xs
xsm
sm
md
lg

เคทีซีชูแนวทาง “พัฒนาตนเอง” เตรียมคน พร้อมรับมือทุกสถานการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคทีซีเดินหน้าโครงการ Career Aspiration เครื่องมือเพื่อ “พัฒนาตนเอง” สร้างความพร้อมให้องค์กรสามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่ใช่เพื่องานเท่านั้น แต่เพื่อการใช้ชีวิตได้อย่างสอดรับกัน

นางสุดปรารถนา ดำรงชัยธรรม ผู้อำนวยการ-ทรัพยากรบุคคล “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง แนวทางพัฒนาคนของเคทีซีว่า เคทีซีใช้แนวทางให้พนักงาน “พัฒนาตนเอง” ซึ่งสิ่งที่พนักงานจะต้องรู้ก่อนคือ “เป้าหมาย” แล้วจึงหาวิธีที่จะไปสู่เป้าหมาย ดังนั้น จึงมีการจัดทำโครงการ Career Aspiration โดยให้พนักงานวางเป้าหมายในการทำงานของตนเอง ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายในงานอย่างเดียว เพราะเชื่อว่าคนเราต้องมี passion มีความรู้สึกรักที่จะทำและอยากทำให้สำเร็จ ต้องรู้จุดแข็งคือความสามารถของตนเอง และจุดอ่อนที่ต้องพัฒนา ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้พนักงานประเมินตัวเองได้ง่ายขึ้น รู้ว่าชอบอะไร เก่งอะไร เป็นคนแบบไหน ฯลฯ โครงการนี้ที่จะช่วยนำ passion ส่วนตัวของพนักงานกับสิ่งที่องค์กรต้องการมาเชื่อมโยงกัน

นางสุดปรารถนา ดำรงชัยธรรม ผู้อำนวยการ-ทรัพยากรบุคคล “เคทีซี”
“พนักงานแต่ละคนต้องรู้ว่าจะพัฒนาตัวเองให้เติบโตต่อไปอย่างไร เราสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบนี้ ซึ่งดีกว่าการไปชี้นำ จากประสบการณ์ทำงานด้านเอชอาร์มา 30 กว่าปี ทำให้เห็นว่าบางครั้งพนักงานคนหนึ่งที่ทำงานไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีความรู้ความสามารถ เพราะบางคนมีความรู้เยอะมาก ครั้งหนึ่งเคยเป็นสตาร์ แต่วันนี้เขาอาจจะเปลี่ยนด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ไม่มีแรงบันดาลใจ หรือไม่มีสิ่งจูงใจให้เขาทำงานหนัก หรืออาจจะไปอยู่ในที่ไม่เหมาะกับความต้องการของเขา หรือไปอยู่กับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ช่วยเสริมให้เขาได้แสดงศักยภาพออกมาตามที่ควรจะเป็น ซึ่งตัวพนักงานเองจะรู้ดีที่สุด แต่ในฐานะเอชอาร์ก็จะต้องหาวิธี ซึ่งเราก็ใช้การคุยกันอย่างใกล้ชิดกับหัวหน้างานและพนักงาน และมีการทำแบบสำรวจความผูกพันต่อองค์กร เพื่อให้ได้ข้อมูล”

เคทีซีเน้นเป้าหมายระยะสั้น 1 ปี เพราะการวางเป้าหมายไกล 5-10 ปี นานเกินไป ยากที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว การพัฒนาไม่ได้บังคับ แต่ต้องมีเป้าหมาย พนักงานที่มีอยู่พันกว่าคน ตอนนี้ทำไปเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว เมื่อแต่ละคนได้เป้าหมายมาก็จะเป็นข้อมูลในการคุยกันกับหัวหน้า จากนั้น ก็ทำ “แผนพัฒนารายบุคคล” เพื่อตรวจสอบว่าเป้าหมายที่วางไว้กับสิ่งที่ทำไปกันได้หรือไม่ ซึ่งเป้าหมายสามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อรู้สึกว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเมื่อทำไปแล้ว พนักงานทุกคนต้องทำ Career Aspiration แต่ละคนก็มีหัวหน้าแต่ละระดับชั้นขึ้นไป นอกจากนี้ ก็จะมีการนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกิจกรรม show&share เพื่อช่วยในการบริหารจัดการได้ดีขึ้น ซึ่งฝ่ายเอชอาร์ก็มีหน้าที่เข้าไปช่วยจัดการหรืออำนวยความสะดวก (facilitate)

โดยมีบันได 3 ขั้นที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ขั้นแรกคือ การประเมินผลงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าดีพอหรือยัง ขั้นที่สองคือ การพัฒนาในสายอาชีพ พัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ สำหรับงานที่ทำอยู่ เช่น งานเอชอาร์เมื่อก่อนเคยทำแบบ manual แต่ตอนนี้มีระบบเข้ามาใช้แทนและมีการวิเคราะห์ จึงต้องวิเคราะห์ให้เป็น แบบเอชอาร์สมัยใหม่ ขั้นที่สามคือ การเปลี่ยนสายงาน แต่ต้องเหมาะกับความรู้ความสามารถที่มีอยู่ก่อนแล้ว


ผู้อำนวยการ-ทรัพยากรบุคคล “เคทีซี” ย้ำว่า “ซีอีโอ (ระเฑียร ศรีมงคล) ให้ความสำคัญในการพัฒนาคน โดยเชื่อว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องมาจากตัวเราเองคือตัวของพนักงานเองที่อยากจะเติบโตไปกับองค์กร โดยการพัฒนาตนเองมี 3 ขั้น ขั้นแรกคือ ต้องมีความใฝ่รู้ ตระหนักที่จะเรียนรู้ แล้วเรียนรู้ ขั้นสองคือ นำไปปฏิบัติจริง เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เรียนรู้ใช้ได้จริงหรือไม่ และขั้นสามคือ นำประสบการณ์ไปถ่ายทอดให้กับคนอื่นๆ หลังจากที่เรียนรู้และลงมือทำจริงแล้ว ซึ่งในช่วงโควิด-19 ทำให้การพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้นไปด้วย และเกิดการแชร์ภายในมากขึ้น มีการแบ่งปันความรู้ให้กัน เช่น ความรู้ด้านมาร์เก็ตติ้ง เรื่องผลิตภัณฑ์ หรือ product knowledge มีคนสนใจมากๆ”

นางสุดปรารถนา กล่าวอีกว่า องค์กรขับเคลื่อนด้วยคน ดังนั้น การสำรวจความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรจึงสำคัญและต้องทำสม่ำเสมอ เพราะเราเชื่อว่าเมื่อพนักงานมีความสุขก็จะสามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ดีให้ลูกค้า แต่คำว่าความสุขของแต่ละคนต่างกัน จึงเป็นความยากสำหรับงานของเอชอาร์ที่จะทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกได้ ซึ่งเรียกว่า Employee Experience คือทำทุกจุดสัมผัส หรือ touch point ให้รู้สึกได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเจอ สามารถสะท้อนสิ่งดีๆ ที่ได้รับจากองค์กร ไปจนถึงวันที่ออกไปแล้ว หรือแม้กระทั่งยังไม่ได้เข้ามาทำงาน แค่มาสมัครงาน

“นโยบายของเคทีซีไม่มีการให้พนักงานออก เพื่อให้เขาสบายใจและมั่นใจว่าอยู่ในองค์กรที่ดูแลเขา แต่เขาต้องอยากจะทำด้วย อยากจะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ส่วนงานเอชอาร์มองว่าเรื่องสำคัญมากๆ ที่ต้องทำในปีนี้และต้องทำต่อไป คือ Employee Experience เพราะครอบคลุมทุกอย่างว่าถ้าสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องการดูแล ในทุกจุดที่ไปสัมผัส ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็น แต่เชื่อว่าสิ่งดีๆ ที่ทำจะทดแทนทำให้รู้สึกผูกพันกับองค์กรและงานของเขาเพื่อให้สิ่งที่ดีกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น การจัดอบรม การจัดบรรยากาศในออฟฟิศ ฯลฯ เพื่อให้มีประสบการณ์และความทรงจำที่ดี” นางสุดปรารถนา กล่าวทิ้งท้าย