xs
xsm
sm
md
lg

มศว.-ไนส์คอร์ป ประสานขับเคลื่อน BCORP มาตรฐานโลกที่แสดงข้อมูลด้านการพัฒนายั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



“ธุรกิจสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม” หรือ BCORP (Benefit Corporation) ผ่านการรับรองมาตรฐาน BCORP จะเป็นเครื่องหมายสากลสะท้อนถึงมาตรฐานที่ดีในการบริหารธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังแสดงคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไปพร้อมๆ กัน เผยธุรกิจกว่า 2,140 องค์กร จาก 50 ประเทศทั่วโลก ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานนี้ และสอดคล้องกับโรดแมปการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยุคไทยแลนด์ 4.0

มาตรฐาน BCORP สะท้อนในมิติสังคม 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ธรรมาภิบาล พนักงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม โดยองค์กรที่จะเข้าร่วม BCORP สามารถเป็นได้ทั้งบริษัทข้ามชาติ บริษัทจดทะเบียนมหาชน SME ขนาดใหญ่มากไปจนถึงขนาดเล็ก วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์และรวมถึงรัฐวิสาหกิจ
เมื่อเร็วๆ นี้ในเวทีสัมมนาขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมสู่ไทยแลนด์ 4.0 “Driving Social Enterprise Towards Thailand 4.0 จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์และวิสาหกิจเพื่อสังคมไนส์คอร์ป จึงเป็นจุดเริ่มต้นขับเคลื่อนมาตรฐาน BCORP ในประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานสากลในการประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงคุณประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมุ่งดูแลสังคม เชื่อมโยงระบบรับรองสากล (BCORP Certified) ที่ยกระดับจากการรับรอง “ตัวสินค้าบริการที่ดีต่อสังคม” มาสู่ “องค์กรที่ดีต่อสังคม” ควบคู่กับการสร้างความรับรู้จากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

มาตรฐานโลกที่บอกคุณค่าด้านสังคม
กล่าวได้ว่ามาตรฐาน BCORP เป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อสานพลังธุรกิจให้เข้มแข็งในการร่วมสร้างประโยชน์ให้สังคม ดูแลสังคมและดูแลโลกใบนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก
เพราะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ และมีผลประกอบการที่สะท้อนคุณประโยชน์ต่อสังคม สอดรับสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) สอดคล้องกับ Road Map การพัฒนาอย่างยั่งยืนยุคไทยแลนด์ 4.0 การขับเคลื่อนความร่วมมือประชารัฐเพื่อสังคม ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน และการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล
รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การผ่านการรับรองมาตรฐาน BCORP จะเป็นเครื่องหมายสากลที่สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานที่ดีในการบริหารธุรกิจ ที่ไม่ได้มุ่งสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้สังคมไปพร้อมๆ กันด้วย ที่สำคัญองค์กรใดๆ จะเข้าร่วม BCORP ก็สามารถเป็นได้ทั้งบริษัทข้ามชาติ บริษัทจดทะเบียนมหาชน SME ขนาดใหญ่มากไปจนถึงขนาดเล็ก วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และรวมถึงรัฐวิสาหกิจซึ่งมีกระบวนการดำเนินงานขององค์กรและการบริหารจัดการแบบธุรกิจ ตลอดจนมีเป้าหมายทางสังคม
ทั้งนี้ การพัฒนาเครือข่ายมาตรฐาน BCORP ริเริ่มเมื่อกว่า 11 ปีก่อน โดย BLAB GLOBAL ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิ Rockefeller และ Standards Advisory Council (SAC) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยปัจจุบัน BLAB ได้ขยายเครือข่าย BLAB Global Partner ไปใน 8 ภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ Canada, LatinAmerica, Australia&Newzealand, Europe, UK, East Africa, Portugal และ Asia
ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการรับใช้สังคม พร้อมสนับสนุนกิจการที่ดี กิจการที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ กิจการที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นกิจการที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบทางสังคมและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มศว.มีความตั้งใจในการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีความตระหนักในบทบาทของภาคธุรกิจซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของความยั่งยืนด้านทรัพยากร ตลอดจนความสำเร็จทางธุรกิจผ่านกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ
รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เสริมว่า “ความร่วมมือกับ NISE และ Blab นับเป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยที่สำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่การพัฒนาสังคม โดยมีความเชื่อมั่นในการพัฒนาระบบมาตรฐานเพื่อผลักดันให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง และเชื่อว่าสังคมมีความต้องการความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยผลลัพธ์ทางสังคม ดังนั้น BCORP Thailand Movement จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่นักธุรกิจไทยจะร่วมกำหนดมาตรฐานในสิ่งที่ธุรกิจเชื่อว่าการทำธุรกิจนั้นมิได้เป็นไปเพื่อกำไรเพียงเดียวแต่ธุรกิจนั้นคงอยู่เพื่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยเช่นกัน”
สกุลทิพย์  กีรติพันธวงศ์
ตอบโจทย์ แนวโน้มธุรกิจเพื่อสังคมสดใส
สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ วิสาหกิจเพื่อสังคม ไนส์คอร์ป และเป็นหน่วยงานสำคัญในการก่อตั้งและขับเคลื่อนมาตรฐาน BCORP เป็นครั้งแรกในประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจทั่วโลกกว่า 40,000 องค์กรขานรับเข้าร่วมขับเคลื่อนสู่มาตรฐาน “ธุรกิจสร้างคุณประโยชน์สังคม” (BCORP: Benefit Corporation) โดยการเข้าร่วมประเมินและนำเป็นฐานข้อมูล ESGs ของภาคธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในจำนวนนี้มีธุรกิจกว่า 2,140 องค์กร จาก 50 ประเทศทั่วโลก ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานนี้
“มาตรฐาน BCORP จึงช่วยหนุนทั้งผู้นำทางธุรกิจที่ดี และช่วยกระตุ้นสร้างผู้ตามสู่ระบบของการทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างผลกำไรที่ดีทางสังคมควบคู่กับกำไรทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นได้ทางการปฏิบัติ มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับบริบทของภูมิภาค และด้วยการทำงานคู่ขนานกับระบบตลาดทำให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในระดับผู้บริโภค และเครือข่ายภาคีธุรกิจทั่วโลก เราจึงเชื่อมั่นว่า เอกชนไทยจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาองค์กรตามมาตรฐานสากลนี้ ซึ่งหมายถึงโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นการสร้างความแตกต่าง เสริมภาคีเครือข่ายและมีการเติบโตที่เข้มแข็ง และส่งเสริมการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน”
ด้าน มร.คอเรย์ เลียน ประธานวิสาหกิจเพื่อสังคม DOMI และผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific BCORP Association (APBCA) ประเทศไต้หวัน กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสเข้าร่วมการขับเคลื่อนเครือข่ายเพื่อนนักธุรกิจที่มีจิตวิญญาณเพื่อสังคมในเอเชียและมั่นใจว่าการขับเคลื่อนในประเทศไทยจะมีพลังและเข้มแข็ง เพราะมีความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาคการศึกษา เข้ามาเป็นกำลังขับเคลื่อนเผยแพร่และทำงานอย่างบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
การขับเคลื่อนมาตรฐาน BCORP นี้ในประเทศไทย เกิดจากการที่วิสาหกิจเพื่อสังคมไนส์คอร์ป ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน BCORP ในกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ได้ร่วมลงนามตกลงความร่วมมือกับ BCORP GLOBAL โดยในระดับภูมิภาค NISE ยังจะได้ร่วมจัดตั้ง BCORP ASIA www.bcorpasia.org เพื่อสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายและยกระดับมาตรฐานภาคธุรกิจที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม
ขณะนี้ไนส์คอร์ปยังได้พัฒนามาตรฐาน BIA Version 5.0 ฉบับภาษาไทยและคู่มือมาตรฐาน BCORP ให้หน่วยงานที่สนใจสามารถเข้าถึงและเข้าใจถึงสาระสำคัญ ประโยชน์ของการได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ สามารถติดต่อ ได้ที่ BCORP Thailand Movement Email: bcorpthailand@gmail.com

มาตรฐาน BCORP เพิ่มคุณค่าต่อองค์กรอย่างไร
•มาตรฐาน BCORP ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาแนวปฏิบัติของการบริหารดำเนินธุรกิจ ช่วยเพิ่มมูลค่าองค์กร สร้างความเชื่อถือสังคม ส่งเสริมความจงรักภักดีของผู้บริโภค ดึงดูดพันธมิตรและเครือข่ายธุรกิจ ส่งเสริมระดับความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร
•ความเป็นสากลและมีผู้แทนภาคธุรกิจทั่วโลกเป็นแกนหลักร่วมกำหนดขับเคลื่อนมาตรฐาน จึงทำให้มาตรฐานดังกล่าวได้รับการยอมรับ ปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์จริง
•นอกจากนั้น มาตรฐานดังกล่าวได้พัฒนาให้สอดรับกับประเภทองค์กรที่มีตั้งแต่ บริษัทข้ามชาติ บริษัทจดทะเบียน รัฐวิสาหกิจ SME SEs หมวดประเภทอุตสาหกรรม ขนาดองค์กร ภูมิภาค ตลอดจนสามารถประยุกต์กับรูปแบบการจดทะเบียนองค์กรที่มีความแตกต่างกันในทุกภูมิภาคทั่วโลก
•ขั้นตอนการประเมินสะดวก ใช้ระยะเวลาและทรัพยากรที่เหมาะสม
•เครื่องมือการวิเคราะห์เปรียบเทียบ (Analytic Tools) เปรียบเทียบในภาพรวมขององค์กรเทียบกับองค์กรต่างๆ ในระดับอุตสาหกรรม ในระดับภูมิภาค ตลอดจนเปรียบเทียบลงลึกในผลประกอบการในมิติสังคม 5 ด้านสำคัญขององค์กร เทียบกับมาตรฐานที่ดีทั่วโลก พร้อมมีแนวทางปฏิบัติพร้อมเครื่องมือสนับสนุนเพื่อพัฒนาสู่มาตรฐาน
•ตลอดจนมีหน่วยงานสนับสนุนให้คำปรึกษา และเชื่อมโยงกับเครือข่าย BCORP ทั่วโลกเพื่อแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น