวลานี้คนท้องถิ่นกล่าวว่า พวกเขาเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่รถยนต์ที่มีไฟฟ้าแรงสูง และอวนจับปลา

“แม้แต่ควายตัวใหญ่ก็ไม่สามารถทนกระแสไฟแบบนี้ได้” ชาวประมงอายุ 26 ปี ที่อาศัยอยู่ในอีกหมู่บ้านหนึ่งตามริมฝั่งแม่น้ำ กล่าว

การช็อตปลารอบเมืองมัณฑะเลย์ มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และปรับเงิน 200,000 จ๊าต (150 ดอลลาร์) แต่นักอนุรักษ์กล่าวว่า ไม่มีอะไรจะหยุดแก๊งจับปลาเหล่านี้ได้ เพราะคนเหล่านี้จะทำร้ายทุกคนที่กล้าเสี่ยงเข้าไปในเขตของพวกเขา แม้แต่ชาวบ้านก็ปฏิเสธที่จะพาผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีไปยังสถานที่ที่ชาวประมงซึ่งใช้วิธีช็อตปลาอาศัยอยู่ด้วยกังวลถึงความปลอดภัย

สำหรับคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำอิรวดี การเสียโลมาไม่เพียงแค่ทำลายประเพณีดั้งเดิมจากอดีต แต่ยังคุกคามอนาคตของพวกเขาด้วย

แม้จำนวนปลาจะลดลง แต่ยังมีความหวังว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้แก่คนท้องถิ่น ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร และรัฐบาลกำลังหวังที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เยือนประเทศให้ได้มากถึง 7.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2562

ตัน ซิน ผู้จัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ตั้งโครงการชมโลมา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่เขาเชื่อว่าจะจูงใจให้คนท้องถิ่นปกป้องสัตว์ และแหล่งที่อยู่อาศัยของมัน

ตัน ซิน กำลังฝึกฝนชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ตามริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี ในการทำอาหาร การต้อนรับ และการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“สิ่งเหล่านี้เป็นธุรกิจที่สำคัญอย่างมากสำหรับชุมชน” ตัน ซิน กล่าว

แต่ชาวประมงวิตกว่าแก๊งช็อตปลาอาจได้ทำลายความผูกพันพิเศษที่มีอยู่ระหว่างคน และสัตว์ไปเสียแล้ว

“โลมาในแม่น้ำอิรวดีเคยปรากฏให้เห็นทุกที่ที่เราเรียกหาพวกมัน เราห่วงว่าพวกมันจะไม่เข้ามาใกล้พวกเราแม้จะเรียกหาพวกมันก็ตาม ดูเหมือนตอนนี้เราทำได้แค่ดูพวกมันจากระยะไกล” ชาวประมงรายหนึ่ง กล่าว.
<br><FONT color=#000033>ภาพถ่าเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559 เผยให้เห็นกิจกรรมของคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ตามแนวแม่น้ำอิรวดีใกล้เมืองมัณฑะเลย์. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>
.
กำลังโหลดความคิดเห็น