xs
xsm
sm
md
lg

“ฮีทสโตรก” ภาวะอันตรายที่มากับหน้าร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเข้าสู่ ‘หน้าร้อน’ แล้ว นอกจากสภาพอากาศที่จะต้องเผชิญในช่วงเวลาดังกล่าวนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องระมัดระวังก็คือ ‘โรคฮีตสโตรก’ ที่มาพร้อมกับสภาวะดังกล่าว ซึ่งหากไม่ระวังตัวแล้ว อาจจะได้รับอันตรายจากสิ่งนี้ได้

สำหรับภาวะโรคฮีทสโตรกนั้น นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอาจเจ็บป่วยจากโรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ โดยอาการของโรคดังกล่าวนี้นั้น มีอาการที่สำคัญ ได้แก่

-ตัวร้อน มีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส
-หน้ามืด
-เพ้อ มีการกระสับกระส่าย
-มึนงง
-หายใจเร็ว
-หัวใจเต้นผิดจังหวะ
-ชัก เกร็ง
-บางรายถ้ามีอาการหนัง ก็ถึงขั้น ช็อก หรือ หมดสติ ได้

ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะทำให้เสียชีวิตได้


ผู้ที่มีความเสี่ยง “โรคฮีทสโตรก”

1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ผู้ที่ทำงานก่อสร้างหรือออกกำลังกาย
2.เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าผู้ใหญ่
3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และ โรคความดันโลหิตสูง
4.ผู้ที่มีภาวะอ้วน
5.ผู้ที่ทำการพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วยนั้น จะมีการส่งผลต่อกลไกควบคุมอุณหภูมิในร่างกายด้วย
6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ซึ่งฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงมากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม โดยในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้


วิธีลดความเสี่ยงโรคฮีทสโตรก

1.ทำการสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน หรือระบายความร้อนได้ดี
2.ควรอยู่ในอากาศที่ถ่ายเทได้สะดวก
3.ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงในกลางแจ้งนานๆ
4.สวมแว่นกันแดด กางร่ม หรือ สวมหมวกปีกกว้าง
5.ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากการเหงื่อออก
6.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบ
7.ไม่ควรทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือ สัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก ส่วนที่ออกกำลังกายเป็นประจำนั้นควรเลือกช่วงเช้า หรือ ช่วงเย็นเพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการสงสัยว่ามีผู้ที่มีอาการป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรให้มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดื่มน้ำเย็น และเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น และให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี ซึ่งถ้ามีอาการที่รุนแรง หรือ หมดสติ ควรรีบส่งโรงพยาบาลทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น