xs
xsm
sm
md
lg

ธพว.ตอบโจทย์ความยั่งยืน มุ่งพัฒนาต้นแบบ SME4.0

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธพว.รุกปั้นเอสเอ็มอี 4.0วาง 5 กลยุทธ์หลัก โชว์ต้นแบบจิ๋วแต่แจ๋ว
ชูผู้ประกอบการ ”แพห้าร้อยไร่ - เรือหางยาว” ทะเลสาบเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ฯ นำร่อง
เน้นบทบาทขับเคลื่อนเอสเอ็มอีด้วยการพัฒนา เน้นสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจบนแนวทางประชารัฐ
เร่งเดินหน้าสู่การสร้างเขตเศรษฐกิจที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

สมชาย  หาญหิรัญ  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  ฐานะประธานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ในนามประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank)
การจะทำให้เอสเอ็มอีอยู่รอด นอกจากการช่วยเหลือในด้านเงินทุน ต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาใน 3 ด้านสำคัญ นั่นคือด้านการจัดการ การตลาดและการผลิต เพราะตามปกติเอสเอ็มอีแต่ละรายมีความเก่งเป็นเรื่องๆ ไป และมีภูมิคุ้มกันน้อย หากเปรียบเป็นต้นไม้ก็เหมือนกับต้นกล้าที่ยังไม่แข็งแรง ดังนั้น เมื่อมีลมแรงหรือพายุพัดมา คือการพบเจอกับความผันผวนหรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทันตั้งตัว ก็ยากที่จะยืนต้นอยู่ได้และจำเป็นต้องมีไม้ค้ำยัน นั่นก็คือ 3 เรื่องหลักดังกล่าวที่เป็นตัวช่วยให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีอยู่รอดได้ โดยต้องลงลึกไปในเรื่องต่างๆ เช่น เทคนิคการผลิตที่นำไปสู่คุณภาพและมาตรฐาน การใช้สื่อออนไลน์ ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เป็นธุรกิจที่เรียกได้ว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” และสามารถก้าวไปในแบบ ”มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank (SME Bank) กล่าวถึงแนวทางในการผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยของเอสเอ็มอีแบงก์ในวันนี้
การพัฒนาผู้ประกอบการจึงเป็นบทบาทสำคัญของธพว.ที่ต้องทำอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นต้นแบบธุรกิจในวันนี้ รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ธพว.ผลักดันเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เริ่มจากการให้แต่ละจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นเลขานุการ และธพว.เป็นผู้ช่วยเลขาฯ กำหนดคัดกรองกิจการที่แต่ละจังหวัดต้องการจะสนับสนุนหรือต้องการให้มีหรือให้เป็น ซึ่งต้องสอดคล้องกับทั้ง 3 หัวข้อนี้คือ ข้อแรก ต้องสอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่รัฐบาลประกาศเป็นอุตสาหกรรม S Curve หรือที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ข้อสอง เป็นกิจกรรมที่จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดสนับสนุนอย่างเร่งด่วน และข้อสาม เป็นการตกลงเห็นชอบร่วมกันระหว่างภาคีคือ รัฐและเอกชนหรือชุมชน
ข้อดีของแนวทางประชารัฐ ทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน ภาคเอกชนในจังหวัดนั้นๆ เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดและภาครัฐ 13 หน่วยงาน รวมทั้งสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการยกระดับหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จึงต้องคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพหรือมีความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเกิดผลสำเร็จอย่างแท้จริง
มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.)
สร้างจุดแข็งด้วย 5 กลยุทธ์
“แพ 500 ไร่” จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในกิจการต้นแบบที่มีโมเดลการทำธุรกิจที่ดี นั่นคือการมี 5 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1. มีความทันสมัย (Modern) 2. มีเรื่องราว (Story) 3. มีการดีไซน์ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค (Design) 4. มีมาตรฐาน/มีคุณภาพ (Certify) และ 5. มีการใช้ออนไลน์ (Online)
ด้วยการพัฒนาแพที่พัก 14 หลัง ซึ่งรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณหลังละ 80 คน มีความแตกต่างจากแพที่พักแบบเดิม โดยนำทั้ง 5 กลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้ เริ่มจากการสร้างสรรค์แพที่พักที่มีความทันสมัย การนำเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่น เช่น ความเป็นมาของพื้นที่คือทะเลสาบขนาดใหญ่ที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ฯลฯ มาบอกเล่าเชื่อมโยงกับแพที่พัก การออกแบบกิจกรรมเพื่อดึงดูดและสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว เช่น สามารถลงเล่นน้ำในสระส่วนตัวในแพที่พัก สามารถล่องเรือจิบกาแฟยามเช้าท่ามกลางทะเลสาบที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติอันสวยงาม สามารถนอนชมดวงดาวนับหมื่นดวงบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ฯลฯ การให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่มีการทิ้งของเสียหรือขยะลงในทะเลสาบ การทำความสะอาดซักล้างทั้งเสื้อผ้าและจานชามจะนำขึ้นมาจัดการบนบก และมีการบำบัดน้ำเสียอย่างดี รวมทั้ง อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำธุรกิจยุคนี้คือการใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงลูกค้า โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมามีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กมากถึง 8 แสนกว่าราย
ด้วยการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้แพที่พักแห่งนี้สามารถยกระดับราคาที่พักจากแพแบบเดิมที่ราคา 600 บาทต่อคนต่อคืน เป็นราคา 6,000 บาทต่อคนต่อคืน โดย 80% ของนักท่องเที่ยวที่เข้าพักเป็นคนไทย ยิ่งกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการแพที่พักรายอื่นปรับปรุงแพที่พักของตนเองและสามารถปรับราคาได้เพิ่มขึ้นจาก 600 บาท เป็น 1,200 บาท ถือเป็นการยกระดับธุรกิจโดยรวมได้อย่างดี
ขยายผลการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดความสำเร็จดังกล่าวไปสู่ผู้ประกอบการเรือหางยาว ซึ่งเดิมมีข้อเสียมากมาย ทั้งการทำลายสิ่งแวดล้อม การส่งเสียงดัง ความไม่ปลอดภัยในการใช้บริการ มีผู้เสียชีวิตจากการใช้บริการทุกปี ฯลฯ โดยเริ่มจากการจัดอบรมซึ่งในครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมเพียง 7 รายเท่านั้น จากผู้ประกอบการเรือหางยาวที่มีการจดทะเบียนประมาณ 100 ราย แต่เพื่อให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการผลักดันผู้ประกอบการ จึงระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้องค์ความรู้และเพิ่มความเข้าใจในการพัฒนากับผู้ประกอบการที่มาเข้าร่วม เช่น กรมเจ้าท่ามาอบรมเรื่องกฎระเบียบ กระทรวงสาธารณสุขมาอบรมเรื่องการปฐมพยาบาล เป็นต้น พร้อมทั้งมีการให้ใบรับรองผู้ผ่านการอบรมและมอบเสื้อเป็นสัญลักษณ์ นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยกู้เพื่อปรับปรุงเรือ พร้อมทั้งส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน และการนำกำไรที่ได้ไปสร้างอาชีพหรือรายได้เพิ่มอีก เช่น การเพาะเห็ด เป็นต้น เป็นการยกระดับผู้ประกอบการเรือหางยาวได้อย่างดี
ด้วยการพัฒนากิจการแพที่พักและเรือท่องเที่ยวดังกล่าว ส่งให้นักท่องเที่ยวแพที่พักบริเวณทะเลสาบเชี่ยวหลานเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนคนในปี 2558 เป็น 3 แสนคนในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5 แสนคนในปี 2560 แต่หากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากกว่านี้จำเป็นต้องขยายไปยังแหล่งอื่น โดยมีแผนจะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งอุทยานแห่งชาติเขาหลัก จังหวัดพังงา เกาะภูเก็ต เกาะสมุย และเกาะพะงัน ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism)
ในการพัฒนาที่พักที่เกาะพะงัน มีแนวคิดจะทำโฮมสเตย์มีการแยกประเภทบ้าน เช่น บ้านอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นบ้านเก่าที่มีความสวยงาม มีคุณค่าทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ชาวบ้านยังต้องการเพิ่มมูลค่ามะพร้าวจากปกติลูกละสิบบาท จึงขอคำปรึกษาไปที่โครงการสมุนไพรพระดาบส เกิดการแปรรูปเป็นน้ำมันมะพร้าวบริสุทธ์นำไปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างดี เช่น น้ำมันนวดในสปา หรือเมื่อคำนวณมะพร้าว 6 แสนต้น สามารถให้ผลผลิตต้นละ 90 ลูกต่อต้นต่อปี คิดเป็น 54 ล้านลูก หากขายได้ลูกละ 10 บาท จะสร้างรายได้ 540 ล้านบาท แต่ถ้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ถึงลูกละ 500 บาท ก็จะสร้างรายได้ถึง 2.7 หมื่นล้านบาท
“การสร้างชุมชนด้วยแนวคิดแบบนี้จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมหาศาลเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับหมื่นล้านได้แน่นอน นี่คือกระบวนการสร้างอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ และเป็นการสร้างเขตเศรษฐกิจที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนได้อย่างดี”
การบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวฯ พัฒนาชุมชน ฯลฯ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือผู้ประกอบการในชุมชนที่มีความแข็งแกร่งและเข้าใจในแนวทางนี้ เพราะหากคัดเลือกผู้ประกอบการที่อ่อนแอและไม่เข้าใจจะยากที่จะทำให้โครงการบรรลุผลสำเร็จได้ ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้ต้องการสร้างรูปแบบธุรกิจที่เป็นต้นแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตนเองได้อย่างดี เพราะการพัฒนาเป็นเรื่องระยะยาวต้องมองไปไกลๆ จึงจำเป็นต้องเลือกคนที่มีศักยภาพและมีความพร้อม ผู้ประกอบการหรือชุมชนต้องเข้าใจว่าการทำให้แนวคิดนี้สำเร็จได้ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือวิถีชีวิตของชุมชนเป็นต้นทุนสำคัญที่ต้องดูแลรักษาและรู้ถึงคุณค่าเพื่อจะสามารถจัดการให้ดีได้

เพิ่มโอกาสจาก AEC
สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อขยายธุรกิจในกลุ่ม CLMV นับเป็นเป้าหมายสำคัญต่อไปที่ธพว.จะดำเนินการผลักดันเนื่องจากเป็นตลาดที่มีโอกาสอย่างมาก เช่น แรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีความคุ้นเคยกับสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย รวมทั้งวิถีชีวิตแบบไทย ดังนั้น เมื่อเดินทางกลับบ้านจะนำสินค้าต่างๆ ของไทยกลับไปด้วย จึงมีคำว่า “นำออก” สินค้าต่างๆ ที่มีการนำออกไปนับเป็นมูลค่ามหาศาล ประเทศไทยจึงมีความได้เปรียบและต้องเร่งดำเนินการ เพราะผู้บริโภคหรือตลาดในกลุ่ม CLMV รู้จักสินค้าไทยอย่างดี โดยต้องสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ไปทำการค้าในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน ต้องยกระดับสินค้าประเทศเพื่อนบ้านให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ การพัฒนาผู้ประกอบการของเอสเอ็มอีแบงก์ใช้แนวทางจากบนลงล่าง (Top Down) ด้วยการมอบหมายให้ระดับผู้บริหารลงไปทำงานแบบเจาะลึกเข้าถึงผู้ประกอบการฯ เพื่อขับเคลื่อนการสนับสนุนผู้ประกอบการฯ ได้อย่างรวดเร็ว และเริ่มจากการพัฒนาแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการฯ เพราะเมื่อผู้ประกอบการฯ มีแนวคิดที่ถูกต้องจะก่อเกิดหรือสามารถสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจที่มีโอกาสหรือแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างมาก




จุดเด่น 'แพ 500 ไร่'
จากเว็บไซต์ของ “แพ 500 ไร่” ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาและการบริการของแพฯ ไว้ว่า แพ 500 ไร่เดิม ตั้งอยู่บริเวณทะเลใน 500 ไร่ตรงข้ามกับถ้ำปะการัง ซึ่งการเดินทางไปแพ 500 ไร่ เดิมนั้นต้องเดินข้ามภูเขา ซึ่งเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร แพ 500 ไร่เน้นกลุ่มลูกค้าที่รักความสงบ ชอบความเป็นส่วนตัว และรักธรรมชาติเป็นสำคัญ ต่อมาเพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้ทุกเพศทุกวัย จึงได้ย้ายที่ตั้งมาตั้งอยู่ใกล้ๆ กับต้นน้ำของเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งทำเลใหม่นี้มีจุดเด่นที่เป็นอ่าวส่วนตัว พื้นน้ำใสสะอาดสีเขียวเข้มและอ่อนสลับไปมา วิวทิวทัศน์ภาพภูเขาหินปูนแบบพานอรามาเหมือนภาพวาด และมีแหล่งท่องเที่ยวแทบทั้งหมดอยู่รายล้อม รวมถึงสายหมอกยามเช้า แทบจะกล่าวได้ว่า “ตลอดทั้งปี” เลยทีเดียว
จุดเด่น - ”แพ 500 ไร่” เป็นแพห้องพักที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ที่อยู่ไกลที่สุดจากท่าเรือ แต่ใกล้กับต้นน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานที่คลองพะแสง แพแห่งนี้ถูกล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติที่งดงาม การเดินทางมาพักผ่อนที่นี่ก็ทำได้สะดวกสบาย สามารถจอง package ห้องพักที่รวมการเดินทางจากสนามบิน การเดินทางทางเรือ ห้องพัก และอาหารทุกมื้อ รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว ไปชมความสวยงามตามจุดสำคัญต่างๆ ภายในเขื่อนเชี่ยวหลาน
ความเป็นส่วนตัว - “แพ 500ไร่” ได้รับการออกแบบให้ทางเดินอยู่ด้านหลังห้องพัก เพื่อให้ความเป็นส่วนตัวสูงสุด อีกทั้งยังมีเรือคายัคส่วนตัวประจำห้องพักทุกห้องอีกด้วย
ความสงบ - “แพ 500 ไร่” ออกแบบการจัดวางห้องพัก ร้านอาหาร รูปแบบการให้บริการและลักษณะกลุ่มลูกค้าที่เข้าพัก ที่เน้นการพักผ่อนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ ล้วนแต่ช่วยให้บรรยากาศในแพสงบ เหมาะสำหรับการพักผ่อน อ่านหนังสือ พายเรือ เล่นน้ำ อย่างที่สุด
ความสวยงาม - การออกแบบห้องพักทุกหลังของแพ 500 ไร่ ทำให้สามารถชมวิวทิวทัศน์จากภายในห้องพัก และหน้าระเบียงห้อง สามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของบรรยากาศอันเป็นธรรมชาติ และหมอกยามเช้า แบบ 360 องศา อีกทั้งแพ 500 ไร่ยังเป็นแพที่ตั้งอยู่ไกลสุด จึงไม่มีเสียงของเรือมารบกวนการพักผ่อน ดังนั้น ลูกค้าทุกท่านสามารถชื่นชมความสวยงามได้อย่างเต็มที่
ความสมบูรณ์ - ตำแหน่งที่ตั้งของแพ 500 ไร่ ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของธรรมชาติ และจุดท่องเที่ยวอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของเขื่อนเชียวหลาน เช่น น้ำตกแปดเซียน ถ้ำน้ำทะลุ ถ้ำปะการัง จุดชมวิวมุมสูงที่สวยที่สุด อีกทั้งบริเวณรอบๆ แพสามารถล่องเรือชมวิถีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น วัวกระทิง กวาง ช้างป่า เสือลายหินอ่อน นกเงือก และสัตว์ป่าอีกหลายชนิด รวมถึงสายหมอกยามเช้าที่พาดผ่านเทือกเขาหินปูนกลางน้ำ
ความสะอาด - “แพ 500 ไร่” คำนึงถึงความสะอาดเป็นประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณห้องพัก ร้านอาหาร และทุกบริเวณของแพ รวมถึงบริเวณรอบๆ แพ อีกทั้งยังมีระบบการจัดการน้ำเสีย ระบบเพื่อความสะอาด ขนส่งขยะจากแพขึ้นไปบนฝั่ง ภายในห้องพักและร้านอาหารยังมีระบบบำบัดน้ำเสีย รายละเอียดทุกอย่างนี้ ก็เพื่อเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อม
ความปลอดภัย - “แพ 500 ไร่” ให้ความสำคัญสูงสุดในด้านความปลอดภัยของลูกค้า ตั้งแต่การออกแบบลักษณะห้องพักซึ่งคำนึงถึงความคงทนแข็งแรงและเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ อีกทั้งบุคลากรทุกคนบนแพได้ผ่านการฝึกอบรมเป็นอย่างดี มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยในแพตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการจัดเตรียมเสื้อชูชีพที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยว โดยประจำทุกส่วนในการให้บริการลูกค้าตั้งแต่บนเรือและทุกห้องพักบนแพ นอกจากนี้ ยังมีระบบวิทยุสื่อสารที่ดีที่สุดสามารถครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในเขื่อน รวมถึงเรือสำรองฉุกเฉิน ทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยสูงสุดให้กับลูกค้าทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
กำลังโหลดความคิดเห็น