xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงอุตฯ ออกโรงแจงข้อเท็จจริงฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ย้ำตระหนักมลพิษ ยันคุมเข้มโรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากการที่กลุ่มกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนปี 2560 โดยอ้างอิงการรายงานข้อมูลของสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ 19 สถานีทั่วประเทศ พบว่า 14 จังหวัด มีผลการตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน เกินค่าคำแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกนั้น

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองดังกล่าว ได้สั่งการให้หน่วยงานพื้นที่ 14 จังหวัด ในจุดที่เป็นตั้งของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุและแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็กในช่วงเวลาเดือนมกราคม - มิถุนายน 2560 ซึ่งได้ข้อมูลเชิงพื้นที่ว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งของภาคการเกษตรและการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝน การเผาขยะชุมชน และการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ ตลอดจนช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงฤดูแล้งสภาพอากาศนิ่งและแห้งเป็นเวลานาน ทำให้เกิดฟุ้งของฝุ่นละอองสะสมในชั้นบรรยากาศบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลที่สรุปแหล่งก่อกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนี้ การเผาเศษวัสดุในที่โล่งก่อให้เกิดฝุ่น 58% ภาคขนส่ง15% ภาคอุตสาหกรรม18% และการผลิตไฟฟ้า8% ซึ่งการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นไม่สามารถสรุปปริมาณการก่อกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ แต่เพื่อให้เป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตรวจสอบมลพิษฝุ่นละอองเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) พบข้อเท็จจริง 3 ข้อ

1. การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออกทั้งขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนและขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งฝุ่นละอองเหล่านี้ระบบอุปกรณ์ขจัดมลพิษทางอากาศ เช่น ถุงกรองเครื่องจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต หรือระบบขจัดก๊าซซัลเฟอร์ จะสามารถลดปริมาณฝุ่นละอองก่อนที่จะปล่อยสู่อากาศได้มากถึงร้อยละ 99 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนเดียวที่มีการกำกับดูแลทั้งพฤตินัยและนิตินัย มีการกำกับดูแลการระบายมลพิษและมีการลงโทษตามกฎหมายเมื่อผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน

2. จากผลการศึกษาของหน่วยงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศสหรัฐอเมริกา U.S EPA (Guideline on Speciated Particulate Monitoring) พบว่าฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศใกล้แหล่งอุตสาหกรรม ไม่ได้เกิดจากการระบายอากาศจากปล่องของโรงงาน แต่เกิดจากกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่สามารถระบุแหล่งกำเนิดได้อย่างชัดเจน เช่น การลำเลียงขนส่ง เป็นต้น

3. ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ จากปฏิกิริยาแสงอาทิตย์กับออกไซด์ของไนโตรเจน สารอินทรีย์ระเหย และก๊าซโอโซน ที่มีอยู่แล้วในอากาศตามธรรมชาติ ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดตามธรรมชาตินี้ มีปริมาณที่ไม่แน่นอนไม่สามารถระบุจำนวนมากน้อยในแต่ละพื้นที่ได้

กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงปัญหามลพิษดังกล่าวมาโดยตลอด โดยได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เข้มงวดในการกำกับ ดูแล สถานประกอบการอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนการปรับปรุงกฎหมายโรงงาน ปี 2561 - 2564 เพื่อการลดมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม เช่น ปรับปรุงค่ามาตรฐานปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้า และโรงงานที่ใช้และผลิตสารอินทรีย์ระเหย เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้สถานประกอบการอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น