xs
xsm
sm
md
lg

เสริมศักยภาพครูช่าง ปั้นเด็กอาชีวะรองรับอุตสาหกรรม 4.0

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครูเฟิร์น และนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคแพร่
“บรรยากาศในห้องเรียนก่อนหน้านี้ เด็กไม่สนใจเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่อยากเข้าเรียน เพราะคิดว่าวิทยาศาสตร์คงเต็มไปด้วยการคำนวน ต้องจำสูตรมากมาย พวกเขาไม่คิดว่าวิทยาศาสตร์จะนำไปใช้ประโยชน์ได้”
คำบอกเล่าของครูเฟิร์น สุชาดา เค้าโคน ครูวิทยาศาสตร์แห่งวิทยาลัยเทคนิคแพร่ สะท้อนถึงปัญหาที่นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา นักเรียนส่วนใหญ่เลือกมาเรียนเพราะขยาดการเรียนทฤษฎีและการท่องจำสูตรคำนวณต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือนยาขมสำหรับพวกเขา
ครูเฟิร์น สุชาดา เค้าโคน  ครูวิทยาศาสตร์แห่งวิทยาลัยเทคนิคแพร่  ซึ่งเข้าร่วมอบรมครูต้นแบบหลักสูตร Active Physics ในโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต
เพราะบุคลากรสายอาชีพนั้นจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จึงมุ่งพัฒนาการศึกษาสายอาชีพด้วยการเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรครูผู้สอนในสถาบันอาชีวศึกษารู้จักกระบวนการเรียนการสอนแนวใหม่ที่ส่งเสริมให้นักเรียนสนใจและสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพื่อวางรากฐานการสร้างแรงงานรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
จากการประเมินของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า ความต้องการแรงงานอาชีวะของประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านคน โดยเฉพาะในสายงานด้านไอทีและวิศวกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยเชิงลึกโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนช่างเทคนิครุ่นใหม่ที่เพียบพร้อมทั้งทักษะความรู้ในการปฏิบัติงานเฉพาะทาง (hard skills) และ ทักษะทางด้านอารมณ์ (soft skills) อาทิ การสื่อสาร การแก้ปัญหา การบริหารจัดการเวลาและการทำงานเป็นทีม และความสามารถในการคิดวิเคราะห์
ครูเฟิร์น ครูอาชีวะรุ่นแรกที่ผ่านการอบรมครูต้นแบบจากศูนย์ TVET เล่าให้ฟังว่า “โครงการ Chevron Enjoy Science ได้มาจัดกิจกรรมค่ายวิชาการ STEM for TVET CAMP ที่วิทยาลัยเทคนิคแพร่ และได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่ายฯ ได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดสร้างสรรค์และประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวเองตลอดสองวันเต็ม ซึ่งต่างจากค่ายวิชาการทั่วไป ความสำเร็จของกิจกรรมในครั้งนั้น ทำให้เราได้รู้จักและตระหนักถึงกระบวนการสอนแนวใหม่ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียน ทำให้เด็กเกิดความสนุกและอยากมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น”
ต่อมา ครูเฟิร์นได้รับการคัดเลือกให้เข้าอบรมเพื่อเป็นครูต้นแบบในหลักสูตร Active Physics ซึ่งเป็นหลักสูตรสะเต็มศึกษาระดับสากลที่ออกแบบมาเพื่อสถาบันอาชีวศึกษาโดยเฉพาะ โดยเป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการสอนแบบสืบเสาะโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (a project-based inquiry approach) และแต่ละหัวข้อของกิจกรรมในหลักสูตรจะเริ่มต้นด้วยภารกิจที่ท้าทาย ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยใช้วงจรการออกแบบเชิงวิศวกรรม (Engineering Design Cycle) และความคิดสร้างสรรค์มาช่วยทำภารกิจในการทดลองให้สำเร็จ
“หลังจากที่ได้นำเทคนิคการสอนของหลักสูตร Active Physics มาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน บรรยากาศในห้องเรียนเริ่มเปลี่ยนไป นักเรียนมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อวิชาวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกิจกรรมของหลักสูตรได้เชื่อมโยงหลักวิทยาศาตร์เข้ากับชีวิตประจำวัน ทำให้นักเรียนมองเห็นภาพและคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ง่ายขึ้น จึงรู้สึกสนุกและอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น” ครูเฟิร์นกล่าวพร้อมยกตัวอย่างกิจกรรมภายในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่งให้นักเรียนได้ทำการทดลองโดยใช้สื่อการสอนของ Active Physics เพื่อเชื่อมโยงบทเรียนเรื่องความเคลื่อนที่เข้ากับอุปกรณ์เสริมสร้างความปลอดภัย ผลที่ตามมาคือ นักเรียนสามารถเชื่อมโยงทฤษฎีเข้าเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ทฤษฎีกฎของนิวตันกับการสวมหมวกกันน็อคและการขี่จักรยานยนต์ ทั้งยังสามารถคิดค้น ทดลอง และสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้โจทย์ปัญหา รวมถึงมีการถกเถียงแสดงความคิดเห็นกันภายในชั้นเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน”

บรรยากาศการอบรมครูอาชีวะในหลักสูตร Active Physics
นอกจากการนำหลักสูตร Active Physics มาปรับใช้ภายในชั้นเรียนของตนเองแล้ว ในฐานะครูต้นแบบของโครงการฯ ครูเฟิร์นยังมีภารกิจในการเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการเพื่อส่งต่อกระบวนการสอนแนวใหม่นี้ให้กับครูอาชีวศึกษาคนอื่นๆ “สิ่งที่เราไปอบรมมาไม่ได้หยุดอยู่เพียงที่ตัวเองเท่านั้น ดิฉันได้นำความรู้ไปสอนนักเรียน และยังมีภารกิจในการเผยแพร่ส่งต่อเทคนิคการสอนที่ได้อบรมมาให้ครูคนๆ อื่นได้นำไปใช้ในชั้นเรียนและสถาบันอื่นๆ ด้วย ทำให้รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีวะศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ดิฉันเชื่อว่าเด็กอาชีวศึกษา ถ้ามีทั้งทักษะและความรู้ จะเหมือนเป็นการติดอาวุธให้พวกเขาเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต”
อาทิตย์ กริธพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า “เชฟรอนมีเจตนารมณ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนา ‘พลังคน’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยผ่านทางการสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเพื่อพัฒนาแรงงานวิชาชีพให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย ซึ่งนับถึงปัจจุบันที่โครงการฯ กำลังก้าวสู่ปีที่ 4 ได้จัดตั้ง TVET Hub ไปแล้วจำนวน 4 แห่ง พร้อมจัดอบรมให้กับครูและนักเรียน ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการผลิตบุคลากรคุณภาพในสายอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถจัดตั้งศูนย์ TVET Hub ได้ 6 แห่งทั่วประเทศ สร้างประโยชน์ให้กับสถาบันอาชีวศึกษากว่า 60 แห่ง อบรมเชิงปฏิบัติการครูกว่า 1,800 คน และมีนักศึกษาสายอาชีวะและแรงงานได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 138,000 คน”
ชมวิดีโอเรื่องราวแรงและบัลดาลใจของครูเฟิร์น สุชาดา เค้าโคน ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=IW91hNdbl6s
อาทิตย์ กริธพิพรรธ


กำลังโหลดความคิดเห็น