xs
xsm
sm
md
lg

"ปวดหลัง" โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถ้าใครก็ตามที่ได้มีการเคลื่อนไหวจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ แน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย แต่หากทำกิจกรรมที่มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลต่อร่างกายได้ ซึ่งก็รวมไปถึง “โรคปวดหลัง” ซึ่งโรคนี้ถือได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตเลยสำหรับคนวัยทำงาน แต่รู้หรือไม่ว่าโรคนี้สามารถส่งผลต่อทุกเพศทุกวัยได้เช่นเดียวกัน


ประเภทของโรคปวดหลัง

-อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน


เป็นลักษณะอาการที่ปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 6 สัปดาห์หรือน้อยกว่า แต่ไม่ได้ปวดร้าวลงไปตามแนวขา ซึ่งมักเกิดจากกล้ามเนื้อเอวตึงเคล็ด หรือข้อต่อ เอ็นบริเวณรอบกระดูกสันหลังอักเสบส่งผลให้เกิดอาการปวด ทรมาน ผู้ป่วยในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่มักจะอาการค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน หลังจากได้รับการรักษา

-อาการปวดร้าวลงขาแบบเฉียบพลัน

สำหรับอาการป่วยในลักษณะนี้ จะมึการแสดงอาการปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 6 สัปดาห์หรือน้อยกว่า และยังปวดร้าวลงไปยังบริเวณสะโพกและขา ซึ่งอาการประเภทนี้อาจจะเกิดจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โดยระยะเวลาที่อาการจะทุเลาจะกินเวลานานกว่าอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน และการกระทบกระเทือนของเส้นประสาทบริเวณหลังมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดที่รุนแรงกว่า


-อาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา แบบเรื้อรัง

ส่วนอาการในลักษณะนี้ จะกินเวลาที่นานกว่า 6 สัปดาห์ โดยจัดว่าเป็นอาการในกลุ่มโรคเรื้อรัง อาทิเช่น มีภาวะกระดูกสันหลังตีบแคบเบียดเส้นประสาท การรักษาเฉพาะทางถือเป็นสิ่งจำเป็น แพทย์ประจำตัวอาจจะแนะนำไปยังแพทย์ผู้ที่ชำนาญเฉพาะทางด้านโรคที่เป็นต้นเหตุของปัญหาปวดหลังเรื้อรัง อาทิเช่น แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือศัลยแพทย์ระบบประสาท


ปัจจัยที่ก่อให้เกิด “โรคปวดหลัง”

-ลักษณะที่นอน มีความแข็งหรือนิ่มเกินไป ไม่ถูกต้องตามสรีระ
-การยกหรือถือของหนัก หรือก้มยกของผิดวิธี
-การสูบบุหรี่
-ภาวะกระดูกพรุนหรือบาง
-ภาวะอ้วน หรือน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังและก้นกบรับภาระมากกว่าจุดอื่น
-อาการออฟฟิศซินโดรม มีลักษณะที่นั่งทำงานนานๆ หรือท่าทางในการเคลื่อนไหวผิดปกติ


อาการ

สำหรับอาการปวดหลังนั้น ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดเฉพาะที่หลังเพียงอย่างเดียว หรืออาจมีอาการปวดหลังร้าวมาที่สะโพกหรือขา โดยเฉพาะอาการปวดขาจะมีความปวดไปตามบริเวณซึ่งถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับนั้น ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีลักษณะความปวดแตกต่างกันไป ผู้ป่วยบางรายอธิบายอาการปวดว่ามีลักษณะแหลมเหมือนโดนมีดแทง บางรายรู้สึกปวดหน่วงและหนักที่ขา หรือบางรายอาจรู้สึกเพียงเหน็บชาคล้ายเวลาที่นั่งทับขานานๆ เท่านั้น

ส่วนระดับความเจ็บปวดจากอาการปวดหลังนั้น ก็มีการไล่ระดับที่แตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไปถึงขั้นรุนแรงจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาการปวดร้าวลงขา ปวดคล้ายเข็มทิ่ม หรือปวดแบบเสียวแปลบ ที่สำคัญ คือ หากมีอาการปวดนานเรื้อรัง มีอ่อนแรงหรือชา มีไข้ มีความปวดในตอนกลางคืน นอนพักไม่หาย มีปัญหาขับถ่ายผิดปกติร่วมด้วย


วิธีป้องกัน “โรคปวดหลัง”

- ปรับเบาะรถให้พอเหมาะกับตัวเอง หรืออาจต้องใช้หมอนช่วยหนุนหลัง
-ปรับลักษณะโต๊ะและเก้าอี้ในโต๊ะทำงานให้เหมาะสม และเวลานั่งให้หลังพิงพอดี เท้าทั้งสองข้างวางบนพื้น
-ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ไม่นั่งในท่าเดิมนานเกินไป
-พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ
-ออกกำลังกายมากขึ้นและสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ
-ถ้าบางรายที่อยู่ในภาวะอ้วน ควรทำการลดน้ำหนัก
-สำหรับสตรีควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเกิน 1 1/2 นิ้ว เพื่อสุขภาพหลังขอนแต่ละคน

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลรามคำแหง และ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


กำลังโหลดความคิดเห็น