xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง! “เครื่องฟอกอากาศธรรมชาติ” แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปัญหาฝุ่นละอองที่กำลังวิกฤติมากขึ้น เหตุใดการมีอยู่ของต้นไม้จึงสำคัญขนาดนั้น? ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นไปอีกหากเป็นเมืองใหญ่ เพราะทุกวันนี้เมืองใหญ่ล้วนกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น เมืองที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรุงเทพมหานคร
หมายความว่าในแต่ละปีย่อมมีผู้อยู่อาศัย, รถยนต์ และความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นี่คือปัจจัยที่นำไปสู่ความวิตกว่าในอนาคต ปัญหามลพิษทางอากาศอื่นๆ รวมไปถึงฝุ่นละออง PM 2.5 จะแวะเวียนมาคุกคามชาวกรุงถี่ขึ้น ล่าสุดทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาประกาศมาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสาธารณะให้มากขึ้น ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าเป็นพื้นที่ใด และผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบใด (สวนหย่อม, สวนชุมชน, ต้นไม้ริมทาง หรือสวนสาธารณะ ฯลฯ)
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงาน ปริมาณฝุ่นละองง PM 2.5 ที่มากกว่า 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ ทางที่ดีไม่ควรให้มีปริมาณฝุ่นเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ไปดูกันว่าพืชซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องหายใจตลอดเวลาไม่ต่างจากเรา ด้วยการดูดซับก๊าซออกซิเจนเข้าไป และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทว่ามีอยู่หนึ่งสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้แบบพืช นั่นคือการผลิตอาหารเองด้วยการสังเคราะห์แสง ในเวลากลางวัน “เซลล์คุม” (guard cells) เซลล์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการปิดเปิดของปากใบจะเปิดแยกจากกัน ส่งผลให้ปากใบเปิด และเกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซขึ้น ระหว่างหายใจพืชต้องการก๊าซออกซิเจนก็จริง แต่ในระหว่างกระบวนการสังเคราะห์แสง ใบของพืชจะดูดซับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเข้ามา คลอโรฟิลล์จะใช้พลังงานแสงจากดวงอาทิตย์เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ ให้เป็นคาร์โบไฮเดรต และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาแทน
วงจรการหายใจและวงจรการสร้างอาหารในชีวิตประจำวันของพืชเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากปริมาณการสังเคราะห์แสงมีมากกว่าการหายใจ ดังนั้นในเวลากลางวันพืชจึงผลิตก๊าซออกซิเจนมากกว่าในอัตราที่ใช้ไป ส่วนในเวลากลางคืน เมื่อไม่มีแสง พืชจึงหายใจเพียงอย่างเดียว และปลดปล่อยเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทน นี่คือเหตุผลว่าทำไมการปลูกต้นไม้จึงสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางวันได้ และต้นไม้ยังสามารถดูดซับก๊าซอันตรายอย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์อีกด้วย
เมืองใหญ่ทั่วโลก ถึงจำเป็นต้องมีสวนสาธารณะ แนวต้นไม้ริมถนนทั่วเมือง
มากกว่านั้นใบไม้ยังช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศ
เนื่องจากละอองฝุ่นที่ล่องลอยผ่านต้นไม้จะติดค้างอยู่บนผิวใบ และเมื่อฝนตกลงมาฝุ่นเหล่านี้ก็จะถูกชะล้างลงดินไป แทนที่จะถูกสุดเข้าไปทำอันตรายต่อปอดของสิ่งมีชีวิต งานวิจัยโดยหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ระบุว่า บริเวณต้นไม้ใหญ่ทีมวิจัยพบการลดลงของอนุภาคฝุ่นละอองตั้งแต่ 7-24% และบริเวณดังกล่าวยังมีอุณหภูมิเฉลี่ยลดลงอีกด้วย ผลจากการคายน้ำของต้นไม้ แสดงให้เห็นว่าต้นไม้สามารถช่วยแก้ปัญหาหมอกควันในเมืองได้จริง ที่พิเศษก็คือต้นไม้บางต้นมีคุณสมบัติในการดูดซับมลพิษในอากาศมากกว่าต้นอื่นๆ โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นต้นไม้ที่มีใบใหญ่ และหนา เช่น ต้นเมเปิล และต้นเอล์ม
แต่ต้นไม้ใหญ่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในเมือง เมื่อปี 2017 มีรายงานน่าสนใจเผยแพร่ลงในวารสาร Atmospheric Environment ชี้ว่า ต้นไม้ใหญ่ช่วยดูดซับมลพิษแค่ในพื้นที่เปิดโล่งเท่านั้น แต่สำหรับเมือง “พุ่มไม้” เหมาะที่สุดในการดักจับฝุ่นควันที่ส่วนใหญ่แล้วมาจากท่อไอเสียรถยนต์ เนื่องจากบางครั้งต้นไม้ใหญ่ก็สูงเกินไปที่จะจัดการกับมลพิษบนท้องถนน เรียกได้ว่า หากจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจริง เมืองนั้นๆ ควรปลูกต้นไม้หลากหลายรูปแบบ ทว่าในท้ายที่สุดแล้ว มีต้นไม้มากเท่าไหร่ก็ไม่พอ ถ้าแหล่งกำเนิดมลพิษยังไม่ถูกแก้ไข
ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศ ในหลายเมืองใหญ่ของโลกเอง ปัญหานี้ก็กำลังเป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2017 รัฐบาลออกคำสั่งปิดโรงงานเหล็กครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้นำของประเทศจีนเชื่อว่า โครงการนี้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดมลพิษ และเมื่อไม่นานมานี้ ที่กรุงโซล ประเทศ
เกาหลีใต้ มีมาตรการขอให้ประชาชนงดการทำกิจกรรมในบริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง เพราะสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้ และทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้เองออกนโยบายสำหรับภาคอุตสาหกรรม ให้ร่วมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนต้องลดอัตราการผลิตออกไปให้ได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการลดปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อม
สำหรับในบ้านเรา นอกเหนือจากมาตรการระยะยาวที่ต้องติดตามกันต่อแล้ว บนโลกโซเชียลตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาระยะสั้น เมื่อหน่วยงานของกรุงเทพฯ ออกมาพ่นฉีดน้ำขึ้นไปบนอากาศ สิ่งนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ?
“การนำรถออกมาฉีดพ่นน้ำไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้นานค่ะ ตราบใดที่น้ำนั้นไม่ได้นำไปทิ้งหรือระบายลงท่อไป น้ำแค่ช่วยไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกไปในขณะที่ถนนยังเปียก แต่มื่อถนนแห้งฝุ่นก็จะกลับมาฟุ้งกระจายได้อีก” รองศาสตราจารย์ ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ หัวหน้าหน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้วยรถฉีดพ่นน้ำผ่านอีเมล์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวัดมลพิษทางอากาศด้วยไลเคน
“ในกรุงเทพมหานคร PM 2.5 มีปัจจัยการเกิดจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน) เป็นสำคัญ เพราะมีรถยนต์จำนวนมากและการจราจรติดขัด ในระยะยาวควรแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์เข้าถึงทุกพื้นที่ อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยลดมลพิษได้มากโดยเฉพาะกับ ฝุ่นละออง PM 2.5”
ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ
ความคิดเห็นของดร. กัณฑรีย์ สอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหามลพิษระยะยาวของหลายประเทศ เช่น ที่กรุงปารีส รัฐบาลมีมาตรการแบนรถยนต์เก่า รวมไปถึงสนับสนุนให้ประชาชนหันมาให้ระบบขนส่งมวลชนและจักรยานกันมากขึ้น ด้วยการเปิดให้ใช้บริการฟรีในช่วงที่ต้องต่อสู้กับปัญหามลพิษที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีการกำหนดพื้นที่ปลอดรถยนต์ เช่นบริเวณตามแนวแม่น้ำแซน ด้านประเทศเนเธอร์แลนด์มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า รัฐบาลเตรียมแบนบริษัทขายรถยนต์ที่ยังคงใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันภายในปี 2025 นี้ นั่นหมายความว่าในอนาคตรถยนต์ที่วิ่งในประเทศนี้จะมีแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นปัญหาเท่าใด เพราะประเทศนี้มีผู้ใช้จักรยานมากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์อยู่แล้ว
ผลการวิจัยจากเว็บไซต์วารสารวิทยาศาสตร์นานาชาติด้านบรรยากาศศาสตร์ (Atmospheric Chemistry and Physics) ระบุว่า ประชากรที่อาศัยในเมืองใหญ่ เช่น กรุงสตอกโฮล์ม เมืองโกเธนเบิร์ก และเมืองมัลโม ประเทศสวีเดน มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 ปี จากมลพิษทางอากาศที่น้อย
ทั้งนี้ในบ้านเราเอง ทางกรมควบคุมมลพิษรายงานว่าได้ปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการรถยนต์แล้ว กำหนดให้มีการปรับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากดีเซลเป็นไบโอดีเซล หรือบี 20 และยังประสานงานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาเตรียมทำฝนเทียม หากมีสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเองเตรียมตรวจจับรถยนต์ที่มีควันดำมากเป็นพิเศษ และเพิ่มตำรวจในจุดที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อบรรเทาการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในช่วงรถติด
สำหรับข้อแนะนำทางสุขภาพ ไม่เพียงแค่ประชาชนที่มีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือเด็กๆ และคนชราเท่านั้น ทว่ารายงานจากวารสาร Fertility and Sterility ของประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า สตรีมีครรภ์เองก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วย ระบุมลภาวะทางอากาศทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแท้งลูกได้ หากสูดฝุ่นละอองสะสมเป็นเวลาต่อเนื่องกัน ร้ายแรงกว่านั้นดูเหมือนว่าปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นี้จะไม่ใช่แค่ภัยคุกคามสุขภาพผู้คนเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงชีวิตที่ยังไม่เกิดมาด้วย เนื่องจากการสูดฝุ่นละอองที่เต็มไปด้วยสารพิษยังส่งผลกระทบต่อสติปัญญาของทารกในครรภ์เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น