xs
xsm
sm
md
lg

คอร์รัปชั่นท้าทายรัฐ ขืนมี กม.คุมสื่อ-คนโกงเฮ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปรากฏการณ์ช่วงนี้หลายเรื่องที่เป็นภาพลักษณ์ความไม่ปกติ และมีเรื่องไม่ถูกหลักธรรมาภิบาลในเมืองไทยที่แพร่กระจายสวนทางกับความคาดหวังของกระแสโลกยุคใหม่ขณะนี้ คนระดับผู้นำของรัฐบาลน่าจะไม่สบายใจแน่ และสังคมก็กำลังจับตาดูวิธีการจัดการว่าจะเป็นอย่างไร
ทำให้นึกถึงคำพังเพยไทย “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” เพราะมีคนขยันสร้างเรื่องซ้ำเติมให้วุ่นหนักเข้าไปอย่างไม่สมควรเลย


มีเรื่องฉาวโฉ่ที่สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) หรือปปช.ของประเทศอังกฤษได้เปิดข้อมูลที่บริษัท โรลส์รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์รายใหญ่ของอังกฤษยอมสารภาพว่าได้จ่ายเงินสินบนให้หลายประเทศ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจหลายแห่งของไทย เพื่อให้สั่งซื้อสินค้าเจ้านี้
มีหลักฐานชัดจากการดำเนินคดีสินบนที่สำเร็จแล้วและเป็นตัวอย่างของปัญหาหมักหมมในระบบการจัดซื้อจัดจ้างของราชการและรัฐวิสาหกิจไทยที่ถูกกล่าวหามาทุกยุคว่าเป็นช่องทางการหาผลประโยชน์มีการให้สินบนหรือคอมมิชชันแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจอนุมัติ ซึ่งพาดพิงถึงนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
หลายกรณี รัฐต้องซื้อของในราคาแพงเกินควรหรือได้ของที่ด้อยกว่า แต่บางกรณีเมื่อเรื่องถูกเปิดโปงก็ไม่ถูกจัดการสะสางให้เสร็จสิ้น หลายเรื่องจึงยังค้างคาใจผู้คน สังคมจึงได้แต่รอการจัดการของผู้นำที่เอาจริงและระบบความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ
การเปิดเผยผลการตรวจสอบและคำสารภาพผิดในการจ่ายเงิน “สินบน” ของบริษัทในต่างประเทศให้กับหลายรัฐวิสาหกิจของไทย คือบมจ.การบินไทย, บมจ.ปตท. และบมจ.ปตท.สผ. เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์จากบริษัทโรลส์รอยซ์ จึงเป็นอีกกรณีที่ตอกย้ำการทุจริต
นี่ยังไม่รวมการสั่งซื้อเครื่องบินที่มีมูลค่ายอดซื้อหลายหมื่นล้านบาทจนถึงแสนล้านบาท ย่อมเกี่ยวพันผลประโยชน์มหาศาลที่ต้องการความโปร่งใส
กรณีนี้สังคมบังเอิญได้รับรู้ผลการสอบสวนเฉพาะบมจ.การบินไทยถูกระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและคนการบินไทยรับเงินจากนายหน้าผู้ติดต่อขายของ ช่วงแรก (พ.ศ.2534-2535) 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงที่ 2 (2535-2540) มีคนรับสินบน 10.38 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วงที่ 3 (2547-2548) รับสินบน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
การทุจริตคอร์รัปชัน จึงมีส่วนเพาะเชื้อร้าย ทำลายสังคมและประเทศชาติ เพราะใช้งบประมาณของรัฐไปอย่างขาดประสิทธิภาพ แทนที่รัฐจะเอาไปใช้พัฒนาโรงพยาบาลแก้โรคภัยและความเดือดร้อนอย่างได้เต็มที่ แต่กลับรั่วไหลเข้ากระเป๋านักการเมือง ผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง
ขณะเดียวกัน ในทางเศรษฐกิจก็เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการจัดซื้อสินค้าหรือบริการเฉพาะรายที่ให้ผลประโยชน์แก่คนมีอำนาจชี้ขาด
สังคมก็เลยได้ของที่ไม่คุ้มค่า หรือดีที่สุดและประชาชนต้องรับภาระภาษีหรือค่าใช้จ่าย ค่าบริการที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น
เมื่อวันไปเป็นวิทยากรเรื่อง “คอร์รัปชันกับปัญหาในการพัฒนาประเทศ"แก่หลักสูตรพตส.รุ่น 8 เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “คอร์รัปชัน” เปลี่ยนแปลงความหมายในตัวเองไปตลอดเวลา เพราะนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนพฤติการณ์
“กรณีสินบนโรลส์รอยซ์ กำลังทำให้เกิดความสะเทือนอย่างหนัก ขอทำนายว่าหาก 2-3 เดือนข้างหน้าแก้ปัญหาไม่ตก จะเกิดปัญหามโหฬาร คนไทยจะตกอยู่ในภาวะลำบาก เพราะข่าวการทุจริตได้ฉุดความเชื่อมั่นและสหประชาชาติจับมือกันสู้ ไม่ใช่แค่คอร์รัปชัน ประเทศมหาอำนาจจะเริ่มควบคุมการให้สินบนของประเทศต่างๆ โดยถือเป็นการฟอกเงิน”
ดร.สังศิตกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไทยมิสิทธิขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามพันธกรณีอนุสัญญา FATF เกี่ยวกับการฟอกเงิน โดยระบุว่ายังมีเงินอีกก้อนหนึ่งที่ส่งไปสิงคโปร์และเกี่ยวกับปตท., ปตท.สผ.และการบินไทย ซึ่ง Asia Pacific Group (APG) ที่ก่อตั้งขึ้น มีพันธกรณีที่สิงคโปร์ต้องส่งข้อมูลให้รัฐบาลไทย
“ข้อมูลการเงินระหว่างประเทศและในประเทศต้องเก็บไปอย่างน้อย 5 ปี และไทยสามารถขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสหรัฐฯ และหากไม่ขอไปจะถือว่ามีความผิดด้วยฐานช่วยปกป้องคนทุจริต”
หากปปง.ไม่ยอมทำ จะเป็นเดิมพันของทั้งประเทศที่มีเจ้าหน้าที่ไทยรับผิดชอบอยู่คนเดียว และภายในสัปดาห์แรกของพ.ค.นี้ หากปปง.ไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะเกี่ยวกับพันธสัญญาระหว่าประเทศเรื่องการฟอกเงิน ไทยจะถูกลงโทษ เพราะถือว่าระบบธนาคารไทยไม่โปร่งใสและกลายเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจากการฟอกเงิน
“แปลว่าธนาคารไทยจะทำธุรกรรมกับหลายประเทศไม่ได้ และประเทศเกิดภาวะไม่มั่นคง นี่คือ มรสุมใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลนี้กำลังเผชิญในต้นพฤษภาคมนี้”

ข้อคิด...
ขณะที่ไทยเผชิญผลกระทบจากข่าวต่างประเทศที่มีการรับสารภาพคดีสินบนโรลส์รอยซ์
เวลาใกล้กันก็โดนกระหน่ำต่อด้วยการเปิดค่าดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2559 ว่าประเทศไทยเมื่อปีก่อนหน้าได้ที่ 76 ตกอันดับลงมาเป็น 101 ของจำนวน 176 ประเทศที่สำรวจ
แม้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล จะชี้แจงว่า มีหลายประเทศได้คะแนนเกาะกลุ่มช่วงเดียวกัน ไทยจึงถูกกดดันลงไปถึง 25 อันดับ ทั้งๆ ที่ได้ 35 คะแนน ลดลงแค่ 3 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100) ดูจากคะแนนชี้วัดบางตัวก็ดีขึ้น บางตัวก็แย่ลงก็ตาม
สิ่งที่ต้องทำต่อไปจึงไม่ใช่แค่หวังคะแนนการประเมินหรืออันดับภาพลักษณ์ให้ดูดีขึ้น แต่ต้องพิสูจน์ว่ารัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ และเดินหน้าแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ทั้งด้วยมาตรการทางกฎหมายที่เข้มขึ้น
ขณะที่ควรปลูกฝังจิตสำนึก “ไม่โกง” อย่างกว้างขวาง ทั้งในระบบการศึกษาและการปฏิบัติเป็นตัวอย่างจริงของผู้นำทุกระดับทั้งคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารราชการและรัฐวิสาหกิจ
แต่การที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปล่อยให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านสื่อสารมวลชน ยกร่างกฎหมายที่ใช้ดูสวยหรูว่า “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” แต่เนื้อแท้นั้นตรงข้าม เช่น
1.ต่อไปผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ต้องไปขอใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ หากไม่เป็นที่พอใจจากผู้มีอำนาจ หรือโดนลงโทษสั่งปรับสูงสุด 1.5 แสนบาท กรณีไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย
2.มี 4 ปลัดกระทรวงเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบสื่อ มีโอกาสถูกแทรกแซงโดยนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจรัฐ
ประเด็นสำคัญก็คือ ความคิดที่จะต้องการคุมสื่อมวลชนให้ลงข่าวหรือความเห็นที่เอาใจรัฐบาลนั้น ผิดธรรมชาติ และไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่สื่อจะต้องมีอิสระในการเสนอข่าว ทำความจริงให้ปรากฏ และการตรวจสอบความถูกต้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ
การคิดจะคุมสื่อก็เท่ากับใช้อำนาจตัดสิทธิเสรีภาพการรับรู้ความจริงของประชาชนนั่นเอง
ดังนั้น หากมีกฎหมายคุมสื่อมวลชน ก็จะยิ่งซ้ำเติมความตกต่ำของภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นให้แย่ลง เพราะการตีแผ่การทุจริตก็เป็นเครื่องมือหนึ่งของการต่อต้านคอร์รัปชัน
รัฐบาลจึงไม่ควรยอมให้กรรมาธิการชุดดังกล่าวบิดเบือนความจริงแล้วฉวยโอกาสเสนอร่างกฎหมายที่ไม่เป็นมงคลแก่รัฐบาล

suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น