xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคนำนวัตกรรมช่วยเกษตร รู้ทันธรรมชาติ-เพาะปลูก “แม่นยำ"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ  บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด และ อุกฤษ อุณหเลขกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด  โชว์ฟังก์ชันการใช้งาน “แอปฟาร์มแม่นยำ”
•ต่อยอดกลยุทธ์ หนุนสร้างเกษตรเป็น Smart Farmer ผนึกองค์กรพันธมิตรเดินหน้าติดอาวุธทางปัญญาให้ระบบเพาะปลูกที่ช่วยวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดความเสี่ยงและลดค่าใช้จ่าย
•จัดเต็มบริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ตอบโจทย์ 1.พยากรณ์อากาศระบุพื้นที่ 2.ภาพถ่ายดาวเทียมตามติดสุขภาพพืช 3.ช่วยวางแผนเพาะปลูก
•ย้ำจุดยืนดีแทคทำธุรกิจควบคู่การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม นับเป็น CSRเชิงกลยุทธ์ในมิติ “การสร้างสรรค์คุณค่าร่วม” Creating Share Value หรือ CSV
“ฟาร์มแม่นยำ” เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันในแอป Farmer Info
ถอดรหัสความก้าวหน้า “ฟาร์มแม่นยำ”
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ชี้แจงว่า โครงการ “ฟาร์มแม่นยำ” เป็นผลจากการทดลองและวิจัยโดยผ่านการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ต่อยอดแผนพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer ซึ่งปูพื้นมาเป็นปีที่ 10 และเป็นเป้าหมายหลักของดีแทคในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรไทย
เพื่อการ “เพิ่มผลิตภาพ” คือ เพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพ ลดความเสี่ยง และลดต้นทุนให้กับระบบการผลิตทางการเกษตร
ทั้งนี้ เป็นการผนึกความร่วมมือของดีแทค กับกรมส่งเสริมการเกษตรและศูนย์เทคโนโลยี อิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในสังกัดสวทช. ได้ร่วมมือกับ “รีคัลท์” ธุรกิจ สตาร์ทอัปในโครงการสนับสนุน ของดีแทค แอคเซอเลอเรทและมูลนิธิรักบ้านเกิด

ดีแทคจะทำหน้าที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและ การวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบ dtac Intelligence ส่วนกรมวิชาการเกษตรให้การสนับสนุนด้านวิชาการและคัดเกษตรรุ่นใหม่ที่มีความต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาระบบการเพาะปลูกของตนเองและสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน
Young Smart Farmer เหล่านี้ ต้องเป็นเจ้าของฟาร์มและเพาะปลูกในโรงเรียน การเกษตรแบบ ปลอดสารพิษ รวมทั้งมีที่ตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 300 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ เพื่อสะดวกในการวิจัย ติดตามผลและให้คำแนะนำ
ใช้นวัตกรรม+เทคโนโลยี
ขณะที่ NECTEC-สวทช. ใช้ผลจากการวิจัยและผลิตอุปกรณ์ระบบเซ็นเซอร์ สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาการเกษตรอย่างเห็นผลได้ โดยร่วมมือกับดีแทคพัฒนาโซลูชันที่ใช้อินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่งหรือ IOT ที่ใช้ประโยชน์ในการรายงานอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ ปริมาณแสง ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก
รุ่นใหม่เปิดรับนวัตกรรม-เทคโน
บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการเกษตรไทยพัฒนาก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับแนวคิดของคนรุ่นเก่า ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
“ฟาร์มแม่นยำ เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันในแอป Farmer Info ที่ช่วยให้เกษตรกรทราบถึงสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันในพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนการวิเคราะห์สภาพการเพาะปลูกในแปลง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ซึ่งเราเชื่อว่า นวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเสริมศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมไทย” บุญชัยกล่าว
Young Smart Farmer นิธิภัทร์ ทองอ่อน เกษตรรุ่นใหม่ทายาท  “สวนทุเรียนลุงแกละ” จังหวัดระยอง และบิดา
ผลลัพธ์ที่จับต้องได้
นิธิภัทร์ ทองอ่อน เกษตรรุ่นใหม่ทายาท “สวนทุเรียนลุงแกละ” จังหวัดระยอง กล่าวว่า บริการ“ฟาร์มแม่นยำ” ช่วยให้สามารถวางแผนเพาะปลูกล่วงหน้าได้ดี หรือหาทางป้องกัน เมื่อสภาพดินฟ้าอากาศไม่ปกติ เช่น รู้ว่าจะเกิดลมพายุก็รีบทำการค้ำกิ่งป้องกันได้ก่อน

ขณะที่ระบบนี้ใช้ผลจากภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้เกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ สามารถสำรวจสุขภาพพืชที่ปลูกจากภาพรวมได้ทั่วถึง โดยไม่ต้องตระเวนดูพื้นที่ทั้งแปลงให้เหนื่อย เพราะสังเกตพื้นที่ได้ในภาพที่แสดงเป็นสีแดง เป็นสัญญาณเตือนให้เกษตรกรลงพื้นที่ในจุดนั้น เพื่อแก้ปัญหาว่าเกิดโรคแมลง หรือขาดสารอาหาร เป็นต้น
ตัวอย่างการจัดการผลิตและการตลาดของ สวนทุเรียนลุงแกละ ในพื้นที่ 60 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ 90% ใช้ปลูกทุเรียน ปีที่แล้วให้ผลผลิตเป็นมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ใช้แรงงานเพียง 2 คน คือ พ่อกับตัวเขา เพราะได้ผลดีจากการพยากรณ์ภูมิอากาศเฉพาะพื้นที่ เป็นเครื่องมือช่วยให้ผลผลิตมีประสิทธิภาพ ใช้แรงงานน้อย และใช้เวลาน้อยลง ต้นทุนก็ลดลงด้วย
การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียม
อุกฤษ อุณหเลขกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า “รีคัลท์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม และระบบ Machine Learning ประมวลและแปรผล ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสภาพอากาศและสุขภาพพืช เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลไปจัดการและวางแผนการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ แอปฟาร์มแม่นยำให้บริการ 3 แบบสำคัญ ได้แก่
พยากรณ์อากาศเฉพาะพื้นที่
พยากรณ์อากาศเฉพาะพื้นที่ : แอปฯ สามารถแสดงผลเจาะจงในพื้นที่ที่ต้องการรายชั่วโมง ทั้งอุณหภูมิ โอกาสในการเกิดฝนและปริมาณฝนในพื้นที่ที่ต้องการด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย นอกจากนี้ ยังสามารถพยากรณ์อากาศได้ล่วงหน้า 7 วัน โดยมีความแม่นยำระดับรายแปลงมากที่สุดในประเทศไทย ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจวางแผนเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภาพถ่ายดาวเทียม
ภาพถ่ายดาวเทียม : ช่วยให้เกษตรกรมองเห็นพื้นที่เพาะปลูกของตัวเองแบบภาพรวมจากอากาศ เพื่อช่วยหาความผิดปกติและปัญหาสุขภาพของพืชได้ โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียม EU-Sentinelและ NASA-Landset
ผู้ช่วยส่วนตัว
ผู้ช่วยส่วนตัว : ช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละรอบการเก็บเกี่ยว โดยนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย ตามข้อมูลทางวิชาการจากอาจารย์คณะเกษตร ปัจจุบันสามารถครอบคลุมพืชถึง 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมันและทุเรียน
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการโดยดาวน์โหลดแอป Farmer Info ผ่าน App Store และ Google Play และเข้าไปที่บริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ใช้บริการฟรี 60 วัน และเก็บค่าบริการเริ่มต้น 30 บาทต่อเดือน
สามารถติดตามเรื่องราวของเกษตรกรที่ใช้บริการฟาร์มแม่นยำได้ที่ http://www.dtac.co.th/blog/newsroom/article-10.html