xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอดธุรกิจSMEs -องค์กรชุมชน รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น '60 /ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การมอบ “รางวัลธรรมาภิบาลแห่งปี 2560” เพื่อเชิดชูเกียรติกิจการธุรกิจเอสเอ็มอีและกองทุนสวัสดิการชุมชน งานนี้จัดที่ห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาคาร 1 ของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม เพื่อรำลึกถึงอาจารย์ป๋วย ปูชนียบุคคลต้นแบบธรรมาภิบาล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กรรมการสถาบันป๋วย และดร.ธนันธน์ อภิวันทนาพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนา SMEs ถ่ายภาพร่วมกับผู้ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2560
ผู้บริหารกองทุนสวัสดิการชุมชน ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก หลังจากรับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2560
โครงการนี้จัดขึ้นโดย 4 แรงแข็งขันนำโดยสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสมาคมธนาคารไทย
นับว่าได้สร้างความภาคภูมิใจแก่องค์กรที่ได้รางวัลยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินกิจการด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และได้สร้างผลลัพธ์ที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งตรงกับจุดยืนในการดำเนินชีวิตและการทำงานของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่คำนึงถึงความถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำ
อุดมคติของท่านเน้นว่า การจะเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ต้องมีพร้อมด้วยคุณธรรม 3 ประการคือ “ความจริง ความงามและความดี”
ความจริง หมายถึง สัจธรรมและหลักวิชาที่มีคุณประโยชน์
ความงาม หมายถึง สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรมและความสุนทรียะทั้งวรรณศิลป์ ศิลปกรรม นาฏศิลป์ การดนตรีรวมถึงการกีฬา
ความดี หมายถึง ความซื่อสัตย์สุจริตและการไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน
ด้วยเกียรติประวัติและผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการพิจารณาสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อประเทศและระดับสากล องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งประชาชาติ (UNESCO) ในการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 จึงประกาศยกย่องศาสตราจารย์ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก
การมอบ “รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น” จึงเป็นการยกย่องให้กำลังใจการพัฒนาธุรกิจในแนวคุณธรรมซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญสู่ความยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของอาจารย์ป๋วย และยังเป็นการจุดประกายแนวคิดใฝ่ดีของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นส่วนใหญ่กว่า 90% ของกลไกที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผลการพิจารณามอบรางวัลมีดังนี้
รางวัลชนะเลิศธรรมาภิบาลดีเด่น แห่งปี 2560
บริษัท โรม่าอุตสาหกรรม จำกัด (กรุงเทพฯ)
เป็นธุรกิจผลิตกระเป๋าล้อลาก กระเป๋าถือสะพาย กระเป๋าพับได้ กระเป๋าเอกสาร กระเป๋าเป้ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าอเนกประสงค์และกระเป๋าเฉพาะงาน ภายใต้แบรนด์ของตนเอง และรับผลิตให้แก่แบรนด์ชั้นนำ ในประเทศและต่างประเทศ
รางวัลธรรมาภิบาล ด้านการปฏิบัติต่อพนักงานดีเด่น แห่งปี 2560
บริษัท วู้ดเวอร์คยูไนเต็ด จำกัด (ตรัง)
เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราอัดน้ำยาอบแห้งด้วยเครื่องมือเครื่องจักร และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รางวัลธรรมาภิบาล ด้านการปฏิบัติต่อผู้บริโภคดีเด่นแห่งปี 2560
บริษัท ไอ.ที.ซี (1993) จำกัด (กรุงเทพฯ)
เป็นธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบเครื่องทำความเย็น เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องอัดน้ำยาเพื่อทำความเย็นอุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักรที่ใช้ในขบวนการอุตสาหกรรมการผลิต อาหารทะเล ไก่แช่แข็ง ไอศกรีม ผลไม้หรือพืชไร่ รวมถึง เครื่องแช่แข็งต่างๆ เครื่องไอ.คิว.เอฟ. และเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมชนิดต่างๆ
รางวัลธรรมาภิบาล ด้านการปฏิบัติต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น
ปีนี้ไม่มีบริษัทใดได้รับรางวัล

นอกจากนี้ยังมี รางวัลเกียรติคุณบัตรยกย่อง ผู้เข้ารอบสุดท้าย 2 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท โชคนำชัยออโต้เพรสซิ่ง จำกัด (สุพรรณบุรี) ทำธุรกิจผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์
2.บริษัท ภูสุวรรณ อินเตอร์เทรด จำกัด (ปทุมธานี) ผู้นำเข้าตู้เชื่อมไฟฟ้าและอุปกรณ์

ส่วนกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับชาติที่ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2560
เป็นการยกย่ององค์กรสวัสดิการชุมชน : ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดจากบทความอมตะของศาสตราจารย์ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “คุณภาพแห่งชีวิต : ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ปรากฏผลแต่ละประเภทรางวัล ดังนี้
1. ด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตและคุณค่าในสังคม ได้แก่
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยโจด อ. วัฒนานคร จ.สระแก้ว
2. ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษา ดูแล ป้องกัน สุขภาวะของชุมชน ได้แก่
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยด้วน อ. ดอนตูม จ.นครปฐม
3. ด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชนและการศึกษา เพื่อการเติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ ได้แก่
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
4. ด้านการพัฒนาอาชีพ ระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชนและการแก้ปัญหาหนี้สิน ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองม่วง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว
5. ด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะ การจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ ได้แก่
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว
6. ด้านการจัดการ/จัดสรรที่ดินทำกินเพียงพอต่อการดำรงชีพ การสร้างความมั่นคงทางอาหารและที่อยู่อาศัย ได้แก่
กองทุนสวัสดิการเพื่อสุขภาพตำบลกุดรัง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม
7. ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล ได้แก่
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้า อ.กันตัง จ.ตรัง
8. ด้านผลงานการจัดสวัสดิการชุมชนแบบองค์รวมหลายมิติ สามารถเชื่อมโยง/บูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายแหล่ง ได้แก่
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโพธิ์พระยาร่วมใจ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
9. ด้านการฟื้นฟูคุณค่าทางวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน การเกื้อกูลระหว่างกลุ่ม รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงาน/ภาคีต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคม
ไม่มีผู้ได้รับรางวัล

ข้อคิด....
น่าสังเกตนะครับว่า ในยุคปัจจุบันกรณีการทุจริตทำผิดกฎระเบียบและการประพฤติผิดจริยธรรมในวงการต่างๆ ถูกดำเนินคดีหรือถูกเปิดโปงและโดนลงโทษโดยสังคม มีให้รับรู้เป็นข่าวในสังคมยุคใหม่มากขึ้น
นับเป็นการยืนยัน “กฎแห่งกรรม” ว่ามีจริง และ “ผลกรรมตามทัน” แน่นอนไม่ว่าจะเร็วหรือช้าก็ตาม เมื่อถึงจังหวะเวลา การสร้างเหตุเช่นไร ก็ต้องได้รับผลกรรมตอบสนอง
ขณะที่สังคมโลกยุคใหม่เอื้ออำนวยด้วยเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลจนไม่มีอะไรเป็นความลับ ซึ่งนักธุรกิจ ข้าราชการและนักการเมืองที่กระทำการฉ้อฉล จนต้องถูกจับดำเนินคดีก็เพราะลืมไปว่าปัจจุบันเป็นยุคอะไร คิดว่าคงไม่มีใครรู้ทัน
แต่สังคมในยุครับรู้ข่าวสารสะดวก รวดเร็ว ทำให้ฉลาดในการเลือกคบค้า และพร้อมสนับสนุนกิจการที่ “เก่งและดี” ดังนั้น การทำธุรกิจไม่ว่าจะขนาดย่อมหรือขนาดยักษ์ที่ล้วนมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย กติกาโลกยุคใหม่จึงกำหนดให้ต้องคำนึงถึงหลักความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การทำงานด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) จึงเป็นการสร้างต้นเหตุที่ดี เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี จะได้ไม่ต้องมาแก้ปัญหาที่ตามมา
เพราะคุณลักษณะของการมีธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีซึ่งประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty) มีคุณภาพ-ประสิทธิภาพ (Quality&Efficiency) มีความเป็นธรรม (Fairness) โปร่งใส (Transparency) ความพร้อมรับผิดชอบ (Accountability) มีมาตรฐานจริยธรรม-คุณธรรม (Ethical&Moral Standard)
เมื่อมีความคิด ความเชื่อและปฏิบัติอยู่ในกรอบธรรมาภิบาล ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันความเสี่ยงจากความผิดพลาดและไม่ทำร้ายสังคม ก็จะเกิดความนิยมเชื่อถือจากผู้เกี่ยวข้อง นักลงทุนและสังคมนำไปสู่ความมั่นคง ยั่งยืนครับ

suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น