xs
xsm
sm
md
lg

Fashion for Change แฟชั่นโชว์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของวงการแฟชั่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


Fashion for Change ภายใต้ธีม Ethical crafts: Crafts for All, All are Craft
ในวงการแฟชั่น หลายคนอาจนึกถึง ความสวยงาม ความหรูหรา หรือไม่ก็ความโมเดิร์น แต่เคยคิดกันบ้างไหม ว่าภายใต้ฉากหน้าอันสวยงามของอุตสาหกรรมแฟชั่นมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท
เมื่อมองอีกมุมของ “คนที่อยู่เบื้องหลัง” ว่าพวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไร? สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้หรือไม่? และเคยคิดบ้างไหมว่าแฟชั่นสุดชิคเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า?
การตั้งคำถามเหล่านี้ ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงกลุ่มหนึ่งเดินหน้าจัดแฟชั่นโชว์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของวงการแฟชั่นพร้อมนำเสนอความเท่าเทียมกันของมนุษย์บนรันเวย์ผ่าน Fashion for Change ภายใต้ธีม Ethical crafts: Crafts for All, All are Craft ขึ้น ในงาน Impact Day : พื้นที่แห่งโอกาสของคนรุ่นใหม่ งานแฟร์กิจการเพื่อสังคมจาก โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 8” หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) 8 โดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และ สถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร
นางแบบสุดพิเศษ นางสาววันทนีย์ จันทรมี และนางสาวปรารถนา นคราวัฒน์
ศักดิ์สิทธิ์ ภัทรประกฤต หรือ ต้า หนึ่งในหัวหอกในการจัด Fashion for Change และ ตัวแทนจากกิจการเพื่อสังคม Go Went Gone กล่าวถึงแรงบันดาลใจของแฟชั่นโชว์ในครั้งนี้ว่า “Fashion for Change ธีม Ethical crafts : Crafts for All, All are Craft นั้นจัดขึ้นภายใต้แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นอย่างมีจริยธรรมและศีลธรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันอย่างเป็นธรรมเพื่อช่วยให้ผู้คนในชุมชนมีรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งส่งต่อเรื่องราวที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สาธารณชนในวงกว้าง โดย Crafts for All หมายถึงการปลูกฝังและขยายกรอบความคิดของประชาชนทั่วไปให้เข้าใจว่า งานฝีมือนั้นไม่เชยและไม่ล้าสมัยหากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมืองและยุคสมัยในปัจจุบัน ในขณะที่ All are Craft ช่วยตอกย้ำว่ามนุษย์ทุกคนนั้นต่างก็ถูกสรรค์สร้างมาอย่างบรรจงและสวยงาม เฉกเช่นงานผีมือที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างพิถีพิถันและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

โดย Fashion for Change เกิดขึ้นจากความคิดสุดบรรเจิดของ 10 กิจการเพื่อสังคมไฟแรงที่ทำงานด้านงานฝีมือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อมในเครือข่ายโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) อันได้แก่ Gonfai ธุรกิจผลิต จำหน่ายและพัฒนาสินค้าจากหัตถกรรมดั้งเดิมของชาวบ้านและชาติพันธุ์ลัวะ Ethnica ธุรกิจที่มุ่งเสริมสร้างอาชีพให้กับชาวชาติพันธุ์ โดยเน้นนำเสนอความโดดเด่นของลายผ้าทอ Bhukram ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าปักทอลวดลายที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชาวบ้านบริเวณเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร VT Thai ธุรกิจให้บริการพื้นที่ตลาดออนไลน์ ทำการตลาดผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของสินค้าหัตถกรรม More Loop แพลตฟอร์มจัดจำหน่ายผ้าที่เหลือจากอุตสาหกรรม ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ Craft de Quarr ธุรกิจจัดจำหน่ายและพัฒนาสินค้าที่ระลึกจากภูมิปัญญาและงานศิลปะพื้นเมือง FolkCharm ธุรกิจฝ้ายที่ไม่ใช้สารเคมีตลอดกระบวนการผลิตที่สามารถเข้าถึงผู้ผลิตแต่ละรายได้ Vanta ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในชุมชนให้มาเป็นวัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติต่อไปในอนาคต Heartist ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอบำบัดหนึ่งเดียวในโลกจากศิลปินบุคคลพิเศษ และ Go Went Gone ธุรกิจสร้างรายได้ให้ชาวบ้านด้วยการพัฒนางานฝีมือท้องถิ่นและหาช่องทางการจำหน่ายให้

ยิ่งกว่านั้น แฟชั่นโชว์ดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือจาก Chibi Kotton อีกหนึ่งกิจการเพื่อสังคมที่เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง แถมยังได้นายแบบและนางแบบสุดพิเศษ ที่อยู่ในเครือข่ายของ กิจการเพื่อสังคม กล่องดินสอ ธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายสื่อการศึกษาสำหรับผู้พิการทางสายตา และ กิจการเพื่อสังคม YoungHappy ธุรกิจสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ ใช้ชีวิตอย่างสนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้ มาร่วมถ่ายทอดความเท่าเทียมและความงดงามในมนุษย์ทุกคนให้แก่แฟชั่นโชว์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของวงการแฟชั่นอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ปรารถนา นคราวัฒน์ หรือ แป๋ม นางแบบผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมเดินแบบแฟชั่นโชว์ กล่าวว่า “การได้เดินแบบแฟชั่นโชว์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของวงการแฟชั่นในครั้งนี้เหมือนเป็นอีกหนึ่งโอกาสพิเศษที่มีคุณค่าต่อจิตใจเป็นอย่างมาก ทำให้ได้ทำในสิ่งที่คิดว่าในชีวิตนี้ไม่น่าจะได้ทำ แล้วก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้มาเป็นตัวแทนของผู้พิการทางสายตาในการบอกเล่าเรื่องราวของความสวยงามที่อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน อยากให้ทุกคนได้รู้ว่าแม้ว่าเราจะเกิดมาเป็นคนแบบไหน เพศอะไร มีลักษณะอย่างไร ทุกคนก็มีสิทธิ์ มีความงดงาม มีคุณค่า และมีอัตลักษณ์ในตัวเองเท่าเทียมกัน”

“พวกเราหวังว่า Fashion for Change ภายใต้ธีม Ethical crafts: Crafts for All, All are Craft จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้ามาช่วยสร้างมุมมองที่แตกต่างให้แก่วงการแฟชั่น ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง และเปิดกว้างให้แก่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครก็ตามได้อย่างประสบความสำเร็จ” 11 กิจการเพื่อสังคมผู้ร่วมสร้างสรรค์ Fashion for Change กล่าวสรุปเป็นเสียงเดียวกัน

Fashion for Change ในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า กิจการเพื่อสังคมในโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) นั้น ได้รวมพลังกายและพลังใจในการนำเอาความคิดสร้างสรรค์และความเข้าใจในปัญหาสังคมของพวกเขามาสร้างสรรค์ความแปลกใหม่เชิงบวกให้แก่วงการแฟชั่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอความเท่าเทียมกันของมนุษย์ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์ของกิจการ นับเป็นผลผลิตที่น่าภูมิใจของโครงการฯ ที่ดำเนินการมานานกว่า 8 ปี
11 กิจการเพื่อสังคมผู้ร่วมสร้างสรรค์ Fashion for Change