xs
xsm
sm
md
lg

TIJ ผนึกกำลัง UNODC พลิกโฉมงานประชุมระดับสากลในรูปแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดงานแถลงข่าว งานสัมมนาเยาวชนไร้พรมแดน ที่ใช้เครื่องมือ Design Thinking มาผสานเทคโนโลยีเพื่อช่วยปลูกฝังหลักนิติธรรมให้แก่เยาวชน โดยเป็นการแถลงถึงผลที่ได้รับจากการจัดสัมมนาไปเมื่อวันก่อน

ในงานนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณอณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน Mr. Glenn Fajardo Expert on Design Across Borders จาก Stanford d.school และ คุณกันต์รวี กิตยารักษ์ ผู้ประสานงานโครงการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมงามและแถลงรายละเอียดถึงจุดประสงค์ของการจัดสัมมนาในครั้งนี้

คุณอณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน กล่าวว่า “ภารกิจหลักที่สำคัญคือต้องการส่งเสริมในเรื่องของหลักนิติธรรม ให้เป็นพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม ต้องการสร้างหลักนิติธรรมให้เป็นประโยชน์ และสร้างความเป็นธรรมให้แก่คนในสังคมได้จริงๆ จุดประสงค์คือต้องการดันหลักคิด นำเครื่องมือใหม่ๆเข้ามา มาทำให้เกิดการจุดประกายความหวังและสร้างแนวร่วมในทุกภาคส่วน คือการที่จะสร้างเรื่องแบบนี้ จะไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของนักกฎหมายหรือบุคคลที่อยู่ในระบบยุติธรรมเท่านั้น การที่จะทำให้สำเร็จได้นั้น การให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญมาก”

ความน่าสนใจที่นอกเหนือจากการเลือกเยาวชนเข้ามาเป็นแนวร่วมในการผลักดันแล้วนั้น การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีที่จะให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจกับปัญหา และรู้จักในเรื่องวิธีการมองปัญหาให้ลุ่มลึกมากขึ้น คือปลดล็อกความคิด ยิ่งเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี น่าจะเข้ามาช่วยเสริมและปิดช่องว่างเกี่ยวกับปัญหาสังคมได้ดีขึ้น ถ้าเขาสามารถเข้าใจปัญหาเหล่านั้นได้อย่างดี

คุณกันต์รวี กิตยารักษ์ ผู้ประสานงานโครงการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เสริมว่า “เด็กที่เข้าร่วม เขาก็ได้เข้ามาคุยกับเพื่อนๆ ได้เข้าใจ ได้ขีดเขียนจดบันทึก จากการที่เป็นเพียงผู้ฟังเพียงอย่างเดียว คือ เด็กไม่ต้องลงทุนอะไร ให้เด็กได้อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง สิ่งที่ต้องมี คือ การเชื่อมต่อได้ นั่นคือ อินเตอร์เน็ต ผ่านขั้นตอนการทำเวิร์กช้อปออนไลน์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เขาเข้าใจปัญหาในประเทศของเขาด้วย เราก็จะเอาสิ่งนั้นมาแบ่งปันร่วมกัน คือ ช่วยเปลี่ยนจากการเป็นแค่ผู้ฟัง มากลายเป็น ผู้คิดริเริ่มด้วย ทำให้เยาวชนได้รู้สึกว่าเขามีส่วนร่วม และเขาสามารถที่จะเข้ามาแก้ปัญหานั้นได้ เรียกว่าเป็นการปรับเปลี่ยน Mind Set ให้กับเยาวชน”

ความโดดเด่นของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ คือการใช้โปรแกรมที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี เป็นการลดต้นทุน แต่เพิ่มประโยชน์ที่มหาศาล

คุณกันต์รวี กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราใช้โปรแกรมที่สามารถดาวน์โหลดได้อย่างง่ายดาย นั่นคือ โปรแกรม Zoom จะคล้ายๆ Skypt แต่ Zoom จะพิเศษตรงที่สามารถรองรับคนได้ถึง 200 คนในการร่วมประชุม ถือเป็นความพิเศษของแอปพลิเคชันนี้”

ในการสัมมนา ประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ การแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและรับคนดีกลับสู่สังคม การยุติความรุนแรงทางเพศ และการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงความยุติธรรม จากการเข้าร่วมสัมมนาของกลุ่มเยาวชน พบว่า เด็กให้ความสนใจในเรื่อง การยุติความรุนแรงทางเพศ มากที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับในอีกหลายประเทศ แม้ว่าวันนี้อาจจะยังเป็นแค่เสียงเล็กๆ แต่การสัมมนาฯ ทำให้พบว่า “สุดท้ายความยุติธรรมมันก็คือเรื่องของฉัน ฉันออกแบบมันได้”

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากงานสัมมนาฯ เมื่อวันที่ 2-3 มีนาคมที่ผ่านมานั้น สำหรับแนวคิดที่เยาวชนได้ร่วมอภิปรายจะมีการนำเสนอต่อสหประชาชาติในงาน Asia-Pacific Forum on Sustainable Development ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้นโดย UNESCAP ในวันที่ 27-29 มีนาคม 2562 ผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและการส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา สามารถติดตามกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ทางhttps://www.facebook.com/tijthailand.org/ และ https://www.tijthailand.org/




กำลังโหลดความคิดเห็น