xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังลูกบ้า “พี่ตูน” ส่งพลังทำดีเพื่อศิริราช / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ถ้าจะมีคำถามถึงคุณค่าการมีชีวิต หรือเหตุผลที่มีชีวิตต่อไปในวันพรุ่งนี้ อย่างที่ภาษาญี่ปุ่นนิยมเรียกว่า อิคิไก (Ikigai) แต่ละคนคงมีความหมายของชีวิตที่ต่างกัน

เมื่อผมได้ชมภาพยนตร์ “2,215 เชื้อ บ้า กล้า ก้าว” ยิ่งชัดเจนในการสะท้อนตัวตนและจิตวิญญาณของนักร้องเพลงหนุ่มร่างเล็ก แต่ใจยิ่งใหญ่ด้วยจุดมุ่งหมายที่ดี เพื่อช่วยผู้ทุกข์ยาก อาทิ วราห์ คงมาลัย “ตูน บอดี้สแลม” จากคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของสังคมวันนี้

ไม่เพียงคิดดี ใฝ่ดี แต่ลงมือทำจริงอย่างมีกลยุทธ์และทุ่มเททำชนิดสุดๆ และผลงานความสำเร็จอย่างต่อเนื่องสามารถสร้างศรัทธาและการสนับสนุนร่วมมือจากคนทั่วประเทศได้อย่างน่ายินดี

ผู้คนทุกเพศวัยจึงมักเรียกขานเขาว่า “พี่ตูน” ด้วยความชื่นชม มากไปกว่าการเป็นนักร้องคนดัง แต่ยังเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสและนักวิ่งการกุศล

ตำนานของปรากฏการณ์วิ่งเพื่อระดมทุนบริจาคช่วยเพิ่มอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนเริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังจากตูนย้ายไปอยู่ที่บางสะพาน

เมื่อไปเห็นสภาพขาดแคลนของโรงพยาบาลที่นั่น นอกจากผู้ป่วยนอนตามทางเดินแล้ว เครื่องมือพื้นฐานในการรักษาก็มีไม่พอ เช่น ตู้อบทารกแรกเกิดมีแค่เครื่องเดียว จนต้องแบ่งกันใช้ เครื่องฟอกไตก็ไม่พอ คนไข้จึงต้องรอคอย

ครั้งนั้น เขาวางแผนวิ่งเดี่ยวจากรร.มัธยมที่เขาจบ จากสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่กรุงเทพฯไปจนถึงบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะทาง 400 กม.ใช้เวลา 10 วัน ในโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน” ปรากฏว่าได้รับเงินบริจาครวม 85 ล้านบาท

การวิ่งครั้งที่ 2 ของโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” เริ่มขึ้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 กับระยะทางยาวถึง 2,215 กม.ใช้เวลา 55 วัน ได้รับเงินบริจาครวม 1,413 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อเครื่องมือแพทย์ เกินกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ว่า น่าจะได้ 700 ล้านบาท (คิดจากประชากรไทย 70 ล้านคน หากบริจาคคนละ 10 บาท)

ขณะนี้การวิ่งการกุศลครั้งที่ 3 กำลังเกิดขึ้นบนจอภาพยนตร์ “2,215 เชื้อ บ้า กล้า ก้าว” ที่ได้บันทึกเรื่องราวดีๆ ความทรงจำดีๆ ที่ผู้คนทุกเพศวัยตั้งแถวรออย่างอดทนเพื่อบริจาคและเป็นกำลังใจและความห่วงใยเพื่อให้ตูนวิ่งถึงเป้าหมาย
เราได้เห็นความทรหดอดทนของตูนที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกเหนื่อยและเจ็บปวดจากกล้ามเนื้อขาบอบช้ำจนหมอที่ดูแลต้องใช้เข็มแทงเพื่อสะกิดให้กล้ามเนื้อคลายความตึงตัว จนตูนร้องโอ๊ยสุดเสียง บอกไม่ไหว...และหมอต้องยอมหยุดเมื่อผ่านไป 5 เข็ม
เรื่องจริงเหล่านี้คงสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยมาร่วมกันทำสิ่งดีๆ กันอีกครั้งนะครับ

ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย กล่าวว่า “เพื่อเป็นการขอบคุณพี่น้องชาวไทยทุกๆ คน ที่ทำให้โครงการก้าวคนละก้าว ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ผมและทีมงานได้ร่วมกับ จีดีเอช ทำภาพยนตร์คลุกวงใน เรื่อง “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” เพื่อมอบให้เป็นของขวัญแก่พี่น้องชาวไทยทุกคน เพื่อสร้างและสานต่อแรงบันดาลใจในการทำความดีเพื่อผู้อื่น โดยจะเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผมและทีมงานก้าวคนละก้าวตลอดโครงการ ซึ่งมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

พวกเราหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คนได้ลุกขึ้นมาทำตามความฝัน ได้เริ่มดูแลสุขภาพของตัวเอง และได้รับพลังงานดีๆ ที่จะทำสิ่งดีๆ ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่นต่อไป”

เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำความดี ก้าวนี้...เพื่อศิริราช ด้วยการบริจาคเพื่อหารายได้ซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพื่ออาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อาคารหลังสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามให้ เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส และ ผลิตบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ต่อไป โดยมี กลุ่มธุรกิจคิง เพาเวอร์ ร่วมสนับสนุนการฉายภาพยนตร์ เรื่องนี้ให้ชมฟรี 10 วัน ที่โรงภาพยนตร์ ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และโรงภาพยนตร์ในเครือ เอส เอฟ และตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน สามารถชมได้ในราคาบัตรลดพิเศษ

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถโอนเงินบริจาคผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ศิริราช เลขบัญชี 016-3-04556-7 กระแสรายวัน ชื่อบัญชี เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วย อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช หรือผ่านทาง คิว อาร์ โค้ด ผ่าน Mobile Banking และ SMS บริจาคครั้งละ 10 บาท โดยพิมพ์ T แล้วกด 4545099 (ทั้งนี้ สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า)

ข้อคิด...

“พี่ตูน” เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มี “เมตตา” เมื่อรับรู้ว่าสังคมไทยหลายท้องที่มีผู้ป่วยที่ทุกข์ร้อนด้วยโรคภัยที่โรงพยาบาลของรัฐยังให้บริการได้ไม่พอเพียงกับจำนวนคนไข้ อีกทั้งยังขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย

ด้วยความ “กรุณา” จึงเสริมแรงใจด้วยแรงกายเดินหน้าโครงการ “วิ่งการกุศล” เพื่อรับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศ และด้วยจิตอันเป็นกุศลและความเสียสละ ทรหดอดทนอย่างยิ่งใหญ่

ปรากฏการณ์นี้ได้ส่งผลลัพธ์เป็นแรงบันดาลใจสู่ทั้งองค์กรผู้เกี่ยวข้องและผู้คนในสังคมที่ได้ท้องถิ่นที่วิ่งผ่านจนถึงสังคมที่รับรู้จากข่าวสารให้เกิดพลังบวกมีใจใฝ่ดี ทำดีและร่วมบริจาคเงินและสิ่งของสนับสนุนโครงการวิ่งการกุศลจนสำเร็จอย่างดีงาม

ตูน บอดี้สแลม จึงเป็นแบบอย่างของการเป็น “คนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ ISR (Individual Social Responsibility) โดยมีจุดมุ่งหมาย (Purpose) ที่ต้องการระดมเงินซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนเพื่อช่วยผู้ป่วยที่รอการรักษา

อาศัยความน่าเชื่อถือจากผลงาน “ความดีสะสม” และกลยุทธ์การวางแผนจนสามารถผนึกคนเก่งทางด้านต่างๆ เข้ามาร่วมเตรียมความพร้อม ร่วมเดินหน้าแผนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบจนประสบความสำเร็จ

นี่แหละ แม้ทุกวันนี้องค์กรต่างๆ เริ่มตระหนักว่า โลกยุคใหม่จะยอมรับที่จะคบค้าและสนับสนุนกิจการที่มีพร้อมทั้งคุณภาพ ประสิทธิภาพและคุณธรรม

“เก่งไม่พอ ต้องดีด้วย”

คุณลักษณะดังกล่าวนี่เอง องค์กรต่างๆ จึงประกาศตัวว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือ CSR
แต่จะให้กระบวนการบริหารจัดการองค์กรให้มีคุณลักษณะ CSR เกิดขึ้นทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจที่สำคัญคือ ทุกคนตั้งผู้บริหารสูงสุด (CEO) จนถึงระดับพนักงานทุกสายงาน จะต้องมีความเชื่อ ความคิดและแนวปฏิบัติด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบ (Accountability)

นั่นคือ เมื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคมในแต่ละบุคคล (ISR) แล้ว CSR ซึ่งเป็นระดับองค์กรก็จะขับเคลื่อนไปอย่างเกิดประสิทธิผลที่จริงจัง เพราะจริงใจ
suwatmgr@gmail.com