xs
xsm
sm
md
lg

กล่องทำปุ๋ยหมัก “ผัก Done” ปลุกวัฒนธรรมคนเมือง “กำจัดขยะอินทรีย์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปลุกวัฒนธรรมคนเมืองเห็นคุณค่าขยะอินทรีย์
เมื่อเร็วๆ นี้ Startup ชื่อผักDone กับดีไซน์อุปกรณ์เพื่อให้คนเมืองสะดวกในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์ (ขยะออร์แกนิก) เป็นปุ๋ยหมัก ได้นำอุปกรณ์ไปออกบูธแนะนำที่ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้คนเมืองลองนำไปใช้ ช่วยประหยัดเงินค่าปุ๋ยเลี้ยงต้นไม้จริงหรือไม่ และที่สำคัญกว่านั้น จะได้ตระหนักรู้ในการกินอยู่ และเห็นคุณค่าขยะที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ด้วยตนเอง
ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของคนค้นคิดกล่อง “ผัก Done” ก็คือ “อยากทำให้อาหารเหลือทิ้งในแต่ละวันมันมีคุณค่า” “อยากให้คนเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อขยะ” “อยากให้รู้ว่าขยะคือทรัพยากรที่จะช่วยเราสร้างอาหารขึ้นอีกครั้งได้”
หม่อมหลวงเต่านา
หม่อมหลวงเต่านา (มล.มิ่งมงคล โสณกุล) บุคคลหนึ่งที่สนใจและใส่ใจเรื่องมลภาวะและการจัดการขยะ เคยให้ทัศนะต่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เมื่อครั้งมาร่วมกิจกรรมอบรมเปลี่ยนขยะกับผักDone ว่า “การจะลดมลภาวะและของเสียให้ยั่งยืน หนึ่ง-ต้องทำให้มันง่ายที่สุด และสอง-ต้องไม่ให้เครียด หมายความว่าคุณต้องสนุกและมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ซึ่งถ้าคุณทำขยะ โอกาสที่คุณจะพังมันมีน้อยมาก เพราะมันเป็นของเสียเป็นขยะอยู่แล้ว ถ้าน้ำเยอะไป มันเริ่มมีกลิ่นเน่า เราก็เทน้ำออก ทำให้มันแห้งลง ให้ออกซิเจนมันเข้า มันก็หายแล้ว ความสนุกหรือความสุขมันคือการทดลองสิ่งที่เหมาะกับบ้านของตัวเอง อย่างที่บ้านทานเนื้อสัตว์เยอะ ความสุขของเราก็คือการได้ทดสอบว่า กระดูกหมู กระดูกไก่ กระดูกวัว อันไหนย่อยเร็วกว่ากัน แล้วก็ได้เรียนรู้สิ่งที่กิน อย่างขนมปังโฮลวีตแบรนด์หนึ่งย่อยช้ากว่ากระดูก แปลว่าเขาใส่สารอะไรบางอย่างมาหนักมาก ได้เรียนรู้ว่าตัวเองกินอะไรแล้วเหลือก็แสดงว่าไม่ชอบอันนั้นก็ไม่ต้องซื้อมาอีก นี่ได้เรียนรู้ตัวเองด้วยนะ”
เมื่อต้องเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เราจึงมักเริ่มต้นจากสูตรที่จำง่ายและทำได้จริง ต่อเมื่อได้ทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เราจะพบสูตรใหม่ที่เหมาะกับวิถีชีวิตของเรา สูตรเฉพาะตัวสำหรับครอบครัวสำหรับบ้านเรา หรือบางทีอาจไม่มีสูตรอะไรเลย
“สูตรช่วยให้สิ่งที่ทำง่ายขึ้น แต่ถ้าเรายึดเอาแต่สูตรมัวแต่ทำตามสูตร ความสุขของเราก็จะน้อยลง” หม่อมหลวงเต่านา กล่าวอีกว่า “การทำปุ๋ยควรต้องมีความสุข หาความสุขให้ได้จากสิ่งที่ทำ”
กล่องขนาดเล็ก เหมาะกับผู้อยู่อาศัยคนไม่มาก
“ผัก Done” มาจากไหน
โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change โครงการส่งเสริมผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ของไทย โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน Change Fusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ได้ดำเนินการเป็นปีที่ 7 (Banpu Champions for Change 7) โดยในครั้งนั้นมีหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่มีชื่อว่า “ผัก Done” เป็นหนึ่งใน 5 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกจากบ้านปูให้เป็นกิจการดีเด่น และได้รับทุนสนับสนุน 1.25 ล้านบาท เพื่อนำไปสานต่อความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้
“ขยะเป็นปัญหาที่ทุกคนรับรู้ แต่การแก้ปัญหาและการกำจัดขยะเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังมาก และที่ผ่านมาประเทศของเราไม่ได้เอื้อให้สร้างนิสัยการแยกขยะ และนำขยะกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น เราจึงอยากให้ทุกคนเห็นสิ่งที่เราเห็น กลัวผลกระทบของขยะ และร่วมลงมือแก้ปัญหาไปด้วยกับเรา ผ่านธุรกิจเพื่อสังคมของผัก Done โดยเริ่มรณรงค์ให้คนเห็นว่าสามารถกำจัดขยะได้ในทุกครัวเรือนโดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีราคาแพง ทุกคนสามารถมีหน้าที่รับผิดชอบสังคมนี้ได้ผ่านเพียงแค่เรื่องของการกำจัดขยะในแบบที่ถูกต้อง และได้ประโยชน์จากขยะ” อรสรวง บุตรนาค และ ธนกร เจียรกลมชื่น เจ้าของ“ผัก Done” กล่าว
ในกล่องวางท่อระบายอากาศ
กล่องหมักผัก Done สร้างปุ๋ยหมักอย่างไร
หลักการง่ายๆ เพียงแค่เราทิ้งขยะอินทรีย์ (เศษอาหารทั้งเนื้อสัตว์ กระดูก ผักผลไม้) ลงกล่องแล้วคลุกเคล้ากับ Compost Starter (ส่วนผสมของดินใบก้ามปู กากกาแฟ ปุ๋ยคอก ดินถุง และหัวเชื้อจุลินทรีย์ ทำหน้าที่ดูดซับความชื้น สามารถย่อยเป็นปุ๋ยได้) และโรยน้ำตาลเล็กน้อย
เศษอาหารมีทุกวัน เทใส่กล่องได้ทุกวัน พร้อมกับคลุก Compost Starter ในสัดส่วนใกล้เคียงกันแล้วปิดไว้ จนเมื่อขยะเต็มกล่องก็ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน เป็นอันใช้ได้ (คอยตรวจเช็คราวสัปดาห์ละครั้ง พร้อมคลุกเคล้า หากพบว่าชื้นเกินไปก็เพิ่ม Compost Starter และโรยน้ำตาลอีกเล็กน้อยเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีขึ้น
เราจะเห็นว่าภายในกล่องมีท่อ นั่นคือช่องให้อากาศถ่ายเท เพื่อไม่ให้ขยะที่หมักชื้นเกินไปและไม่เน่าส่งกลิ่นเหม็น ระหว่างการหมัก เปิดดูจะพบว่าอุณหภูมิสูงขึ้น และมีราขาว ถือว่าปกติ แต่ถ้าเหม็นเน่าก็ต้องเพิ่ม Compost Starter
พอครบเดือนดูว่าปุ๋ยหมักที่เราทำเองใช้ได้หรือไม่ ดูตรงที่ สภาพความเป็นขยะเศษอาหารไม่มี ยกเว้นกระดูก หรือเปลือกไม้ที่ย่อยยาก มีอุณหภูมิปกติ และส่งกลิ่นคล้ายไอฝน เหมือนกลิ่นดินในป่า
อรสรวง บุตรนาค และ “ธนกร เจียรกลมชื่น” เจ้าของ


กำลังโหลดความคิดเห็น