xs
xsm
sm
md
lg

ตอกหน้ารัฐ “เก็บค่าถุงถึงลดขยะพลาสติกได้” จุฬาฯ ยันเดินหน้าต่อ “งดแจกถุงฟรีในร้านสะดวกซื้อ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มาตรการงดแจกถุงพลาสติกฟรีในร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทำแล้วจบภายในปีเดียว
โครงการ Chula Zero Waste แสดงความขอบคุณชาวจุฬาฯ และทุกคนที่เข้ามาใช้บริการในมหาวิทยาลัย เพราะมีส่วนร่วมในการลดปริมาณถุงพลาสติกได้ถึง 2,000,000 ใบ! จากมาตรการงดแจกถุงพลาสติกฟรีในร้านสะดวกซื้อในมหาวิทยาลัย ซึ่งไปช่วยลดขยะทะเล ลดความเสี่ยงที่เต่า วาฬ และสัตว์อื่นๆ จะกลืนกินถุงพลาสติกแล้วตายในที่สุด
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste บอกว่า “เราใช้เวลา 1 ปี 7 เดือน ลดไปราวๆ 2 ล้านใบ และกำลังต่อยอดขยายไปสู่ตลาดนัดจุฬา และฝั่งแพทย์ ซึ่งก่อนจะเริ่มโครงการนี้ เราเคยมีปริมาณการใช้ถุงประมาณ 130,000 ใบต่อเดือน ช่วงแรกเราเริ่มจากการรณรงค์ซื้อของน้อยไม่รับถุงได้ไหม? ก็ลดไปได้ 30%
ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมาถึงตัดสินใจงดแจกถุงฟรี แล้วเปลี่ยนเป็นเก็บเงิน 2 บาทต่อ 1 ถุงหากผู้ซื้อต้องการใช้ถุง ผลลัพธ์คือลดไปเกือบ 90% จำนวนถุงที่ใช้เหลือแค่หลักหมื่นต่อเดือน แต่ร้านสะดวกซื้อบางส่วนก็จะมีข้อยกเว้น เช่นถุงสำหรับใส่ของร้อน แต่สหกรณ์ของจุฬาฯ นี่เข้มข้นถึงขนาดไม่มีถุงให้ลูกค้าเลย”
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี
ผลสำเร็จมาจากปฏิบัติการที่ทำต่อเนื่อง
แผนปฏิบัติการของโครงการจุฬา Zero-Waste 2560 เริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นการนับตามปีงบประมาณ นี่ก็เข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว เป้าหมายเราวางไว้ 2 ส่วน ส่วนแรกตั้งเป้ากว้างๆ คือการลดขยะเหลือทิ้งไม่น้อยกว่า 30% ในสิ้นปีที่ 5 ของแผน กับอีกส่วนปรับเปลี่ยนค่านิยมองค์กรให้คนของจุฬา ตระหนัก ใส่ใจ Zero-Waste
ดร.สุจิตรา บอกว่า“โจทย์สำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรบ้างให้คนในจุฬาตระหนักถึงปัญหาลดขยะ เหตุดังกล่าวเราจึงมีการจัดประชุม สัมมนาเกี่ยวกับ Zero-Waste เพื่อให้ทุกส่วนงานคิดเหมือนกัน เมื่อก้าวมาถึงตอนนี้เราถือว่ากำลังก้าวไปได้ด้วยดี เพราะหลายส่วนงานของจุฬาฯ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เขาร่วมแสดงถึงความตระหนักลดขยะ ลดพลาสติก โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่จากภายนอกมากระตุ้นด้วย เช่นข่าววาฬบริโภคขยะพลาสติกเข้าไปโดยมีต้นเหตุจากคนที่เป็นผู้สร้างขยะทะเล เป็นต้น”
“ไม่ใช่โครงการทำแล้วจบภายในปีเดียว ผลสำเร็จเกิดจากปฎิบัติการที่พวกเราลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในช่วงปีแรกเราใช้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการก่อน แต่เข้าสู่ปีที่สองเป็นต้นมา ใช้งบของทางมหาวิทยาลัยในการทำระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในมหาวิทยาลัย”
รัฐจะทำได้สำเร็จยั่งยืน จำเป็นต้องออกกฏหมายบังคับควบคู่กัน
เมื่อมีนโยบายจากทางจุฬาฯ เราก็ได้พยายามบอกภาครัฐเสมอว่า “ออกได้แล้วในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย” เพื่อให้ห้างค้าปลีกเก็บเงิน งดแจกฟรี ซึ่งจะต้องอาศัยการออกกฎหมายเฉพาะ ซึ่งตอนนี้บ้านเรายังไม่มีกฎหมายอะไรรองรับในเรื่องนี้ ถ้าเป็นฝั่งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องออกกฎหมายเฉพาะ แต่ถ้าเป็นฝั่งของกระทรวงการคลัง เขาก็มีเครื่องมือจาก พ.ร.บ.สรรพสามิต อย่างเดียว แต่ภาษีสรรพสามิต เขาเก็บที่โรงงานอย่างเดียวที่หน้าโรงงาน แต่จะได้ผลนั้นควรจะเก็บกันที่ห้างค้าปลีก ผู้บริโภคถึงจะตระหนัก เรื่องนี้ก็มีหลายต้นแบบจากต่างประเทศที่เขาทำกันมาก่อน
“ถึงแม้ว่าโรงงานทำให้ราคาถุงพลาสติกสูงขึ้นก็จริง แต่ผู้บริโภคคงไม่ได้ตระหนักว่าราคาถุงมันแพงขึ้น ถ้าหากเขายังใช้ถุงฟรี คงจะช่วยจูงใจให้ร้านค้างดแจกถุงฟรีน้อยลง แต่ไม่ช่วยปลายทางได้สักเท่าไหร่ เราจึงเสนอว่าน่าจะมีกฎหมายมารองรับ แต่ก็อาจจะมีห้างค้าปลีกอ้างว่า market share ที่เขาใช้ถุงมีแค่ 30% ส่วนอีก 70% พวกร้านค้าตลาดสด ร้านค้ารายย่อยต่างหากที่ใช้เยอะกว่า ดิฉันอยากจะบอกว่า ร้านค้าย่อยคงให้เขาเก็บเงินจากลูกค้าคงทำได้ยากกว่า เพราะเขาไม่ได้มีระบบแคชเชียร์
ดังนั้น มาตรการบังคับร้านรายย่อยขอให้เป็นลำดับถัดไปได้ไหม ถ้าห้างค้าปลีกนำร่องก่อน แม้ได้เพียง 30% แต่ถ้าเขาทำได้ก่อน ย่อมเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร และเชื่อว่าจะเกิดเป็นกระแสสังคมงดใช้ถุงพลาสติกไปเอง และการใช้ภาษีสรรพสามิตที่เก็บหน้าโรงงานจะทำให้ราคาถุงพลาสติกแพงขึ้น ก็จะลดแรงจูงใจให้พ่อค้าแม่ค้าร้านค้าย่อยลดปริมาณใช้ถุง เรียกว่าเราต้องอาศัยหลายเครื่องมือมาช่วยกันเพื่อให้ก้าวไปสู่เป้าหมายลด-งดใช้ถุงพลาสติกที่ได้ผลอย่างยั่งยืน” ดร.สุจิตรา กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น