xs
xsm
sm
md
lg

WWF ยัน “เสือดำ” ติดหนึ่งในสัตว์ป่าลักลอบซื้อขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟซบุ๊ก WWF-Thailand
ถ้าย้อนไปดูรายงาน 10 อันดับสัตว์ป่าที่มีการลักลอบซื้อขายมากที่สุด จัดทำโดย WWF (เมื่อ 2 พ.ย.2560) ทาง http://www.wwf.or.th/ จะเห็นว่า “เสือดาว” ซึ่งคือเสือดำ (จริงๆ แล้วเป็นสัตว์ในครอบครัวเดียวกัน (Panthera pardus) แม้ว่าจะมีสีที่แตกต่างกันก็ตาม) อยู่ในข่ายสัตว์ป่าที่นิยมลักลอบซื้อขาย
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดเผยว่า เสือโคร่ง ช้าง หมี และตัวลิ่ม ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสัตว์ป่าที่มีการลักลอบซื้อขายกันมากที่สุด 4 อันดับแรก ในเขตสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างสามประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และเป็นพื้นที่การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างเสรี ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค โดยสัตว์ที่นิยมซื้อขายรองลงมา คือ แรด เลียงผา นกเงือก กระทิง เสือดาวและเต่า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งสิ้น
รายงาน 10 อันดับสัตว์ป่าที่มีการลักลอบซื้อขายมากที่สุด จัดทำโดย WWF และอ้างอิงข้อมูลจากองค์กร TRAFFIC ซึ่งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยการสำรวจตลาดลักลอบค้าสัตว์ป่า ร้านขายสินค้าจากสัตว์ป่า และร้านอาหารที่มีเมนูสัตว์ป่าในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ พบว่า การซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เป็นภัยคุกคามชีวิตสัตว์ป่าทั่วทั้งทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ลูกค้าหลักที่สำคัญคือ นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวเวียดนาม ซึ่งนิยมเดินทางมาซื้อสินค้าจากสัตว์ป่าที่ตลาดเมืองลา (Mong-La) และตลาดท่าขี้เหล็กในประเทศเมียนมาร์ หรือตลาดใกล้ชายแดน เช่น ตลาดบ่อเต็น และเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศลาว
Chrisgel Cruz ที่ปรึกษาทางเทคนิคด้านการค้าสัตว์ป่า ประจำ WWF ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า “สัตว์ป่าจำนวนมากอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ปัจจัยหลักเกิดการจากค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก พื้นที่ชายแดน เช่น สามเหลี่ยมทองคำเป็นจุดที่การลักลอบค้าขายเหล่านี้แพร่หลายมากที่สุด และเราต้องหาวิธีการหยุดยั้งความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้”
พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเป็นเส้นทางลักลอบขนส่งและซื้อขายเสือโคร่งตามธรรมชาติ และเสือโคร่งจากฟาร์มส่งป้อนให้กับภัตตาคารร้านค้า ซึ่งจะนำกระดูกเสือโคร่งไปดองเหล้า หรือนำเนื้อไปประกอบอาหาร รวมถึงการแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับราคาแพง ขณะที่ความต้องการหนังช้างตากแห้ง และงาช้างก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนคุกคามความอยู่รอดของช้างในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ส่วนฟาร์มหมี ซึ่งเป็นที่นิยมเปิดกันอย่างแพร่หลายในภูมิภาค ก็ทำให้หมีหมา (Sun Bears) และหมีควาย (Asiatic Black Bears) ตามธรรมชาติถูกจับมาขังมากขึ้นเรื่อยๆ ฟาร์มหมีเหล่านี้ จะนำหมีมารีดน้ำดี เพื่อสกัดเป็นยา ที่เชื่อว่าจะรักษาโรคต่างๆ ได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่หลักฐานทางการแพทย์รับรองความเชื่อดังกล่าว
ในกรณีเสือดำถูกลักลอบฆ่า ก่อนหน้านี้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของนายเปรมชัย กรรณสูต และพวก (เมื่อ 4 ก.พ.2561) ตามที่ปรากฎเป็นข่าวเสือดำถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการดำเนินการสืบสวนและพิจารณาข้อกล่าวหาของนายเปรมชัย กรรณสูต และพวก อย่างเข้มงวดตามกระบวนการยุติธรรม และดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดโดยไม่มีข้อยกเว้น
ด้วยคุณค่าของเสือดำ ถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และ IUCN ได้ให้สถานภาพการอนุรักษ์ไว้ในระดับ “สีแดง” คืออยู่ในสถานะ "สัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์” อีกทั้งมีคุณค่าต่อระบบนิเวศต่อผืนป่า “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร”


กำลังโหลดความคิดเห็น