xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หุ่นยนต์พระญี่ปุ่นสอนสัจธรรม “ความไม่เที่ยง”
ญี่ปุ่น : ช่วงกลางยุค ค.ศ. 1990 วัดโฮโตกูจิ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการตอบรับจากคนในชุมชนอย่างมิคาดฝัน ภายหลังการปรากฏตัวของ “หุ่นยนต์พระ” 2 ตัว ที่สวดมนต์และตีกลองได้โดยอัตโนมัติ เมื่อมีผู้มาเยือนวิหารภายในวัด

“อาตมาเชื่อว่า วัดต้องพยายามนำสิ่งที่เกิดร่วมสมัย มาผสมผสานให้ดูมีชีวิตชีวา เพื่อนำเสนอต่อผู้มีจิตศรัทธา และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมอาตมาจึงไม่รีรอที่จะมีหุ่นยนต์พระ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน มันได้กลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่วัดมาโดยตลอด” ไอชุน ฮานาฟูซะ เจ้าอาวาสวัดโฮโตกูจิ วัย 55 ปี กล่าว

หุ่นยนต์พระทั้ง 2 ตัว มีชื่อว่า “พระหมายเลข 1” และ “พระสำรอง” สูง 70 ซม. อยู่ในท่านั่ง สร้างโดยวิศวกรคนหนึ่งที่นำวัสดุทิ้งแล้วมาประกอบขึ้น โครงร่างทำด้วยรางน้ำฝน มือเคลื่อนไหวด้วยมอเตอร์ปัดน้ำฝนกระจกรถยนต์ นุ่งห่มเครื่องแต่งกายแบบสงฆ์ จากนั้นได้ถวายให้วัดโฮโตกูจิ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลแด่มารดาผู้ล่วงลับซึ่งมาที่วัดนี้เป็นประจำ

การทำงานของหุ่นยนต์พระนั้น เมื่อฆราวาสเดินเข้าในวิหาร ระบบเซนเซอร์ของหุ่นยนต์จะทำงาน เริ่มตีกลอง และขับขานบทสวดมนต์ ซึ่งเจ้าอาวาสได้บันทึกไว้ หรือเมื่อมีการจัดพิธีศพและพิธีรำลึกในวิหาร เจ้าอาวาสและภิกษุรูปอื่นๆ รวมทั้งหุ่นยนต์พระ 1 ตัว จะเข้าร่วมในพิธี

เริ่มแรกบรรดาฆราวาสและเด็กๆ รวมถึงโจรที่เข้ามาขโมยเงินบริจาคของวัด ต่างพากันตกใจกลัวหุ่นยนต์พระ แต่ในที่สุด หุ่นยนต์พระทั้งสองก็ได้กลายเป็นขวัญใจของคนในชุมชน และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาที่วัด จนกระทั่งวัดและศาลเจ้าอื่นๆในพื้นที่ ขอให้วิศวกรคนเดิมช่วยสร้างหุ่นยนต์พระให้บ้าง

ปัจจุบัน หุ่นยนต์พระทั้งคู่มีอายุเกือบ 20 ปีแล้ว จึงเริ่มมีอาการรวน ตีกลองไม่ถูกจังหวะ แต่ไม่มีใครรู้วิธีซ่อม เพราะวิศวกรผู้สร้างได้เสียชีวิตไปแล้ว และดูเหมือนหุ่นทั้งสองกำลังสอนสัจธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า “สรรพสิ่งบนโลกล้วนไม่เที่ยง”

กูรูโชว์ใช้แม่พิมพ์ไม้เก่าแก่ พิมพ์ภาพในพุทธศาสนา
เกาหลีใต้ : บัน ยง แจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ภาพด้วยแม่พิมพ์ไม้ ได้โชว์ทักษะการพิมพ์ภาพด้วยแม่พิมพ์ไม้ที่ทำขึ้นใน ค.ศ. 1781 ณ พิพิธภัณฑ์ซุนชอน จังหวัดช็อลลาใต้ ประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้ กองจัดการมรดกวัฒนธรรมและสถาบันวิจัยมรดกวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา ได้รวบรวมข้อมูลแม่พิมพ์ไม้ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อเลือกเรื่องที่มีความสำคัญเหมาะที่จะนำมาพิมพ์

เกาหลีใต้ขุดพบพระพุทธรูปเก่า อายุกว่า 1,000 ปี
เกาหลีใต้ : สำนักข่าว Koreaherald รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ มีการขุดพบพระพุทธรูปโบราณ ภายในบริเวณวัดแห่งหนึ่งในมณฑลแยงยัง จังหวัดคังว็อน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้ขุดพบเจดีย์หิน 1 องค์ และโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งก่อนหน้านี้

พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดสูงกว่า 50 ซม. สันนิษฐานว่า ทำขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับพระพุทธรูปอื่นๆในยุคเดียวกัน ซึ่งทีมนักวิจัยจะทำการตรวจสอบพระพุทธรูป เพื่อดูว่าจะนำขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติได้หรือไม่

“ตามรายงานของทีมผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาตรวจสอบพระพุทธรูป ณ บริเวณที่ขุดพบ ระบุว่า อาจเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในลักษณะเดียวกันของยุคอาณาจักรรวมชิลลา (ค.ศ. 668-935) และมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งในด้านศิลปะและประวัติศาสตร์” เจ้าหน้าที่กองมรดกวัฒนธรรมคนหนึ่งกล่าว

“ติช นัท ฮันห์” ภิกษุชื่อดังชาวเวียดนาม ได้รับรางวัลสันติภาพ “Pacem in Terris Award”
สหรัฐอเมริกา : สำนักข่าว QC Times รายงานว่า ติช นัท ฮันห์ ภิกษุชาวเวียดนามชื่อดังในพุทธศาสนานิกายเซนได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้ได้รับรางวัล Pacem in Terris Peace and Freedom Award ประจำ ค.ศ. 2015

ปัจจุบัน ติช นัท ฮันห์ อายุ 89 ปี เกิดในประเทศเวียดนาม เมื่อ ค.ศ. 1949 ได้อุปสมบทเป็นภิกษุนิกายเซน ท่านได้รณรงค์เพื่อยุติสงครามเวียดนาม และพยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและพัฒนาวงการสงฆ์ ด้วยการสอนและเขียนบทความต่างๆ จนถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรพุทธและรัฐบาลเวียดนาม จนในที่สุดต้องลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศส และได้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม ที่เมืองบอร์โดซ์ ในค.ศ.1982 เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของชุมชนสงฆ์

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 ติช นัท ฮันห์ อาพาธจากอาการเลือดออกในสมอง และปัจจุบันพักฟื้นอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยได้มีการมอบรางวัลดังกล่าวผ่านผู้แทน และภิกษุเวียดนาม 120 รูป เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2015

อนึ่ง Pacem in Terris Peace and Freedom Award เป็นรางวัลสันติภาพของคริสตจักรโรมันคาทอลิก เพื่อยกย่องบุคคลที่สร้างสันติภาพและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นทั่วโลกได้สำเร็จ โดยสภาคริสตจักรโรมันคาทอลิกนานาชาติแห่งเมืองแดเวนพอร์ต รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ได้มอบเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ ค.ศ.1964

ผลสำรวจชี้..วัดในญี่ปุ่นร้างกว่า 12,000 แห่ง
ญี่ปุ่น : เมื่อเร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจวัดทั่วประเทศ พบว่า ปัจจุบันมีวัดมากกว่า 12,000 แห่งที่เป็นวัดร้าง ไร้พระสงฆ์จำวัด ซึ่งอาจนำไปสู่การสิ้นสุดของศูนย์รวมชุมชนท้องถิ่นในอนาคต

จำนวนวัด 12,065 แห่งนี้ เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายชั้นนำ 10 นิกายของญี่ปุ่น อาทิ โซโตะ, โจโด, นิชิเรน, ชินงอน, เทนได และรินไซ ซึ่งนับเป็น 16% ของวัดทั้งหมด 75,900 แห่งทั่วประเทศ โดยมีวัด 434 แห่งปิดตัวลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านไม่อาจเข้าไปดูแลสุสานของตระกูลและประกอบพิธีกรรมได้

“วัดพุทธยังคงเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง การปิดตัวลงจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชาวบ้านลดน้อยลง ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของทุกนิกายในปัจจุบัน” ไซเท็ตสึ นาคามุระ ผู้อำนวยการกองกิจการทั่วไปของนิกายโจโด กล่าว

โตชิโนริ คาวามาตะ ศาสตราจารย์ด้านศาสนสังคมวิทยาแห่งวิทยาลัยซูซุกะ จังหวัดมิเอะ กล่าวว่า โรงเรียนสงฆ์จำต้องทบทวนระบบการสืบทอดวัดต่างๆ อันเป็นมรดกดังที่ใช้ในปัจจุบัน ต้องมีระบบการส่งบรรดาภิกษุหนุ่มที่เพิ่งจบการฝึกอบรมไปประจำยังวัดร้าง เพื่อช่วยให้วัดยังคงเป็นศูนย์รวมชุมชน

ขณะที่โรงเรียนสงฆ์นิกายรินไซได้ฝึกอบรมเหล่าฆราวาสผู้เกษียณจากงานในวัย 60- 70 ปี กว่า 20 คน ให้เป็นนักเทศน์ประจำวัดร้างต่างๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 2012

สารคดีวัดไต้หวันชนะเลิศประกวด เทศกาลภาพยนตร์ที่โปรตุเกส
ไต้หวัน : สำนักข่าว Taipei Times รายงานว่า ภาพยนตร์สั้นสารคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัดพุทธแห่งหนึ่งในเทศมณฑลฮวาเหลียน ประเทศไต้หวัน ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดใน ART&TUR International Tourism Film 2015 ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวนานาชาติ ที่จัดขึ้นในประเทศโปรตุเกส โดยปีนี้มีภาพยนตร์กว่า 200 เรื่อง จากประเทศต่างๆกว่า 50 ประเทศ ส่งเข้าประกวด

“Qingxiu Yan Through the Ages” ผลิตโดยหวัง ชุน-เชียะ ใช้เวลา 3 ปี เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับวัดชิงซิวหยวน ในประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นวัดทางพุทธศาสนานิกายชินงอน ที่สร้างโดยชาวญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.1917 เนื้อหาเป็นสารคดีความยาว 15 นาทีที่ให้ข้อมูลทั่วไปของวัด ซึ่งชาวญี่ปุ่นเคยใช้เป็นศูนย์พุทธศาสนา เมื่อครั้งที่ไต้หวันตกเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น โดยภายในวัด ประกอบด้วยศูนย์การแพทย์ ห้องเรียน และห้องประกอบพิธีศพ

วัดชิงซิวหยวนถูกประกาศให้เป็นมรดกแห่งเทศมณฑลใน ค.ศ.1997 ได้รับการบูรณะจนเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 2003 และเปิดสู่สาธารณชนอีกครั้ง จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ดึงดูดชาวญี่ปุ่นให้เข้าเยี่ยมชมในเวลาต่อมา

เชน ยิ-เช็ง ผู้จัดการวัด กล่าวว่า เรื่องราวของวัดชิงซิวหยวนเป็นตัวอย่างที่ดีของไต้หวัน ซึ่งเขาหวังว่า สารคดีดังกล่าวจะทำให้ไต้หวันได้รับความสนใจจากนานาประเทศมากยิ่งขึ้น

แผ่นดินไหวในอัฟกานิสถาน ทำลายพุทธสถานมรดกโลกในปากีสถาน
ปากีสถาน : เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ที่บริเวณเทือกเขาฮินดูกูชในอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2015 แรงสั่นสะเทือนได้ส่งผลกระทบให้เกิดรอยร้าวในบริเวณวัดตัก บาฮิ (ตักไบ) และ “โจเลียน” อันเป็นพุทธสถานมรดกโลก รวมถึงบรรดาพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุในแหล่งอารยธรรมยุคคันธาระของปากีสถานด้วย

อับดุล ซามัด ผู้อำนวยการกองโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์จังหวัดไคเบอร์ ปักตันควา เผยถึงรายงานความเสียหายเบื้องต้นว่า ผนังด้านหนึ่งของวัดตัก บาฮิ ถล่มลง และเกิดรอยร้าวอย่างเห็นได้ชัด ห้องภายในมีรอยร้าว กำแพงโดยรอบวัดเอียงลง

ขณะที่วัดจามาล การ์ฮิ ซึ่งอยู่ในรายชื่อรอขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้น ได้รับความเสียหายมากที่สุด เนื่องจากกำแพงได้พังทลายลง รวมถึงพิพิธภัณฑ์ต่างๆในหุบเขาสวัตและเมืองเปชวาร์ เกิดรอยร้าวทั่วบริเวณ

“ผมรู้ว่า ความเสียหายครั้งนี้สาหัสมาก แม้แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถบูรณะพุทธสถานเหล่านี้ได้โดยลำพัง” ซามัด กล่าว เนื่องจากงานโบราณคดีในปากีสถานได้รับงบประมาณเพียงเล็กน้อย

อนึ่ง แผ่นดินไหวครั้งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่ออินเดียและปากีสถาน คร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 250 ราย และทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 180 พฤศจิกายน 2558 โดย เภตรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น