xs
xsm
sm
md
lg

บทเพลงพระราชนิพนธ์ 5 ลำดับแรกของในหลวง ร.๙ องค์อัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อัครศิลปิน” แปลว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน” เป็นพระราชสมัญญานามที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ประติมากรรม หัตถศิลป์ วรรณศิลป์ ถ่ายภาพ และโดยเฉพาะด้านดนตรี ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านดนตรีเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องดนตรีได้หลายชิ้น ทั้งแซกโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต เปียโน กีตาร์ เป็นต้น ทรงเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่มีพระชนมายุ 13 พรรษา และทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อมีพระชนมายุ 18 พรรษา

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีความรู้แตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นำการประพันธ์เพลงในเมืองไทยด้วยระบบแบบสากลสิบสองเสียง(Chromatic Scale) ที่มีตัว 7 โน้ตหลักกับ 5 ตัวโน้ตครึ่งเสียง(แฟลช-b,ชาร์ป #) ซึ่งเดิมนักประพันธ์เพลงบ้านเราส่วนใหญ่จะนิยมประพันธ์เพลงด้วยระบบตัวโน้ตห้าเสียง(Pentatonic Scale)ที่เป็นซุ่มเสียงสำเนียงแบบไทยๆดั้งเดิม(ไม่มีตัวโน้ตครึ่งเสียง)

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยท่วงทำนองที่แปลกใหม่ มีทางคอร์ดที่แปลกใหม่ซับซ้อน แต่สามารถสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างไพเราะประทับใจ

เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีทั้งเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง แล้วจึงใส่คำร้องด้วยพระองค์เอง ได้แก่ เพลง ”Still on My mind”(ในดวงใจนิรันดร์), “Old-Fashioned Melody”(เตือนใจ),“No Moon”(ไร้เดือน, ไร้จันทร์),“เกาะในฝัน”(Dream Island) และ “Echo”(แว่ว) เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากคำร้องภาษาไทยคือ “ความฝันอันสูงสุด”(คำร้อง : ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค) และ “เราสู้”(คำร้อง: นายสมภพ จันทรประภา) นอกจากนั้นก็เป็นเพลงที่พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นมา แล้วโปรดเกล้าฯให้มีผู้แต่งคำร้องประกอบ

สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีทั้งหมด 48 เพลง(ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489-2538) และนี่ก็คือ 5 ลำดับแรกของบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งไล่เรียงตามลำดับไป ได้แก่

แสงเทียน



แสงเทียน” หรือ “Candlelight Blues” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 ขณะทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ(ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์) นิพนธ์คำร้องภาษาไทย

แสงเทียน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในท่วงทำนองบลูส์ แม้จะเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก แต่เนื่องจากพระองค์ท่านทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขทำนอง และคอร์ดบางตอนให้ดีกว่าเดิม จึงยังไม่ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานให้นำออกบรรเลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานให้นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรก จากนั้นในปี พ.ศ. 2496 นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล) ได้ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวาย
ยามเย็น



ยามเย็น” หรือ “Love at Sundown” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

ยามเย็น เป็นงานทดลองในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต(จังหวะเต้นรำ)ที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น

ยามเย็น แม้จะเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงที่ 2 แต่เป็นเพลงแรกที่ออกนำบรรเลงสู่ประชาชน โดยพระองค์ท่านทรงพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็นที่มีคำร้องสมบูรณ์ให้นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
สายฝน



สายฝน” หรือ “Falling Rain” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

สายฝน เป็นเพลงทดลองในจังหวะวอลซ์(3/4) เพลงนี้มีลีลานุ่มนวลอ่อนหวาน ไพเราะสวยงาม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรเลงครั้งแรกโดยวงสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่เวทีลีลาศสวนอัมพร ในงานรื่นเริงของสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย

เพลงสายฝนได้รับความนิยมอย่างสูงติดอันดับเพลงลีลาศยอดนิยมในสมัยนั้น(และเป็นหนึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์ยอดนิยมต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน) ซึ่งมีพระราชกระแสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล่าถึงความลับของเพลงนี้ว่า

“...เมื่อแต่งเป็นเวลา 6 เดือน หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้เขียนจดหมายถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะท่านไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไป เข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่งก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด...ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่ง คือเขียนไป 4 ช่วง แล้วก็ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกช่วงที่ 2 กลับไป ทำให้เพลงมีลีลาต่างกันไป...เป็น 1 3 2 4...”
ใกล้รุ่ง



ใกล้รุ่ง” หรือ “Near Dawn” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงช่วยแก้ไข

เพลงใกล้รุ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลงครั้งแรก ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489
ชะตาชีวิต



ชะตาชีวิต” หรือ “H.M. Blues” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครบ 20 พรรษา ในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งนักเรียน ข้าราชการ และคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน

โดยในวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2490 มีการตั้งวงเล่นดนตรีที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงดนตรีด้วย ในงานมีการให้ทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ H.M.Blues ว่า H.M. แปลว่าอะไร ผู้ที่จะทาย ต้องซื้อกระดาษสำหรับเขียนคำทายใบละครึ่งฟรังซ์ จุดประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับช่วยเหลือคนจน โดยวงดนตรีบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยุดพัก

ระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ H.M. Blues เนื้อเพลงมีใจความว่า “คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรี ต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว”

ทั้งนี้ในงานไม่มีผู้ใดทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว เพราะทุกคนต่างคิดว่า H.M. Blues ย่อมาจาก His Majesty 's Blues ซึ่งแปลว่าเพลงบลูส์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่แท้ที่จริงแล้ว H.M.Blues ย่อมาจาก Hungry Men's Blues แปลว่าเพลงบลูส์ของผู้ที่หิวโหยต่างหาก

สำหรับเนื้อร้อง H.M.Blues ในภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษ ยังไม่ได้พระราชทานลงมา และเพราะต้นฉบับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ดร.ประเสริฐ จึงใส่คำร้องภาษาไทย ที่มีความหมายออกมาคนละอย่าง เป็นหนึ่งในเพลงที่มีเนื้อหาลึกซึ้งกินใจมาก

เพลงชะตาชีวิต หรือ H.M. Blues เป็นเพลงบลูส์ 12 ห้อง มีท่วงทำนองเรียบง่าย แต่จับอารมณ์ ถือเป็นหนึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์ที่ถูกยกย่างว่ายอดเยี่ยมมากทั้งทำนอง-เนื้อร้อง โดย “Howard Robert” มือกีตาร์แจ๊ซระดับโลกได้กล่าวยกย่องเพลงนี้ว่า

...ครั้งแรกที่ได้ยินเพลงนี้ เขาไม่เชื่อว่านี่คือผลงานการพระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยหรือชาวเอเชีย เพราะเพลงนี้คือเพลงบลูส์ ของคนผิวดำอย่างแท้จริง คนที่ทำได้ถึงขนาดนี้น่าจะเป็นคนผิวดำ เจ้าตำรับบลูส์เท่านั้น...

และนี่ก็คือบทเพลงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ 5 อันดับแรก ซึ่งนอกเหนือไปจาก 5 บทเพลงตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็ยังมีบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่น่าสนใจ อาทิ “ดวงใจกับความรัก” (Never Mind the Hungry Men's Blues), “อาทิตย์อับแสง” (Blue Day), “เทวาพาคู่ฝัน” (Dream of Love Dream of You), “แก้วตาขวัญใจ” (Lovelight in My Heart), “แสงเดือน” (Magic Beams) และ “ความฝันอันสูงสุด” (The Impossible Dream) เป็นต้น

สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้ง 48 เพลง หลายๆบทเพลงนอกจากจะมีความไพเราะสวยงาม มีเนื้อหาลึกซึ้งกินใจแล้ว ยังเป็นที่รู้จักของคนไทยเป็นอย่างดี และคงเป็นความอมตะมาจนทุกวันนี้

รายบทเพลงพระราชนิพนธ์ ทั้ง 48 บทเพลง ไล่เรียงตามลำดับ มีดังนี้

1.แสงเทียน (Candlelight Blues) ปี พ.ศ. 2489
2. ยามเย็น (Love at Sundown) ปี พ.ศ. 2489
3. สายฝน (Falling Rain) ปี พ.ศ. 2489
4. ใกล้รุ่ง (Near Dawn) ปี พ.ศ. 2489
5. ชะตาชีวิต (H.M. Blues) ปี พ.ศ. 2490
6. ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men's Blues) ปี พ.ศ. 2490
7. มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March) ปี พ.ศ. 2491
8. อาทิตย์อับแสง (Blue Day) ปี พ.ศ. 2492
9. เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You) ปี พ.ศ. 2492
10. คำหวาน (Sweet Words) ปี พ.ศ. 2492
11. มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn) ปี พ.ศ. 2492
12. แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart) ปี พ.ศ. 2492
13. พรปีใหม่ ปี พ.ศ. 2494
14. รักคืนเรือน (Love Over Again) ปี พ.ศ. 2495
15. ยามค่ำ (Twilight) ปี พ.ศ. 2495
16. ยิ้มสู้ (Smiles) ปี พ.ศ. 2495
17. มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March) ปี พ.ศ. 2495
18. เมื่อโสมส่อง (I Never Dream) ปี พ.ศ. 2495
19. ลมหนาว (Love in Spring) ปี พ.ศ. 2497
20. ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag) ปี พ.ศ. 2497
21. Oh I say ปี พ.ศ. 2498
22. Can't You Ever See ปี พ.ศ. 2498
23. Lay Kram Goes Dixie ปี พ.ศ. 2498
24. ค่ำแล้ว (Lullaby) ปี พ.ศ. 2498
25. สายลม (I Think of You) ปี พ.ศ. 2500
26. ไกลกังวล,เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย(When) ปี พ.ศ. 2500
27. แสงเดือน (Magic Beams) ปี พ.ศ. 2501
28. ฝัน,เพลินภูพิงค์(Somewhere Somehow) ปี พ.ศ. 2502
29. มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March) ปี พ.ศ. 2502
30. ภิรมย์รัก (A Love Story) ปี พ.ศ. 2502
31. Nature Waltz ปี พ.ศ. 2502
32. The Hunter ปี พ.ศ. 2502
33. Kinari Waltz ปี พ.ศ. 2502
34. แผ่นดินของเรา (Alexandra) ปี พ.ศ. 2502
35. พระมหามงคล ปี พ.ศ. 2502
36. ยูงทอง ปี พ.ศ. 2506
37. ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind) ปี พ.ศ. 2508
38. เตือนใจ (Old-Fashioned Melody) ปี พ.ศ. 2508
39. ไร้เดือน,ไร้จันทร์(No Moon) ปี พ.ศ. 2508
40. เกาะในฝัน (Dream Island) ปี พ.ศ. 2508
41. แว่ว (Echo) ปี พ.ศ. 2508
42. เกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ. 2509
43. ความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream) ปี พ.ศ. 2514
44. เราสู้ ปี พ.ศ. 2516
45. เรา-เหล่าราบ ๒๑ (We-Infantry Regiment 21) ปี พ.ศ. 2519
46. Blues for Uthit ปี พ.ศ. 2522
47. รัก ปี พ.ศ. 2537
48. เมนูไข่ ปี พ.ศ. 2538

หมายเหตุ : -ข้อมูลบทเพลงพระราชนิพนธ์ 5 อันดับแรก อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย
-ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น