xs
xsm
sm
md
lg

ปส. แจงกรณีนำเข้าปลาทะเลจากฟูกุชิมาประเทศญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครดิตภาพจาก TORU YAMANAKA / AFP
ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ เรื่องนำเข้าสินค้าประมงจากเมืองฟูกุชิมา ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ แจงที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 - 2560 ปส. ให้ความอนุเคราะห์ตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสี Cs-134 และ Cs-137 ในตัวอย่างอาหารที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นผ่านกระบวนการการสุ่มตัวอย่าง โดยกองด่านอาหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นจำนวนมากกว่า 1,000 ตัวอย่าง ซึ่งไม่พบตัวอย่างอาหารชนิดใดที่มีปริมาณกัมมันตภาพรังสีเกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

ดร. ยุทธนา ตุ้มน้อย นักชีววิทยารังสีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาด้านความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2559 ปส. ได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีของซีเซียม -134 และซีเซียม - 137 (Cs-134, Cs-137) ในตัวอย่างอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ปลาแมคคาเรล ปลาแซลมอน ปลากระพงแดง ปูอัดแช่แข็ง ปลาหมึก และหอยเชลล์ พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134, Cs-137 ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของประเทศไทย และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ปส. ได้รับตัวอย่างอาหารทะเลล่าสุดจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ปลาหางเหลืองแช่แข็ง และหอยนางรมแช่แข็ง เพื่อวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134, Cs-137 ในตัวอย่างดังกล่าว พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134,Cs-137 ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของประเทศไทย

ดร. ยุทธนา กล่าวต่อไปว่า จากผลการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีของCs-137 ในปลาทะเลจากบริเวณโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมาของห้องปฏิบัติการในประเทศญี่ปุ่น และของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ในปี พ.ศ.2557-2559พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-137ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (Bq/kg) ตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย 5 เท่า และต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียมในระดับนานาชาติ 10 เท่า (CODEX STAN 193-1995) และจากผลการติดตามตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134,Cs-137 ในอาหารทะเลจากบริเวณโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมาของ Japan Atomic Energy Agency (JAEA) ของประเทศญี่ปุ่น พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134, Cs-137 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม(Bq/kg)เช่นกัน

ปส. ได้เฝ้าระวังในเรื่องนี้อยู่เสมอ โดยทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-137 ในน้ำทะเล (จำนวน 314 ตัวอย่าง) และอาหารทะเลของประเทศ (จำนวน 277 ตัวอย่าง จาก 6 ชนิด ได้แก่ ปลาทรายแดง ปลาปากคม หมึกกล้วย หอยแมลงภู่ หอยแครง หอยนางรม) จากทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ตั้งแต่ภายหลังอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมา ในปี พ.ศ.2554 จนกระทั่งปัจจุบัน พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-137 ในสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยอยู่ในระดับปกติไม่แตกต่างจากปริมาณกัมมันตภาพรังสีของCs-137 ที่ทำการตรวจวัดก่อนอุบัติเหตุดังกล่าว รวมถึงมีปริมาณอยู่ในระดับเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (Bq/kg) คือหน่วยที่ใช้วัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีต่อกิโลกรัม สำหรับซีเซียม -134 มีค่าครึ่งชีวิตเท่ากับ2 ปี และซีเซียม - 137 มีค่าครึ่งชีวิตเท่ากับ 30 ปี เป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้ปริมาณนิวไคลด์กัมมันตรังสีในอาหาร ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 371) ที่กำหนดคือ อาหารต้องมีปริมาณซีเซียม -134 และซีเซียม - 137 รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม


กำลังโหลดความคิดเห็น