xs
xsm
sm
md
lg

แม็คโครร่วมแก้ปัญหาขยะล้นชายหาด รณรงค์เก็บ-แยกขยะลงถัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย วันที่ 4 ธันวาคมนี้ แม็คโครได้จัดโครงการ “แม็คโครรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดขยะพลาสติกบนชายหาด” โดยมีการมอบถังขยะรีไซเคิลให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีสาขาของแม็คโครตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ที่มีชายหาดจำนวน 14 สาขา ได้แก่ อ่าวนาง ตรัง หัวหิน ภูเก็ต ถลาง ราไวย์ ป่าตอง กะรน สตูล เกาะพงัน พัทยาเหนือ พัทยาใต้ ระยอง และชะอำ ซึ่งเป็นถังขยะสำหรับขยะรีไซเคิลจำนวน 212 ใบ สำหรับจัดวางที่บริเวณชายหาดเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาเยือน พร้อมจัดกิจกรรมเก็บขยะบริเวณชายหาดและรณรงค์ให้ประชาชนเก็บขยะและแยกขยะพลาสติกให้ลงถังอย่างถูกต้อง

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส สาขาชะอำได้มอบถังขยะรีไซเคิลขนาด 240 ลิตร จำนวน 70 ใบ ให้แก่เทศบาลเมืองชะอำ และร่วมทำกิจกรรมเก็บขยะ พร้อมทำความสะอาดบริเวณชายหาดชะอำ เป็นระยะทางรวมกว่า 2 กม. โดยมีพนักงานจิตอาสาของแม็คโคร จำนวน 60 คน จากแม็คโคร ฟูดเซอร์วิส สาขาชะอำ แม็คโคร สาขาเพชรบุรี และแม็คโครฟูดเซอร์วิส สาขาหัวหิน พร้อมคนในชุมชนเทศบาลเมืองชะอำมาร่วมเข้ากิจกรรมนี้ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม โดยมีเจตนารมณ์ในการดําเนินธุรกิจบนพื้นฐานของธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอด 29 ปีที่ผ่านมา แม็คโครเป็นศูนย์ค้าส่งรายเดียวในประเทศไทยที่มีนโยบายชัดเจนในเรื่องการไม่ให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้า และจัดโครงการส่งเสริมให้ทุกสาขารณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก ตลอดจนลดการทิ้งขยะพลาสติกอันเป็นมูลเหตุให้เกิดปัญหาขยะในสังคมไทยและในสังคมโลก ซึ่งในแต่ละปี แม็คโครสามารถลดการสร้างขยะที่เกิดจากถุงพลาสติกไปได้ 16.5 ล้านถุงต่อเดือน หรือประมาณ 198 ล้านถุงต่อปี

นอกจากนี้ ยังคัดสรรสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติทดแทนโฟม หรือ Bio Base ซึ่งผลิตจากเยื่อพืชธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย เยื่อไผ่ เยื่อไม้บริสุทธิ์ ปลอดภัยไร้สารพิษ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และย่อยสลายสู่ธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีจำนวนมากกว่า 40 รายการ อาทิ จาน ชาม ถ้วย แก้ว กล่อง ฯลฯ พร้อมทำโปรโมชั่นราคาพิเศษอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มพื้นที่จำหน่ายสินค้าภาชนะ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบย่อยสลายได้ให้มีขนาดมากขึ้น