xs
xsm
sm
md
lg

แนวร่วมต้านโกง ขยายตัวไม่ผ่านเกณฑ์-ไม่ซื้อหุ้น/ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ระยะนี้สังคมได้รับรู้ข่าวการพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบหรือการคอร์รัปชัน เป็นคดีดังให้คนติดตามอยู่เรื่อยๆ
ไม่ว่าบางคดีจะใช้เวลานานหลายปีหรือเร็วไม่ทันใจผู้คน แต่ในระยะนี้ก็มีทั้งนักการเมืองและข้าราชการหลายราย รวมทั้งมีนักธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีและศาลตัดสินเรื่องการทุจริต ไม่ว่าจะถูกลงโทษหรือหลบหนีคดีไปได้

นั่นก็เป็นการยืนยันกฎกติกาของกระบวนการยุติธรรมและความแน่นอนของ “กฎแห่งกรรม”

ความเคลื่อนไหวของวงการธุรกิจ โดยเฉพาะสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ที่มุ่งส่งเสริมเรื่องธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือการกำกับกิจการที่ดี โดยเฉพาะการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อไม่ไปมีส่วนสนับสนุนการโกงของนักการเมืองและข้าราชการ

ดร.บัณฑิต นิจถาวร ผู้บริหารสูงสุดของ IOD ในฐานะ “เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ CAC ได้มีมติรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด โดย ณ สิ้นเดือนสิงหาคมศกนี้ เพิ่มขึ้นอีก 34 บริษัท รวมเป็น 264 บริษัท
สรุปรวมเวลา 7 ปีของโครงการนี้ มีกิจการเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ยืนยันว่าไม่รับ ไม่จ่ายสินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC รวมทั้งสิ้น 846 บริษัท แยกเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 403 บริษัท (คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมถึงกว่า 80%) และเป็นกิจการนอกตลาด 443 บริษัท

“บริษัทที่ผ่านการรับรองในรอบนี้ มีทั้งธุรกิจในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ มีทั้งบริษัทจดทะเบียนและบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทในเครือของธุรกิจข้ามชาติด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนต่างก็ตื่นตัวและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางระบบป้องกันการทุจริต และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบการทำธุรกิจในประเทศไทยให้โปร่งใส ปราศจากการคอร์รัปชัน” ดร. บัณฑิต สรุปให้ฟัง
บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นความสมัครใจ โดยการประกาศเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านการคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่มีการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทได้กำหนดนโยบายและมีแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์
เป็นการรับรองว่าบริษัทนั้นมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน แต่นี่ไม่ได้เป็นการรับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัทนั้น
CAC เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2553 โดยมีบริษัทร่วมประกาศเจตนารมณ์ตอนเริ่มแรกเพียง 27 บริษัทจนถึงปัจจุบันผ่านมา 7 ปี จำนวนบริษัทที่ประกาศตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 845

ปัจจัยเอื้อที่ทำให้มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการCAC เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็คือ
•ธุรกิจที่เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์เป็นกลุ่มจากสถาบัน เช่น สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการกองทุน สมาคมประกันชีวิต สมาคมประกันวินาศภัย
•ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เช่น ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรหรือสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ที่ได้ส่งตัวแทนเป็น “อาสาพิทักษ์สิทธิ์ผู้ถือหุ้น” เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของทุกบริษัท และหนึ่งในคำถามที่กรรมการจะถูกถามก็คือ แผนการเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์และการขอการรับรองจาก CAC
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีหลายบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC แล้ว และพยายามทำตัวเป็นChange agent ด้วยการชักชวนให้คู่ค้าเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC ด้วย เช่น PTT BCP และ SAT ซึ่งแต่ละบริษัทก็ได้ส่งเสริมให้ธุรกิจในซัปพลายเชนเข้ามาร่วมโครงการ CAC แล้วเป็นจำนวนหลายสิบบริษัท

ตัวอย่างที่โดดเด่นคือกรณี บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT)
ได้กำหนดแผนขยายแนวร่วมในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันไปยังพันธมิตรธุรกิจ โดยทำต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 มีการจัดอบรมให้บริษัทคู่ค้าเข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าหมาย และถึงขนาดจัดพิธีมอบหนังสือรับรองเข้าเป็นแนวร่วมมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทในกลุ่มสมบูรณ์ไปแล้วจำนวน 78 บริษัท โดยคัดเลือกบริษัทคู่ค้าที่มีอัตราการหมุนเวียนในการซื้อขายต่อปี 50 ล้านบาทขึ้นไป ให้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับสมบูรณ์กรุ๊ป (SBG)
ต่อมาในปี 2559 ก็ได้ผลักดันให้บริษัทคู่ค้าของกลุ่มสมบูรณ์กรุ๊ป ข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต้านโกงกับ CAC จำนวน 88 บริษัท และผู้บริหารบริษัทฯได้เข้าเยี่ยมชมบริษัทคู่ค้าที่ได้เข้าร่วมการประกาศเจตนารมณ์ และเข้าเป็นแนวร่วมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกับ SBG เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและติดตามความคืบหน้าในการเข้าร่วมโครงการนี้อย่างใกล้ชิด
ตัวบริษัทสมบูรณ์ฯเองก็ได้รับการรับรองการต่ออายุสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน (CAC- Recertification) เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
สำหรับนี้ปี 2560 สมบูรณ์กรุ๊ปได้กำหนดแผนการขยายแนวร่วมโครงการมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันไปยังพันธมิตรทางการค้า โดยบริษัทคู่ค้าต้องเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ SBG ในโครงการมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน โดยทุกบริษัท 100% ซึ่งในขณะนี้มีถึง 370 บริษัทแล้ว

ข้อคิด...
กระแสสังคมปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น เพราะเป็นรากเหง้าของปัญหาสังคมและการเมืองไทย ทำให้การพัฒนาขาดคุณภาพ ขาดประสิทธิภาพ เพราะการตัดสินใจของผู้มีอำนาจหน้าที่อาจเป็นนักการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อฉล โดยมิได้ตัดสินใจเลือกวิธีการหรือการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อประโยชน์และความคุ้มค่าของหน่วยงานและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
ภาคธุรกิจที่ต้องติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยราชการก็มักถูกครอบงำด้วยกฎกติกาที่กระทำด้วยผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือพวกพ้องเป็นหลัก แทนที่จะคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล คือความสุจริต ถูกต้อง เป็นธรรมและโปร่งใส
พฤติการณ์การทุจริตคอร์รัปชัน จึงทำให้ผู้ที่ยอมสยบรับใช้ได้ผลประโยชน์และร่วมงานด้วย ผลร้ายที่ตามมาคือการลดคุณภาพและฉ้อราษฎร์บังหลวงเพื่อถอนทุน นี่แหละความไม่เป็นธรรมและเป็นตัวบั่นทอนการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกทั้งทำลายขีดความสามารถในการแข่งขัน
เราได้เห็นตัวอย่างการรับผลกระทบจากคำพิพากษาคดีทุจริตหลายกรณีที่มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องเป็นตัวอย่างการลงโทษสิ่งเลวร้าย
น่ายินดีที่เกิดกระแสการสร้างแนวร่วมที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในวงการธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวจ่ายเงินแก่ขบวนการทุจริต
มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าสังคมและนักลงทุนก็ให้คุณค่าความสำคัญกับการดำเนินการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทธุรกิจ ก็คือ “กองทุนธรรมาภิบาล” ที่สมาคมบลจ.เพิ่งออกมาประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า บลจ. 11 แห่งจะพากันจัดตั้งกองทุน CG ขึ้นมา บลจ.ละหนึ่งกอง ซึ่งกองทุนนี้จะเลือกลงทุนเฉพาะในหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาล (CGR) ระดับสี่ดาวขึ้นไป และผ่านการรับรองจาก CAC แล้วเท่านั้น
สังคมยุคเทคโนโลยีข่าวสารยุคนี้ส่งผลให้กระแสการไม่ยอมรับคนโกงและไม่คบค้า หรือลงทุนในกิจการที่ขาดธรรมาภิบาลเริ่มแรงขึ้น ทุกฝ่ายต้องปรับตัวใฝ่ดีนะครับ

suwatmgr@gmail.com

รายชื่อ 34 บริษัทที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 2/60


1. บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท อีซี่บาย จำกัด (มหาชน)
4. บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)
9. บริษัท เอเชีย เสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
10. พี.ซี.เอส. แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
11. บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน)
12. ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
13. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
14. บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)
15. บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
16. บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน)
17. บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
18. บริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน)
19. บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
20. บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด
21. บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน)
22. ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
23. บริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน)
24. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
25. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
26. บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด
27. บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
28. บริษัท ทีเอ็ม โบรคเกอร์ จำกัด
29. บริษัท เอ็มที เซอร์วิส 2016 จำกัด
30. บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
31. บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)
32. บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
33. บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน)
34. บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น