xs
xsm
sm
md
lg

‘ไข้หวัดใหญ่’ โรคฮิตช่วงหน้าฝนที่ต้องระวัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอ็นซา มีผลต่อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในส่วนของจมูก ลำคอ และปอด สามารถพบได้ตลอดปี แต่จะระบาดในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยเฉพาะในฤดูฝนและฤดูหนาว

โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าภาวะของโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2562-2573 ประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 5-10% ต่อปี และเด็กจะป่วย 20-30% ต่อปี ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคน เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง 3-5 ล้านคน เสียชีวิต 2.9-6.5 แสนคนต่อปี

สำหรับประเทศไทยปีนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลว่า โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดเร็วกว่าปกติ 2-3 เดือน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจากไข้หวัดใหญ่ 130,264 ราย เสียชีวิตแล้ว 9 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 7-9 ปี จำนวนของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2561

อาการของไข้หวัดใหญ่

อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า ผู้ป่วยจะมีไข้สูงมาก ตัวร้อน หนาวสั่น ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ คออักเสบ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียหมดแรง บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องร่วงร่วมด้วย และอาจมีโอกาสพัฒนาสู่ภาวะแทรกซ้อนได้

โดยโรคไข้หวัดใหญ่ หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอาการป่วยเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 5 -7 วัน และหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น แย่ลง หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะหากรักษาได้เร็วจะยิ่งลดอาการรุนแรง อาการแทรกซ้อน และลดการเสียชีวิตได้

ใครที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่บ้าง?

จริงๆ แล้วนั้นทุกคนนั้นสามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อไข้หวัดใหญ่เป็นพิเศษ ได้แก่

-เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
-ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
-หญิงตั้งครรภ์
-ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคปอด ฯลฯ
-ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

การป้องกันไข้หวัดใหญ่ทำได้ง่ายๆ ดังนี้

-พักผ่อนให้เพียงพอ
-รับประทานอาหารมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้
-ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน หรือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
-ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม
-ใช้หน้ากากอนามัย
-ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได
-รักษาความสะอาดของใช้ส่วนตัว แยกตัวและของใช้จากผู้อื่น ไม่ใช้ช้อน แก้วน้ำ ร่วมกับบุคคลอื่น
-หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือหากป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน
-ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามคำแนะนำของแพทย์
-หรือหากมีอาการตามข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

ข้อมูลอ้างอิงประกอบ :
www.pobpad.com
http://haamor.com



กำลังโหลดความคิดเห็น