xs
xsm
sm
md
lg

ตะวันตกห่วงสถานการณ์รัฐยะไข่ เตือนพม่าอาจไม่สามารถจัดการวิกฤตได้เอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ทหารพม่าออกลาดตระเวนตามหมู่บ้านต่างๆ ในเมืองหม่องดอ หลังเกิดเหตุโจมตีฐานตำรวจชายแดน ที่ส่งผลให้ทางการระดมกำลังทหารลงพื้นที่และปิดล้อมเพื่อค้นหาผู้ก่อความไม่สงบ และตลอดช่วงปฏิบัติการทางทหาร มีชาวโรฮิงญาหลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในบังกลาเทศเป็นจำนวนมาก. -- Agence France-Presse/Stringer.</font></b>

รอยเตอร์ - ชาติตะวันตกแสดงความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นถึงวิธีที่รัฐบาลของนางอองซานซูจี จัดการต่อความรุนแรงในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ขณะที่ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ กล่าวเตือนบรรดานักการทูตว่า พม่าอาจไม่สามารถจัดการวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง

ความรุนแรงในรัฐยะไข่ของพม่าได้ส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายร้อยคนต้องหลบหนีข้ามพรมแดนไปฝั่งบังกลาเทศ ท่ามกลางข้อกล่าวหาเกี่ยวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองกำลังรักษาความมั่งคง ที่นับเป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงที่สุดต่อคณะบริหารประเทศของรัฐบาลที่มีอายุเพียง 8 เดือนของนางซูจี

ซาแมนธา พาวเวอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กล่าวย้ำความวิตกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า ยังที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นตามคำร้องของสหรัฐฯ ที่สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันพฤหัสฯ (17) นักการทูตระบุ

“ความกระตือรือร้นในเบื้องต้นของประชาคมโลกที่ปล่อยให้พม่าดำเนินไปบนเส้นทางของการปฏิรูปด้วยตัวเอง ดูเหมือนจะเป็นอันตรายในขั้นนี้” พาวเวอร์ กล่าวในที่ประชุม ตามการระบุของนักการทูต

แหล่งข่าวระบุว่า ซูจี ตอบสนองความวิตกดังกล่าวด้วยการกล่าวต่อนักการทูตที่รวมตัวกันในกรุงเนปีดอ ว่า พม่ากำลังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แต่เสริมว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตามพม่ายังคงมุ่งมั่นที่จะฟื้นการเข้าถึงความช่วยเหลือในพื้นที่ และดำเนินการสืบสวนในข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิ อันเป็นประเด็นสำคัญที่พม่ากำลังถูกกดดันอยู่ในขณะนี้

วิกฤตที่เกิดขึ้นนับเป็นเหตุนองเลือดร้ายแรงที่สุดในรัฐยะไข่นับตั้งแต่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างชุมชนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนในปี 2555 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศอีกครั้งว่า ซูจี ยังดำเนินการไม่มากพอที่จะบรรเทาชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ที่ถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมือง และการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ

ทหารระดมกำลังลงพื้นที่ตามแนวชายแดนติดบังกลาเทศ เพื่อตอบโต้การโจมตีด่านตำรวจชายแดน 3 จุด เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย

ทหารพม่า และรัฐบาลได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของชาวบ้าน และกลุ่มเรียกร้องสิทธิที่ว่า ทหารข่มขืนหญิงชาวโรฮิงญา เผาบ้าน และสังหารพลเรือนในระหว่างการปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่

.
<br><FONT color=#000033>บ้านหลายหลังในหมู่บ้านชาวมุสลิมโรฮิงญาถูกเพลิงเผาวอด ชาวบ้านและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ากองกำลังทหารเป็นผู้วางเพลิงเพื่อกวาดล้างผู้ก่อเหตุไม่สงบ. -- Agence France-Presse/Myanmar Armed Forces.</font></b>
.
นายซอ เต โฆษกประธานาธิบดี กล่าวว่า พม่ากำลังเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข้อมูลผิดๆ

“ประชาคมโลกกำลังเข้าใจเราผิดเพราะล็อบบี้ยิสต์โรฮิงญาที่กระจายข่าวลวง ไม่มีใครในโลกจะยอมรับการโจมตีกองกำลังความมั่นคง ฆ่า และปล้นอาวุธ” ซอ เต กล่าว

ในการประชุมที่นครนิวยอร์กเมื่อสัปดาห์ก่อน ซาแมนธา พาวเวอร์ ได้เรียกร้องให้มีการเปิดสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ขึ้นในพม่า และยังได้กล่าวเตือนว่า ช่วงเวลาหลายปีของการให้สิทธิพิเศษอาจก่อให้เกิดแนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งในสมาชิกบางส่วนของชุมชนชาวโรฮิงญา

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อสิ่งที่ถูกกล่าวถึงในที่ประชุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย.

“เรายังคงวิตกถึงรายงานความรุนแรงที่ยังดำเนินต่อเนื่อง และการอพยพย้ายที่อยู่ของผู้คนในรัฐยะไข่ และเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสืบสวนอย่างเป็นอิสระ และเชื่อถือได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ และย้ำถึงข้อเรียกร้องของเราสำหรับการอนุญาตให้สื่อเข้าถึงพื้นที่” นิโคล ทอมป์สัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว

ฝ่ายอังกฤษได้แสดงความวิตกในที่ประชุมเช่นกัน รวมทั้งมาเลเซีย ที่แสดงความกังวลถึงความรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตผู้อพยพในระดับภูมิภาคขึ้นอีกครั้ง

แหล่งข่าวเผยว่า ซูจี แสดงความไม่พอใจในที่ประชุมร่วมกับนักการทูตระดับสูงจากสหประชาชาติ สหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพยุโรป และเดนมาร์ก ในกรุงเนปีดอ เมื่อวันศุกร์ (18) โดยกล่าวหาว่าประชาคมโลกมุ่งความสนใจไปยังด้านเดียวของความขัดแย้งโดยปราศจากข้อมูลที่ถูกต้อง

นักการทูต และเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ กล่าวว่า การประชุมมุ่งเน้นไปที่การฟื้นคืนความช่วยเหลือในรัฐยะไข่ ที่อาหาร และยาสำหรับประชาชนราว 150,000 คน ถูกระงับมานานกว่า 40 วัน เนื่องจากทหารปิดล้อมพื้นที่

สหประชาชาติกล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการช่วยเหลือเด็กที่ขาดสารอาหารอย่างรุนแรงมากกว่า 3,000 คน ที่อาจเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับความช่วยเหลือนี้

แม้ซูจี จะแสดงสัญญาณเชิงบวกต่อการช่วยให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร แต่ในวันพุธ (21) ความช่วยเหลือก็ยังไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้เช่นเดิม ตามการระบุของนักการทูต

แต่อย่างไรก็ตาม นายวีเจย์ นามเบียร์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการพม่าของเลขาธิการสหประชาชาติ ได้อธิบายถึงสถานการณ์ของรัฐบาลในความขัดแย้งระหว่างพลเรือนและทหาร ที่แม้ซูจีจะเป็นผู้ควบคุมรัฐบาลพลเรือน แต่ก็ยังคงมีอำนาจจำกัด เนื่องจากกองทัพคุมกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน

“นักการทูตคณะมนตรีความมั่นคงเข้าใจในข้อนี้ และรู้สึกว่ารัฐบาลต้องการพื้นที่มากขึ้น” นักการทูตรายหนึ่ง กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น