xs
xsm
sm
md
lg

ปศุสัตว์สั่งคุมเข้ม! อหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมกำชับมาตรการป้องกันด่วน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ( AFRICAN SWINE FEVER) ที่ปัจจุบันพบว่ามีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นโรคระบาดรุนแรงในหมู ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา ระบาดได้รุนแรงและรวดเร็ว เชื้อไวรัสมีความทนทาน ทำลายยาก อยู่ในเลือด ในเนื้อ ในอวัยวะหรือแม้แต่ในแหนมในไส้กรอกได้นาน แต่ก่อโรคในหมูและหมูป่าเท่านั้น ไม่ติดสัตว์ชนิดอื่นและไม่ติดคน หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ไม่นับรวมผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการระบาดของโรค คือ การลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรติดตัวของนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสจากเกษตรกรหรือสัตวแพทย์ที่ไปดูงานในประเทศที่มีการระบาดของโรค การลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรและซากสุกรผ่านช่องทางนำเข้าชายแดนและการปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่ยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ส่งออกสุกรไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์จากรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) พบว่าการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันได้มีการระบาดใน 20 ประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งเป็นทวีปยุโรปจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี ลัตเวีย มอลโดวา สาธารณรัฐโปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย ยูเครน และบัลแกเรีย ทวีปแอฟริกามี 4 ประเทศ ได้แก่ ชาด โกตดิวัวร์ แอฟริกาใต้ สาธารณรัฐแซมเบีย และทวีปเอเซีย มี 6 ประเทศ ได้แก่ จีน (เกิดโรค 149 ครั้ง ใน 107 เมือง 32 มณฑล 4 เขตการปกครอง 1 เขตบริหารพิเศษ) มองโกเลีย (เกิดโรค 11 ครั้ง ใน 6 จังหวัด) เกาหลีเหนือ (เกิดโรค 1 ครั้ง ใน 1 จังหวัด) เวียดนาม (เกิดโรค 161 ครั้ง ใน 62 จังหวัด) กัมพูชา (เกิดโรค 11 ครั้ง ใน 5 จังหวัด) และล่าสุด ลาว (เกิดโรค 12 ครั้ง ใน 5 จังหวัด) ข้อมูล ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2562

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์มีภารกิจหลักในการดูแลเรื่องสุขภาพสัตว์และผลผลิตด้านปศุสัตว์ของประเทศไทย เพื่อให้ได้ผลผลิตด้านการปศุสัตว์ที่เพียงพอ มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันโรค ASF ในสุกร เพื่อป้องกันการระบาดเข้าสู่ประเทศไทย ดังนี้ 1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF ในสุกร (war room) ทั้งระดับกรม และระดับจังหวัด 2. ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไป และประชุมชี้แจงเกษตรกรถึงอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการระบาดของโรคนี้ 3. ตรวจเยี่ยมฟาร์มหมูทุกฟาร์ม และให้คำแนะนำเพื่อปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบป้องกันโรคที่ดี 4. ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ห้ามมิให้นำผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ติดตัวเข้ามาประเทศไทย 5. ตรวจสอบและทำลายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินำติดตัวเข้ามา 6. เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้า-นำผ่าน-นำออกตามด่านพรมแดนทุกแห่งของประเทศไทย 7. เตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และ 8. เสนอแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย และอนุมัติให้แผนดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562

พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเร่งด่วน ในปีงบประมาณ 2562 และสำหรับเกษตรกรเผู้เลี้ยงสุกรควรดำเนินการเพื่อการป้องกันควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ดังนี้ 1. ใช้อาหารสัตว์จากแหล่งที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ 2. อาหารสำหรับพนักงานหรือคนเลี้ยงสุกรต้องใช้เนื้อจากแหล่งที่ไม่เสี่ยงมาทำอาหารในฟาร์ม 3. ต้องมีรั้วรอบฟาร์มและโปรแกรมการกำจัดสัตว์พาหะ 4. บุคคลที่จะเข้าฟาร์มต้องอาบน้ำเปลี่ยนชุดก่อนเข้าฟาร์ม 5. จัดให้มีตู้ UV เพื่อฆ่าเชื้ออุปกรณ์ก่อนนำเข้าฟาร์ม 6. ยานพาหนะทุกคันต้องผ่านการฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม 7. จัดให้มีเล้าขายหมูอยู่นอกบริเวณที่มีการเลี้ยงสุกร 8. มีเล้ากักหมูทดแทนอยู่นอกฟาร์มก่อนย้ายเข้าฝูง 9. น้ำสำหรับใช้ในฟาร์มให้ใช้น้ำบาดาลและมีระบบบำบัดน้ำด้วยคลอรีนก่อนนำไปใช้ 10. มีบ่อทิ้งซากหรือระบบย่อยสลายซาก ทั้งนี้ คู่มือและแนวทางทางการปฏิบัติต่างๆอาจมีการปรับปรุงเป็นระยะตามความเหมาะสมของสถานการณ์ของโรค ท่านสามารถติดตามและดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซด์ของกรมปศุสัตว์ที่ http://www.dld.go.th. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์หรือ call center 063-225-6888

และสุดท้ายให้เกษตรกรสังเกตสุกรในฟาร์มเลี้ยงของตนเอง หากมีลักษณะอาการแสดงของโรค ดังนี้ ตายเฉียบพลัน มีไข้สูง นอนสุมกัน ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำโดยเฉพาะใบหู ท้อง ขาหลัง มีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใ น ทางเดินอาหาร การแท้งในทุกช่วงอายุของการตั้งท้อง ให้รีบแจ้ง สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-255 -6888 หรือที่ application DLD 4.0 รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านอีกด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น