xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีช ขยี้! “แบรนด์ผู้ผลิต” รับ 4 แนวทางปฏิบัติจัดการพลาสติก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก(Brand Audit) ที่เก็บได้จากบริเวณชายหาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนกันยายน 2561 โดยพบทั้งแบรนด์ผู้ผลิตข้ามชาติและผู้ผลิตในประเทศ
ข้อเรียกร้องในครั้งนี้ของกรีนพีช เล็งเป้าหมายให้ภาคการผลิตสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) และบริษัทต่างๆ มองเห็นความสำคัญ “มลพิษของพลาสติก” เป็นอันดับต้นๆ โดยการนำเสนอแนวทางปฏิบัติ 4 ประการ
1.เปิดเผยข้อมูล "รอยเท้าพลาสติก(plastic footprint) โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้
2.มุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปี
3.ขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นมากที่สุดภายในปี 2562
4.ลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่
เนื่องจากแบรนด์ผู้ผลิตเป็นส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทางกรีนพีซร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานรณรงค์สากล Break Free From Plastic จึงทำการสำรวจขยะที่ชายหาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนกันยายน 2561 เพื่อยืนยันว่าพบขยะจากแบรนด์ใดบ้าง และจากบริษัทใดมากที่สุด ก็เพื่อนำมาหยิบยกให้เห็นบทบาทของบริษัทผู้ผลิตในการจัดการปัญหามลพิษพลาสติกโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ตามรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก(Brand Audit) ที่เก็บได้จากบริเวณชายหาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี พบว่าผู้ผลิตแบรนด์ข้ามชาติ 5 อันดับแรกที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุด คือ โคคาโคล่า, เป๊ปซี่โค, ยาคูลท์, ยูนิลีเวอร์, และเนสท์เล่ ตามลำดับ ส่วนผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ ดัชมิลล์, ซีพี กรุ๊ป,โอสถสภา, บริษัท เสริมสุข จำกัด และเครือสหพัฒน์ ตามลำดับ
ในการตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่ (Clean up) โดยแนวร่วม Break Free From Plastic เกิดขึ้นใน 239 จุด ใน 42 ประเทศ ครอบคลุมทั้ง 6 ทวีป มีอาสาสมัครราว 10,000 คนเข้าร่วม และเก็บขยะพลาสติกรวมกันทั้งหมด 187,851 ชิ้น เพื่อระบุแบรนด์สินค้าจำนวนนับพันที่พึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจนกลายเป็นมลพิษพลาสติกที่ปนเปื้อนในทะเล มหาสมุทรและแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทย เก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีการจัดกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่บริเวณหาดวอนนภา มีอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรม 50 คน เก็บรวบรวมขยะพลาสติก 2,781 ชิ้นเพื่อทำการตรวจสอบแบรนด์ แบ่งได้เป็นแบรนด์ของผู้ผลิตข้ามชาติ (foreign brand) 817 ชิ้น แบรนด์ของผู้ผลิตในประเทศ (local brand) 1,606 ชิ้น และส่วนที่ไม่สามารถระบุที่มาของผู้ผลิต 358 ชิ้น โดยขยะพลาสติกถึงร้อยละ 91 เป็น บรรจุภัณฑ์อาหาร(food packaging)

อาสาสมัครและเยาวชนกรีนพีซกำลังช่วยกันสำรวจขยะและจดบันทึกข้อมูลสำรวจแบรนด์ที่พบบริเวณชายหาดวอนนภา จ.ชลบุรี เพื่อเรียกร้องให้บริษัทต่างๆแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหามลพิษจากพลาสติกอันเกิดจากขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า"ผลการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกในประเทศไทยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นการผลิตและการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวทิ้งที่ล้นเกินและกลายเป็นมลพิษพลาสติกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจึงก่อปัญหาที่ต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับวิกฤตมลพิษพลาสติก"
"การประกาศเจตนารมย์ของบริษัทต่างๆ ยังคงขึ้นอยู่กับการรีไซเคิล และความสามารถในการนำมารีไซเคิล ในขณะที่ยังมีการเดินหน้าใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งเพิ่มมากขึ้นต่อไป ปัญหาขยะพลาสติกเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบริโภค จนถึงการจัดการของเสียภายหลังการบริโภค เราไม่สามารถหาทางออกจากวิกฤตมลพิษพลาสติกได้เลย หากมุ่งไปที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเดียวโดยละเลยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (extended producer responsibility)"
ข้อมูลสำคัญ ประเทศไทยใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งกันอย่างแพร่หลาย โดยคนไทยใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งถึง 70,000 ล้านถุงต่อปี อีกทั้งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียที่รวมถึงจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา มีส่วนสำคัญที่ก่อมลพิษพลาสติกในทะเลถึงร้อยละ 60 ของขยะพลาสติกที่ถูกปล่อยทั้งหมดลงทะเลทั่วโลก ในปี พ.ศ.2559 ปริมาณขยะทั้งหมดที่ไม่มีการจัดเก็บหรือกำจัดอย่างเหมาะสมมีประมาณ 2.83 ล้านตัน และมีสัดส่วนขยะพลาสติกร้อยละ 12 โดยที่ขยะพลาสติกที่ไม่มีการจัดการร้อยละ 15 หรือ 51,000 ตันต่อปี มีปลายทางอยู่ที่ทะเล
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61948/


กำลังโหลดความคิดเห็น