ด้วยความตระหนักและใส่ใจความเป็นอยู่ของคนอาศัย ทุกโครงการของแอลพีเอ็นกว่า 150 ชุมชน มีเจ้าของร่วมกว่า 3 แสนคน การพักอาศัยในคอนโดมิเนียมซึ่งเปรียบเสมือนการอยู่ในบ้านหลังใหญ่หลังเดียวกัน ลูกบ้านทุกโครงการจึงเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวLPN ที่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น หรือแนะนำสิ่งที่ดีให้กับบ้านของตัวเอง
ซึ่งเป็นที่มาของการจัดเสวนาประธานกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นประจำทุกปี ในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมสุโขทัย ทีมผู้บริหารบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) นำโดย โอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และกรรมการผู้จัดการ LPN พร้อมผู้บริหารได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน เสนอแนะ พร้อมตอบข้อสงสัยผ่านประธานกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเปรียบเป็นตัวแทนเจ้าของร่วมจากทุกโครงการของLPN
โอภาส ศรีพยัคฆ์ ซีอีโอ LPN กล่าวว่า ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา LPNวางรากฐานให้ชุมชนลุมพินีเป็นชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยการจัดเสวนาประธานกรรมการนิติบุคคล เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยน แต่ในปีนี้ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและระดับประเทศอยู่ในภาวะถดถอย แนวทางนำเสนอของLPNจึงมุ่งให้เจ้าของร่วมเตรียมพร้อม แต่ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาถึงการบริหารเงินงบประมาณส่วนกลางอย่างไรเพื่อไม่ให้ไปซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่าย
โดยตั้งโจทย์กับทีมงานว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าชุมชนลุมพินีจะไม่ขึ้นค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นเวลา 10 ปี โดยยังคงความสามารถบริหารจัดการได้อย่างดีเหมือนเดิม ซึ่งได้ผลศึกษาเป็นที่น่าพอใจ และได้นำเสนอสู่วงเสวนาครั้งนี้ แนวทางก็คือการเพิ่มรายได้รอง เพื่อไปชดเชยกับการไม่เรียกเก็บเงินค่าส่วนกลางเพิ่มในช่วงเวลา 10 ปี ซึ่งตามปกติอาคารชุดมักจะเก็บค่าส่วนกลางเพิ่มขึ้น ประมาณ 10% ในกรอบเวลา 5 ปีเป็นอย่างน้อย
จากผลศึกษาของฝ่ายจัดการLPNทางนิติบุคคลของโครงการก็จะต้องหารายได้รองจากด้านอื่นๆ มาทดแทนการเรียกเก็บจากผู้อยู่อาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละโครงการด้วย อย่างในช่วงปีที่ผ่านมา ค่าจอดรถ ได้ยกเลิกที่จอดคันที่สอง และยกเลิกการจอดแบบเหมารวม รวมถึงขึ้นค่าเช่าพื้นที่เก็บของ ผลปรากฎว่าทำให้รายรองเพิ่มจาก 26.2% เป็น 27.5% (รายได้ส่วนกลางหลัก มาจากการเก็บเงินผู้อยู่อาศัย 72.5%) โดยยึดแนวทางเพิ่มรายได้ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บค่าส่วนกลาง,ค่าที่จอดรถ,ค่าชดเชยพื้นที่ส่วนกลางด้วยการนำระบบตู้ขายสินค้า (Vending Machine) เข้ามาใช้ และการบริหารระบบพัสดุรูปแบบใหม่ (Smart Locker) บริหารดอกเบี้ยเงินฝากและค่าสาธารณูปโภค รวมถึงมุ่งการบริการด้านงานวิศวกรรม (Living Solution) ในพื้นที่ห้องชุดและส่วนกลางอีกด้วย ด้านการลดค่าใช้จ่ายนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ เช่น บริการชำระ Bill-Payment, E-Invvoice, E-Receive และ E-Payment
รวมถึงการปรับลดงบประมาณด้านการรักษาความปลอดภัย บางโครงการใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถึง 4 นาย ซึ่งมีอัตราการจ้างเฉลี่ย 2.5 หมื่นบาทต่อนาย ก็ปรับลดเหลือ 2 นาย ส่วนอีก 2 คนทำหน้าที่จัดการจราจรในโครงการโดยตรงก็ให้ปรับจ้างตามตำแหน่ง ประมาณ 1.5 หมื่นบาทต่อคน ก็สามารถทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ที่สำคัญจะได้คนทำงานที่ตรงกับสายงานด้วย เท่ากับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลลูกบ้านอีกทางหนึ่ง
“หากค่าใช้จ่ายส่วนกลางไม่เก็บเพิ่ม ในระยะเวลา 10 ปี จะทำให้รายได้ลดลง และรายจ่ายก็เพิ่มขึ้นแน่ ซึ่งส่งผลให้ต้องเลื่อนแผนการซ่อมบำรุง และต้องจัดเก็บเพิ่มเป็นพิเศษ หรือจำเป็นต้องเก็บค่าส่วนกลางเพิ่ม รวมถึงไม่สามารถตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ดังนั้น ด้านการบริหารจัดการจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพด้วย ให้ครอบคลุมการเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัยที่ดีเหมือนเดิม อย่างการปรับขึ้นค่าที่จอดรถแบบใครใช้ใครจ่ายก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้อยู่อาศัยทุกคน”
ซีอีโอ LPN ย้ำว่า ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า นิติบุคคลทุกโครงการไม่ต้องเรียกเก็บค่าส่วนกลางเพิ่มแน่นอน เพราะด้วยพลังของชุมชนลุมพินี การรวมพลังและเดินหน้าไปด้วยกัน เราสามารถจะทำอะไรได้อีกมากมาย อยากให้เจ้าของร่วมในชุมชนลุมพินี ตระหนักเสมอว่า ไม่มีใครดูแลบ้านของเราได้ดีเท่าเรา
ซ๊อีโอ LPN สรุปว่า การบริหารจัดการชุมชนที่ดีขึ้น ภายใต้เงินที่จัดเก็บเท่าเดิม ทำให้มั่นใจว่า จะเป็นจุดขายที่แข็งแกร่ง และรับมือกับคู่แข่งได้ เพราะส่วนหนึ่งของการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม อยู่ที่ค่าส่วนกลางด้วย เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นสิ่งที่เจ้าของร่วมจะต้องรับผิดชอบตลอดไป