xs
xsm
sm
md
lg

ไหวมั้ย PPTV !!?? ถ้าต้องจ่ายอีก 5,000 ล้าน เพื่อเป็น Top 5

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


2,000 ล้านบาท !!!

คือตัวเลขที่ถูกระบุว่า เป็นเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่ที่ช่องเงินหนา อย่าง PPTV ของกลุ่ม “ปราสาททองโอสถ” ทุ่มให้กับการแข่งขันในสมรภูมิทีวีดิจิทัลในปีนี้ ซึ่งก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับในปีที่ผ่านมา

และเมื่อลองบวกลบคูณหารดู ถ้าจะนำพาช่องให้ก้าวชึ้นสู่ Top 5 ภายใน 3 ปี ดังคำประกาศศักดาครั้งล่าสุดของ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์” คีย์แมนคนสำคัญของช่อง นั่นหมายถึงว่าต้องใช้เม็ดเงินในการนี้อีกไม่น้อยกว่า 5,000 - 6.000 ล้านบาท

"ผมตั้งเป้าภาพใน 3 ปี จะขึ้นไปอยู่ใน Top 5 ถามว่ามีหลักสูตรพิเศษที่จะเร่งให้ติด Top 5 เร็วๆ มั้ยนั้น ไม่มี แต่อย่างน้อยๆ เราต้องตั้งเป้าหมายเอาไว้ อย่างที่บอกอะไรสำคัญที่สุดก็ต้องเป็นคอนเทนต์ ผมว่าอยู่ที่การทำการตลาดของแต่ละช่อง ว่าเขาอยากจะทำแนวแบบไหน เขาอยากจะจับกลุ่มคนดูแบบไหน คนดูเยอะสุดใช่ว่าจะเป็นช่องทำเงินเยอะสุด เพราะอยู่ที่กลุ่มรายการว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร

ผมมองว่าคนที่มาทำทีวีทุกคนก็มีเงินนะครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ดั่งใจหมดทุกอย่าง มันก็ต้องมีสัญญา คุณจะมีเงินก็แล้วแต่ ถ้าคุณไม่มีบทประพันธ์ คุณจะทำละครได้อย่างไร คุณจะมีเงินเท่าไหนก็แล้วแต่ ดาราติดสัญญาเขาจะมาเล่นให้คุณได้อย่างไร ทีวีเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินเยอะ เมื่อคุณกล้าตัดสินใจมาทำทีวี คุณรู้อยู่แล้วว่าคุณจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ผมบอกเลยว่าทุกคนคือเศรษฐีที่มาทำธุรกิจนี้"

การที่จะนำพาช่องไปถึงเป้าหมาย แต่ต้องแลกมาด้วยเม็ดเงินมหาศาลดังที่ว่านั้น ก็น่าคิดเหมือนกันว่า สุดท้ายท้ายสุดนั้น สิ่งที่ได้จะคุ้มกับสิ่งที่เสียหรือไม่ !!??

หรือเป็นไปได้มั้ย ว่าอาจจะมีการถอดใจเสียกลางทาง หากประเมินสถานการณ์แล้วว่า โอกาสที่จะไปถึงจุดนั้นริบหรี่ เต็มทน !!

แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะอันใกล้นี้ ก็ต้องมาว่ากันถึงเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท ที่นำมาแปรเป็นคอนเทนต์ในปีนี้ จะส่งผลให้ PPTV ก้าวขยับขึ้นมาได้มากน้อยขนาดไหน

เพราะดูจากการเปิดตัวละคร และรายการในลิสต์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องบอกเลยว่า งานนี้ PPTV พร้อมดับเครื่องชนทุกช่องอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะในภาคของละคร

PPTV คือช่องทางเลือกที่น่าสนใจที่สุดในตลาดตอนนี้ ที่จะรองรับบรรดานักแสดงที่ผันตัวออกมาเป็นอิสระกันมากมายเหลือเกิน ต่างจากเมื่อก่อนที่ดารามักจะผูกติดอยู่กับสัญญาของช่อง ซึ่งทางเลือกก็มีเพียงช่อง 7 กับช่อง 3 เท่านั้น

แต่ในยุคที่ทีวีดิจิทัลแข่งขันกันด้วยเรื่องของคอนเทนต์ นักแสดงก็นับเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ ที่จะนำมาเป็นอาวุธหลักในการลงสนามรบ จึงนับเป็นโอกาสดีที่เหล่านักแสดงต่างๆ เหล่านั้น จะได้มีช่องทางในการเลือกรับงานได้มากขึ้น

และแน่นอนว่า เมื่อดารานักแสดงไม่ได้ยึดติดกับเรตติ้งของช่อง ที่ไม่สามารถนำมาเป็นมาตรวัดความสำเร็จเหมือนในยุคก่อน นาทีนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากในงานเปิดผังละครของ PPTV จะมีรายนามของดารานักแสดงเบอร์ใหญ่หลายต่อหลายคนปรากฏอยู่ในนั้น

ไม่ว่าจะเป็นนุ่น-วรนุช , ชาคริต แย้มนาม , แอนดริว เกรกสัน, ออย-ธนา ,สมาร์ท-กฤษดา , ตุ้ย - ธีรภัทร์ , โดนัท - มนัสนันท์ , นุ่น - ศิรพันธ์ ฯลฯ

“แนวละครจะเน้นความหลากหลาย ซึ่งช่องใหญ่ก็ทำแบบนี้ เพื่อตอบโจทย์คนดูหลายกลุ่ม ส่วนความแตกต่างของเรา คือ การมีทีหลังจึงมีโอกาสเลือกทำงานกับคนที่มีความสามารถ ต่างจากช่องหลักที่มีทีมงานในสังกัดเท่านั้น แต่ของเราป้อนให้ตามความถนัด”

และแน่นอนว่า ถ้าจะปักธงกับการผลิตละครอย่างจริงจัง เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการขยายกลุ่มเป้าหมายของช่องให้กว้างขึ้น และครอบคลุมทุกกลุ่ม สมกับที่เป็น World Class TV and More ช่อง PPTV จึงเลือกที่จะต้องมีนักแสดงในสังกัด แทนที่จะฝากความหวังไว้ที่นักแสดงอิสระแต่เพียงอย่างเดียว

โดยการเลือกที่จะใช้ยุทธวิธีเดียวกับการได้มาซึ่งคอนเทนต์ใหญ่ๆ ตามที่เป็นข่าวฮือฮามาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว นั่นก็คือการ “ดูด” มาจากช่องอื่น เพราะมีฐานแฟนเดิมรอท่าอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาในการปลุกปั้น หรือสั่งสมคะแนนนิยมใหม่ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเงื่อนไขที่ดึงดูดมากพอที่จะทำให้นักแสดงตัดสินใจข้ามช่อง

ดังเช่นกรณีของ "ปุ๊กลุก-ฝนทิพย์ วัชรตระกูล” นางเอกเบอร์ต้นของวิกหมอชิต ที่ตัดสินใจเข้ามาประเดิมเป็นนักแสดงในสังกัดช่อง PPTV เป็นคนแรก ด้วยข้อต่อรองที่ไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ลง

นั่นคือสัญญาที่ไม่ได้ผูกมัดให้รับเฉพาะงานของช่องเท่านั้น เพียงแต่มีข้อตกลงที่กำหนดว่าภายใน 1 ปี จะต้องเล่นละครในช่องกี่เรื่องก็ว่ากันไป พร้อมทั้งมีการการันตีรายได้ที่สูงกว่าช่องอื่น ในขณะที่ยังสามารถรับงานอื่นได้แบบอิสระ ไม่เว้นแม้แต่จะเป็นละครต่างช่อง

“ช่องทีวีมีกำไรไม่กี่ช่อง ทีวีเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง การลงทุนเป็นพันล้านไม่ใช่เรื่องแปลก เป้าหมายของ PPTV ไม่ใช่เรื่องการประหยัดต้นทุน แต่ทำอย่างไรถึงจะมีคนดูเราต่อเนื่อง ซึ่งการจะมีรายการดีๆ ได้ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนสูง”

ถ้าลงทุนเป็นพันล้าน แล้วได้กลับมาหมื่นล้าน ก็น่าลงทุนอยู่หรอก แต่ถ้าลงไป แล้วสูญเปล่า ก็คงต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้ง

เพราะประเมินจากตัวเลขขาดทุนในแต่ละปี ที่แบกไว้กว่าปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท จนมาหนักสุดในปี 2560 ที่ซัดไปถึง 2,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดรายได้มีเพียง 317.16 ล้านบาท ส่วนในปี 2561 ที่ยังไม่มีการสรุปตัวเลขออกมา ก็คาดว่าน่าจะไม่ทิ้งห่างกันเท่าไหร่

ก็ได้แต่หวังใจว่า เจ้าของเงินคงจะไม่ถอดใจเสียก่อนที่จะไปถึงวันที่ก้าวขึ้นสู่ Top 5 ตามเป้าหมายที่วางไว้ !!!

นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 479 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2562
กำลังโหลดความคิดเห็น