xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โปรดเกล้าฯ สร้างพระพุทธรูปประจำ รพ.จุฬาภรณ์ พร้อมส่วนขยาย 400 เตียง ครบวงจรทุกโรค
นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวในการแถลงข่าวโครงการจัดสร้าง “พระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์” พระพุทธรูปประจำโรงพยาบาล ในโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลส่วนขยาย 400 เตียง ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษาในปี 2560 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยายขนาด 400 เตียง เพื่อเป็นโรงพยาบาลครบวงจร ที่เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และครอบคลุมการรักษาทุกโรค สามารถช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้มีโอกาสได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และเทคโนโลยีการรักษาขั้นสูงอย่างทั่วถึง รวมทั้งผู้ป่วยที่ยากไร้จากท้องถิ่นที่ห่างไกล และผู้ป่วยที่ทรงรับไว้ในพระอนุเคราะห์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียม

ในการนี้ได้ทรงมีพระดำริให้จัดสร้างพระพุทธรูปประจำโรงพยาบาล และทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์” หรือพระพุทธโอสถ สูง 1.97 เมตร ปางนาคปรก บนพระหัตถ์มีหม้อยา โดยได้รับอิทธิพลจาก “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต” ซึ่งในคติมหายานเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าแห่งการรักษาโรค เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการ ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป

นอกจากนั้น ยังทรงมีพระดำริให้ประชาชนทุกคน มีโอกาสร่วมทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลนี้ โดยร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ และซื้อเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยาย 400 เตียง ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำเหรียญ “พระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์” เป็นที่ระลึกแก่ผู้่มีจิตศรัทธาบริจาค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ปราศจากโรคภัยทั้งปวงอีกด้วย

พระสงฆ์-สามเณร ทั่วประเทศเสี่ยงสูงโรคเรื้อรัง อายุ 35 ปีขึ้นไป เสี่ยงไตผิดปกติ 8 เท่า!
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ และสามเณรทั่วประเทศ พบปัญหาด้านสุขภาพแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยพระสงฆ์สามเณรในเขตกรุงเทพ มีไขมันผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะโรคอ้วนมากที่สุด เขตภาคใต้ มีภาวะกรดยูริกสูง และการทำงานของไตผิดปกติ เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีภาวะโลหิตจาง

นอกจากนั้น ยังพบว่าพระสงฆ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการทำงานของไตผิดปกติถึง 8 เท่า หากมีภาวะอ้วนก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติถึง 2 เท่า และหากมีภาวะอ้วนลงพุง จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานถึง 2 เท่า แสดงให้เห็นว่า พระสงฆ์มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าว

กรมการแพทย์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริม ป้องกัน และบำบัดรักษา เพื่อให้พระสงฆ์สามเณร มีสุขภาพดี จึงได้จัดโครงการพัฒนาการดูแลสุขภาพพระสงฆ์สามเณรขึ้น ซึ่งจะมีการคัดกรองประเมินสถานะสุขภาพพระสงฆ์สามเณร เพื่อกำหนดแนวทาง และรูปแบบในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินการในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต และทุกภาคทั่วประเทศ

“ผีตาโขน” โกอินเตอร์ร่วมโชว์งานหน้ากากที่อิตาลี
“ผีตาโขน” ประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิม ของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โกอินเตอร์ร่วมแสดงในงานหน้ากาก เวนิส คาร์นิวัล ประเทศอิตาลี นักท่องเที่ยว-ช่างภาพต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

นางสุปราณี จันทร์หล่ม ตัวแทนชมรมวัฒนธรรมไทย ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของไทยที่ได้นำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดเลย มาแสดงโชว์ในงานเทศกาล “หน้ากาก เวนิส คาร์นิวัล” ที่ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 28 มกราคม-9 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งทางสถานกงสุลไทย ประจำเมืองเวนิส ร่วมกับชมรมวัฒนธรรมไทยในเวนิส ประสานงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอิตาลี เพื่อนำการแสดง “ผีตาโขน” จากอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มาร่วมแสดงในงานดังกล่าว เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นผีตาโขนของจังหวัดเลยไปสู่เวทีระดับสากล

โดยผีตาโขนสามารถสร้างสีสัน สร้างความสนุกสนาน ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ระหว่างการแสดงมีนักข่าวช่างภาพจากนานาประเทศ ให้ความสนใจถ่ายภาพและสอบถามพูดคุยกับคณะนักแสดงเป็นจำนวนมาก

โดยปีนี้การจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนที่จังหวัดเลย จะจัดขึ้นในวันที่ 6 - 8 กรกฎาคม 2559 จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวและผู้สนใจมาเที่ยวงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนในวันดังกล่าว โดยทั่วกัน

สธ.จับมือคณะแพทยศาสตร์ 19 มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบส่งต่อ ผลิตบุคลากรและวิจัยพัฒนา
กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือคณะแพทยศาสตร์ 19 มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบบริการ การส่งต่อ ผลิตบุคลากร และการวิจัย เป็นครั้งแรกของวงการสาธารณสุขไทย

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้ เป็นครั้งแรกของวงการสาธารณสุขที่มีการบูรณาการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมมือกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ทุกเขตสุขภาพ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย รักษาเบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ เพื่อลดป่วย ลดตาย ลดแออัด และลดการรอคอย

ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาระสำคัญข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1. ด้านบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และระบบส่งต่อ ในการเพิ่มเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้ได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐานภายในเขตสุขภาพ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยครบวงจรภายในเขตสุขภาพแบบไร้รอยต่อ 2. ด้านผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษา ทั้งก่อนปริญญา และหลังปริญญา 3. ด้านวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับติดตามและประเมินผล เพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

โพลล์ชี้ ปชช.ส่วนใหญ่บูชาเครื่องราง เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น
สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่อพฤติกรรมการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-5 กุมภาพันธ์ 2559

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,172 คน ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 51.11 และเพศชาย ร้อยละ 48.89 มีอายุเฉลี่ย 25 ถึง 34 ปี โดยสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่ทำให้ผู้คนในสังคมหันไปนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางต่างๆ คือ เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตตนเองดีขึ้นร้อยละ 83.02 ต้องการสร้างความมั่นใจให้กับตนเองร้อยละ 80.72 ทำตามกระแสความนิยมร้อยละ 78.07 มีผู้แนะนำ/ชักชวนให้นับถือบูชาร้อยละ 75.17 และต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจร้อยละ 72.53 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.89 ยอมรับว่า โดยส่วนตัวตนเองมีวัตถุเครื่องรางไว้นับถือบูชา ขณะที่ร้อยละ 44.11 ระบุว่าไม่มี

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.43 มีความคิดเห็นว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจ นำเสนอบริการเฉพาะให้กับผู้นับถือบูชาวัตถุเครื่องรางในปัจจุบันนั้น เป็นเพียงแผนการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่ร้อยละ 24.83 เชื่อว่าเกิดจากความตั้งใจศรัทธาเคารพในความเชื่อส่วนบุคคลจริงๆ ส่วนร้อยละ 6.74 ไม่แน่ใจ

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.22 มีความคิดเห็นว่า สื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกระแสการนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางของผู้คนในสังคมมากเกินไป ขณะเดียวกันร้อยละ 54.69 มีความเห็นว่า ข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ มีส่วนทำให้ผู้คนในสังคมหันไปนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 64.76 มีความเห็นว่า หากพระสงฆ์ทุกวัด/สำนักสงฆ์ไม่มีการทำพิธีปลุกเสกลงอักขระวัตถุเครื่องรางต่างๆ จะมีส่วนช่วยลดกระแสการหันไปนับถือบูชาวัตถุเครื่องราง แทนการยึดหลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนาของผู้คนในสังคมได้ และร้อยละ 66.89 มีความคิดเห็นว่า หากมีการเผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนาที่ถูกต้องให้กับผู้คนมากขึ้น จะมีส่วนช่วยลดกระแสการหันไปนับถือบูชาวัตถุเครื่องรางต่างๆได้

สธ.เปิดบริการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ทั่วประเทศ ภายในปี 2561
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเปิดประชุมพัฒนาการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล Long Term Care “รวมพลังขับเคลื่อน สังคมผู้สูงวัย เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับสูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล (Long Term Care) จัดระบบการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน เป็นบริการเชิงรุกให้บริการถึงบ้าน เน้นการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลจากทีมสหวิชาชีพ จากหน่วยบริการปฐมภูมิอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีการจัดอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) หลักสูตร 70 ชม. เช่น การช่วยเหลือผู้สูงอายุเบื้องต้น การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และการใช้ยาในผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนในครอบครัวผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง เป็นอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมต่อเนื่อง และกลับมาพึ่งตนเองได้

ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขตรวจคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุจำนวน 6,394,022 คน เป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง กลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ที่ต้องได้รับการบริการด้านสุขภาพและสังคมประมาณ 1.3 ล้านคน โดยในปี 2559 จะดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศ 100,000 คนในพื้นที่ 1,000 ตำบล และจะขยายให้ครอบคลุมครบทุกตำบล 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น