xs
xsm
sm
md
lg

รับมือกับ ‘ฝุ่นละออง’ เล็ก ๆ ที่ความอันตรายอาจจะไม่เล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากปัญหาฝุ่นละอองในอากาศที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน และการใช้ชีวิตของเรานั้นจำเป็นจะต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำภารกิจส่วนตัว ออกไปทำงาน ออกไปเรียน อาจทำให้ต้องพบเจอฝุ่นและมลพิษตลอดเวลา ซึ่งอาจจะทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพได้

โดยสาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองมีหลายปัจจัย เช่น โรงผลิตไฟฟ้า ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ การเผาไม้ทำลายป่า เผาขยะ รวมไปถึงควันบุหรี่ กล่าวโดยสรุปง่าย ๆ ก็คือ เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ฝุ่นจากการก่อสร้างนั่นเอง

หรืออย่างกรณีฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน ฉะนั้น เรามาดูวิธีการรับมือกันดีกว่า

ฝุ่นละออง คือ อนุภาคของแข็งขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เกิดจากวัตถุที่ถูกทุบ ตี บด กระแทก จนแตกออกเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ เมื่อถูกกระแสลมพัดก็จะปลิวกระจายตัวอยู่ในอากาศ และตกลงสู่พื้น ซึ่งเวลาในการตกจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับน้ำหนักของอนุภาคฝุ่น แหล่งกำเนิดของฝุ่นจะแสดงถึงคุณสมบัติความเป็นพิษของฝุ่นด้วย เช่น ตะกั่ว ไฮโดรคาร์บอน กัมมันตรังสี แอสเบสตอส


ฝุ่นละออง แบ่งออกได้ดังนี้ 

- ฝุ่นขนาดใหญ่ (มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา)

- ฝุ่นขนาดเล็ก เรียกว่า PM 10 (ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10 ไมครอนลงมา

- ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เทียบขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ และขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ เป็นอนุภาคที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่มากที่สุด โดยเมื่อสูดดมอนุภาคเข้าไปสามารถเข้าไปลึกถึงทางเดินหายใจและในปอดได้ ฝุ่นละอองชนิดนี้เกิดจากการคมนาคมการขนส่ง การอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง ฯลฯ

ฝุ่นละอองกระทบต่อสุขภาพอย่างไร? 

มีรายงานจากกรมอนามัย ระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย 4 ระบบ ได้แก่

1. ระบบตา โดยทำให้เกิดการระคายเคือง ตาแดง แสบตา ตาอักเสบ
2. ระบบผิวหนัง ทำให้เกิดระคายเคือง ผื่น คันผิวหนัง
3. ระบบทางเดินหายใจ โดยระคายเคืองเยื่อบุจมูก แสบจมูก ไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ โดยเฉพาะโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ปอดอักเสบ และถุงลมโป่งพอง
4. ระบบหลอดเลือดและหัวใจ โดยอาจจะทำให้แน่นหน้าอก หายใจถี่ เมื่อยล้า สั่นผิดปกติ อาจจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตาย เส้นเลือดในสมองตีบ

วิธีป้องกันและดูแลตนเองจากฝุ่นละออง

- ทำความสะอาดบริเวณใบหน้า รอบดวงตา และผิวหนังด้วยน้ำสะอาดทันที หลังจากกลับถึงบ้าน

- ทาครีมบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นสำหรับผิว

- หยอดน้ำตาเทียมให้สม่ำเสมอเพื่อเจือจางสิ่งกระตุ้นจากมลพิษทางอากาศ

- ไม่ควรนำมือมาขยี้ตา เพราะจะทำให้ติดเชื้อให้กับดวงตาได้ และทางที่ดีควรใส่แว่นตาป้องกัน เวลาออกข้างนอกเพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นพิษที่ลอยในอากาศ

- สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นพิษ

- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ หากมีการเดินทางออกจากบ้านเป็นประจำ เพื่อกำจัดฝุ่นละอองและสิ่งระคายเคือง เคลียร์ทางเดินหายใจให้โล่ง

- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก :

โรงพยาบาลสุขุมวิท Sukumvit Hospital
ศูนย์โรคปอด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi4/fun/fun.htm


กำลังโหลดความคิดเห็น