xs
xsm
sm
md
lg

เยาวชนนานาชาตินำเสนอผลงานจาก “เยาวชนไร้พรมแดน” ที่ UNESCAP เมื่อเยาวชนแสดงจุดยืน โลกต้องตั้งใจฟัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพราะเยาวชนคืออนาคตของโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะได้เชิญชวนให้พวกเขาได้มารับรู้ ทำความเข้าใจ และมีส่วนร่วมกับการดูแลประเด็นและปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ต่อไป เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 ผู้แทนเยาวชนจากผู้ที่เข้าร่วมงานสัมมนา “เยาวชนไร้พรมแดน” จะได้มีโอกาสแสดงพลังเสียงให้คนทั่วโลกได้ยิน โดยการนำเสนอผลการศึกษาใน 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ การกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้งสำหรับผู้พ้นโทษ ความรุนแรงที่เกี่ยวกับเพศ และการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

กิจกรรมนี้จัดขึ้นคู่ขนานไปกับงานฟอรั่มเพื่อการพัฒนาอย่างยังยืนประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 6 ที่จัดโดยองค์การยูเนสแคป (6th UNESCAP Asia-Pacific Forum Sustainable Development) ในเวลา 17.00-18.30 น. ในหัวข้อ “Redesigning Youth: Showcase of the TIJ-UNDOC Borderless Youth Forum” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมและสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (ROSEAP) ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNDOC)

การสัมมนาเยาวชนในลักษณะไร้พรมแดนนี้ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก โดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เป็นโครงการที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมจัดขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดน “Design Across Border” ซึ่ง Stanford d.school พัฒนาขึ้น โดยมีเยาวชนรวม 162 คนจาก 10 ประเทศทั่วภูมิภาคได้มารวมตัวกันเพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับประเด็นสำคัญทางสังคมทั้ง 3 ประเด็น โดยมีผู้เชี่ยวชาญ 20 คนจากหลากหลายประเทศร่วมให้คำแนะนำ

ทั้ง 3 ทีมซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 18 คน จะนำเสนอแรงบันดาลใจ ประสบการณ์ที่จากการทำงานกับเยาวชนที่มีภูมิหลังเชิงวัฒนธรรมที่หลากหลาย วิธีการที่ร่วมกันคิด และผลการศึกษาเพื่อร่วมกันหาทางออกและในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า “เราจำเป็นที่จะต้องช่วยกันทำให้พลังเสียงจากการสัมมนาเยาวชนไร้พรมแดนนี้ ให้ดังไปสู่ระดับนานาชาติ และสิ่งที่เรากำลังทำ คือกระบวนการการสร้างส่วนร่วม สร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต เปิดโอกาสให้พวกเขาขึ้นสู่เวทีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ เชื่อว่าการลงทุนในเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมไปในทางที่ดีขึ้นตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 16 ข้อขององค์การสหประชาชาติหรือ SDG 16 และจะส่งเสริมให้สังคมมีความสงบสันติ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคม ตลอดจนนำไปสู่ความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย และการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ วางใจได้ในทุกระดับของสังคม

หนึ่งใน 3 ประเด็นสำคัญที่เป็นความท้าทายของสังคมวันนี้ คือ จะทำอย่างไรให้ผู้ที่พ้นโทษจำคุกแล้ว สามารถกลับเข้ามาสู่สังคมได้อย่างกลมกลืน เยาวชนที่เข้าร่วมการสัมมนาได้ช่วยกันหาทางออก และชี้ให้เห็นว่าจำเป็นจะต้องผสานโครงการฟื้นฟูผู้ต้องขังและรับคนดีคืนสู่สังคมเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งในระบบยุติธรรม เพื่อให้ผู้ที่พ้นโทษแล้วได้รับการฟื้นฟู ได้รับการฝึกทักษะอาชีพ และสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างสง่างาม กลายเป็นประชากรที่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายและมีประสิทธิภาพต่อไป

ประเด็นที่สอง คือ กรณีที่เกี่ยวกับเพศซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลก ระบบยุติธรรมจะต้องระมัดระวังมากที่สุดที่จะไม่ซ้ำเติมผู้ที่ถูกละเมิดอันเนื่องจากความไม่ใส่ใจในประเด็นที่ละเอียดอ่อน เยาวชนที่เข้าร่วมสัมมนาได้รับมอบหมายให้ช่วยกันหาทางออกเพื่อให้ความยุติธรรมแก่เหยื่อของปัญหาเหล่านี้ ตามกรอบของผลงานการวิจัยของสถาบันเพื่อการยุติธรรมเรื่อง “สตรีคือผู้สร้างความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศ”

และประเด็นที่สำคัญอันสุดท้ายที่เยาวชนจะร่วมกันนำเสนอคือ การทำให้หลักนิติธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสงบสันติ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และ “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” โดยเยาวชนได้พิจารณาหาทางออกสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย ผู้พิการ และผู้อพยพ

“เมื่อเยาวชนเอ่ยปากแสดงจุดยืน เราผู้ใหญ่ต้องฟังให้ดี” ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น