xs
xsm
sm
md
lg

คิดเป็นเห็นทาง : วีรพงษ์ เกรียงสินยศ กับบทบาทของ มูลนิธิสุขภาพไทย ผู้จุดประกายเรื่องสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบัน การใช้สมุนไพรไทยเป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งในลักษณะที่กินเป็นอาหาร ใช้เป็นยารักษาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย และนำมาเป็นส่วนผสมของสินค้าอุปโภคต่างๆ เช่น สบู่ ยาสระผม เครื่องสำอาง ฯลฯ

แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า กว่าภูมิปัญญาของไทยแขนงนี้จะเป็นที่ยอมรับของผู้คน มีหน่วยงานหนึ่งที่ต้องทุ่มเททำงานอย่างหนัก เพื่อให้คนไทยเข้าใจ เห็นคุณค่า อีกทั้งยังหันมาช่วยกันอนุรักษ์พืชพันธุ์สมุนไพรของไทยให้คงอยู่ และเกิดประโยชน์ต่อคนไทยมากที่สุด นั่นก็คือ 'มูลนิธิสุขภาพไทย'

มูลนิธิแห่งนี้ไม่ได้เพียงแค่มีบทบาทและคุณูปการต่อแวดวงสมุนไพรไทยเท่านั้น แต่ยังเข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งทำให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญของการผลิตและบริโภคพืชผักปลอดสารพิษอีกด้วย

บุกเบิกการใช้สมุนไพร

'วีรพงษ์ เกรียงสินยศ' กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย บอกเล่าถึงความเป็นมาของมูลนิธิสุขภาพไทยว่า มูลนิธิแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของคนไทย

ซึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักคือ เรื่องการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย เนื่องจากมูลนิธิเห็นว่า สมุนไพรไทยนั้นมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ ทั้งในด้านการสร้างสมดุลของร่างกายและการบำบัดรักษาโรค

“จริงๆเราเริ่มทำงานด้านสุขภาพกันตั้งแต่ปี 2523 แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นมูลนิธิ เราใช้ชื่อว่าโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ซึ่งอยู่ในสังกัดของมูลนิธิโกมล คีมทอง ต่อมาในปี 2538 เราก็ก่อตั้งเป็นมูลนิธิ โดยบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งได้แก่ เภสัชกรสุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล และคุณรสนา โตสิตระกูล

ในยุคแรก งานหลักของเราคือการฟื้นฟูให้คนกลับมาใช้สมุนไพร เนื่องจากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพร เวลาเจ็บป่วยก็ใช้แต่ยาฝรั่ง เพราะมีความเชื่อว่ายาฝรั่งเป็นยาดี มีคุณภาพ เพราะมาจากการศึกษาค้นคว้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดูน่าเชื่อถือกว่าสมุนไพรไทย

ดังนั้น งานหลักๆของเราจะเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้สมุนไพรจริงๆ สมุนไพรที่ฮิตกันตอนนี้หลายตัวก็มาจากฐานความรู้และการเก็บข้อมูลของโครงการสมุนไพรของเรา เช่น ฟ้าทลายโจร ว่านหางจระเข้ เสลดพังพอน ขมิ้นชัน

โดยเฉพาะขมิ้นชัน แต่ก่อนไม่มีใครเชื่อเลยว่าจะสามารถรักษาโรคกระเพาะได้ แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของขมิ้นชันมากมาย หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่เกิดสารเคมีระเบิดที่คลองเตย เราก็พยายามบอกว่า ให้ใช้รางจืดล้างพิษ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่เราได้มาจากภูมิปัญญา

เรามองว่าสมุนไพรนั้น เป็นส่วนประกอบสำคัญในปัจจัยสี่ โดยเป็นทั้งอาหารและเป็นยา ทางมูลนิธิก็ทำโครงการส่งเสริมการใช้สมุนไพร ถ้าเราสามารถเลือกสมุนไพรที่กินเป็นอาหารได้ก็จะมีประโยชน์มาก เพราะแทนที่จะรอให้ป่วยแล้วค่อยกินยาเพื่อรักษา เราก็นำสมุนไพรมาปรุงเป็นอาหาร ที่เรียกว่า อาหารเป็นยา

ยุคแรกๆที่เราส่งเสริม เราก็จะดูสมุนไพรที่มาจากอาหารทั้งสิ้น โดยเลือกสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงและมีสรรพคุณทางยาที่ดี เช่น ตะไคร้ ขมิ้น กระชาย แม้กระทั่ง กล้วย มะละกอ ฝรั่ง เราส่งเสริมหมด

นอกจากนั้น ทางมูลนิธิก็พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมให้คนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ยาสมุนไพร สบู่ น้ำยาล้างจาน หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพราะถ้าเราบอกว่า การกินยาสมุนไพรปลอดภัย แต่ไม่มียาสมุนไพรให้เขากินได้ง่ายๆ มันก็ยากที่จะพัฒนาสมุนไพรของไทยได้” วีรพงษ์เล่าถึงความเป็นมาและการดำเนินการของมูลนิธิสุขภาพไทย

อาหารปลอดสารพิษ แนวคิดสุขภาพแบบองค์รวม

จากการดำเนินการของมูลนิธิสุขภาพไทย ทำให้คนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจ และหันมาสนใจการใช้ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมากยิ่งขึ้น ด้วยเห็นว่า นอกจากสมุนไพรไทยจะเต็มไปด้วยสรรพคุณที่มีประโยชน์แล้ว ยังไม่มีผลข้างเคียงจากสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์หรือในยาฝรั่งอีกด้วย

จากความรู้ความเข้าใจ ได้กลายเป็นกระแสนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ ที่เลือกกินเลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์มาจากสมุนไพรในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯมองว่า การจะมีสุขภาพที่ดีได้นั้น คงไม่ใช่แค่รับประทานอาหารและยาที่มาจากสมุนไพรเท่านั้น แต่ต้องรับประทานอาหารและพืชผักที่ปลอดจากสารพิษอีกด้วย ทางมูลนิธิจึงได้ทำโครงการส่งเสริมการปลูกพืชผักไร้สารพิษในพื้นที่ต่างๆ

“พอทำมาสัก 6-7 ปี เราก็พบว่า การจะมีสุขภาพจะดีได้นั้น การกินสมุนไพรที่เป็นทั้งยาและอาหาร ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง แต่ควรจะกินอาหารปลอดสารพิษด้วย เราจึงใช้คำว่า “สุขภาพแบบองค์รวม” เพราะสุขภาพที่ดีนั้นไม่ใช่แค่สองเรื่องดังกล่าว แต่มันต้องมีมิติอื่นๆที่เป็นองค์รวมด้วย

มูลนิธิฯก็ปรับบทบาทมาทำเรื่องพวกนี้ด้วย โดยลงไปทำงานกับชุมชน เพื่อเปลี่ยนระบบการเกษตรจากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง มาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ หรือการทำเกษตรที่ปลอดสารพิษ ใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยน้ำชีวภาพ

โดยในระหว่างที่ทำโครงการส่งเสริมการใช้สมุนไพร เราก็ทำโครงการอาหารปลอดสารพิษด้วย โดยเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ในการปลูกข้าวปลอดสารพิษ ต้องบอกว่าเราเป็นเจ้าแรกๆที่เอาข้าวกล้องปลอดสารพิษมาขายที่กรุงเทพฯ กระทั่งปัจจุบันชาวนาที่นั่นมีโรงสีเป็นของตัวเองแล้ว

คือเราจะต่อสู้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพ เราก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกมานำเสนอ จะเห็นว่า ปัจจุบันเกษตรกรหันมาทำเกษตรปลอดสารพิษกันมากขึ้น ผู้บริโภคเองก็มีความสนใจต่อสุขภาพและเลือกที่จะกินพืชผักและอาหารที่ปลอดสารพิษกันมากขึ้น ขณะที่ตลาดก็ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นเช่นกัน

กระทั่งปัจจุบันได้กลายเป็นกระแสคนรักสุขภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อและขยายแนวคิดเรื่องอาหารปลอดสารพิษ ทำให้แนวคิดนี้ขยายตัวและหยั่งรากอย่างยั่งยืน” เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าว

อนุรักษ์พันธุ์ ส่งเสริมการปลูก

นอกจากมูลนิธิสุขภาพไทยจะส่งเสริมให้ผู้คนรู้จัก และหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกันมากขึ้นแล้ว การส่งเสริมและขยายพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพร ตลอดจนการฟื้นฟูและอนุรักษ์สายพันธุ์ก็เป็นสิ่งที่ทางมูลนิธิฯให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

เนื่องจากปัจจุบันพืชสมุนไพรของไทยสูญหายไปมาก ทั้งจากสาเหตุที่คนไม่รู้จักสมุนไพรชนิดนั้นๆ สาเหตุจากพื้นที่ป่าซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งสมุนไพรถูกทำลาย อีกทั้งระยะหลังๆ ยังมีการตัดสมุนไพรเพื่อนำมาผลิตเป็นยากันเยอะมากโดยที่ไม่มีการปลูกทดแทน หรือปลูกทดแทนไม่ทัน ทำให้มูลนิธิสุขภาพไทยได้ลงมาดูแลและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“ตอนนี้เรากำลังเจอปัญหาว่า สมุนไพรหลายชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ อย่างทางเหนือทางอีสานมีสมุนไพรที่เรียกว่า “ข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้” ซึ่งเป็นตำรับยาในพื้นที่ที่มีการใช้กันเยอะ แต่ปัจจุบันนี้มันลดน้อยลงมาก

เดี๋ยวนี้สมุนไพรที่เราจะใช้ผลิตยา เราต้องนำเข้าจากลาวและพม่า แต่เท่าที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นนั้น ตอนนี้ทางลาวก็ดูจะเหลือน้อยแล้ว แต่ก็โชคดีที่สมุนไพรบางชนิดเราสามารถหาวิธีขยายพันธุ์ได้ทันเวลา

อย่างหัวบุกซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เมื่อไม่นานมานี้ไทยก็เพิ่งสามารถหาวิธีเพาะพันธุ์ได้ หรืออย่างกวาวเครือขาว กวาวเครือแดง ซึ่งตลาดต้องการมากและแทบจะหมดจากป่า เพราะเป็นพืชที่ขึ้นช้า แต่ตอนหลังเราสามารถพัฒนาวิธีขยายพันธุ์มาเป็นการเพาะเนื้อเยื่อ

ซึ่งในส่วนของทางมูลนิธิฯ ซึ่งทำโครงการเรื่องสมุนไพรมาตั้งแต่ต้น ก็ต้องไปแก้ปัญหาเพื่อรักษาฐานทรัพยากรเอาไว้ งานของเราคือการอนุรักษ์พันธุ์พืช และส่งเสริมให้มีการปลูกทดแทน โดยเราเข้าไปทำงานกับชุมชน ส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยปลูกป่ารอบๆหมู่บ้าน เพื่อทดแทนกับที่หมอยานำออกมาใช้

พยายามอนุรักษ์พันธุ์สมุนไพรด้วยวิธีส่งเสริมให้เกิดการใช้และการดูแลของคนในชุมชนเอง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สมุนไพรแต่ละชนิดสามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืน”

ฟื้นฟูศาสตร์การรักษาของหมอพื้นบ้าน

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะมีสมุนไพรอยู่มากมาย แต่ปัจจุบันความนิยมในการแพทย์สมัยใหม่ ได้ส่งผลให้ศาสตร์การแพทย์อันเป็นภูมิปัญญาของไทยที่เรียกว่า “หมอพื้นบ้าน” ค่อยๆสูญหายไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า เรากำลังจะสูญเสียทรัพยากรบุคคลและภูมิปัญญาพื้นบ้านอันทรงคุณค่าไปในอีกไม่นานนี้

ดังนั้น มูลนิธิสุขภาพไทยจึงเห็นว่า ขณะนี้จำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูและขยายเครือข่ายหมอพื้นบ้าน ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

“โรคบางโรคชาวบ้านนิยมรักษากับหมอพื้นบ้านมากกว่า เช่น โรคเริมงูสวัด หรือโรคผิวหนังบางอย่าง แต่ศาสตร์เหล่านี้กำลังจะสูญหายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

การฟื้นฟูศาสตร์หมอพื้นบ้าน เป็นสิ่งที่ทางมูลนิธิฯเห็นความสำคัญและดำเนินการมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยเราลงไปทำงานกับชุมชน ทำงานกับเครือข่ายหมอพื้นบ้าน เช่น หมอยา หมอเป่า หมอกระดูก

เราฟื้นฟูให้เขาสืบทอดและยังเป็นที่พึ่งในชุมชน ซึ่งการส่งเสริมตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหมอพื้นบ้านยังคงอยู่ ศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพรและการรักษาตามแบบแพทย์แผนไทยก็จะไม่หายไปไหน

ที่ผ่านมาเราลงไปทำงานกับชาวบ้านในชุมชน ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย พะเยา สกลนคร ภาคอีสานที่อุดรธานี มหาสารคาม อุบลราชธานี ภาคกลาง ที่อยุธยา อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันหมอยานั้นเหลือน้อย แต่ก็ยังพอมีในจังหวัดอ่างทองกับอยุธยา

เราก็ทำโครงการในสองจังหวัดนี้ ศูนย์แห่งหนึ่งอยู่ที่อ่างทอง เป็นศูนย์การแพทย์พื้นบ้านของชาวบ้าน แต่ขอใช้พื้นที่วัด ก็พัฒนาไปมาก จนปัจจุบันถูกตั้งให้เป็นหน่วยบริการแห่งหนึ่งของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หรือที่อยุธยา ก็มีหมอแผนไทยที่เป็นชาวมุสลิม เราก็เข้าไปส่งเสริม

นอกจากนั้นก็มีที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งเราเข้าไปทำงานร่วมกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม คือผู้ใหญ่วิบูลย์เขาส่งเสริมเรื่องวนเกษตร และการปลูกป่าในผืนป่าภาคตะวันออก เดิมทีประเด็นของผู้ใหญ่วิบูลย์คือการอนุรักษ์ แต่เราไปเติมเรื่องสมุนไพร ทำให้ชุมชนรอบๆตระหนักถึงยาในป่าที่หายไป

เราก็จัดกิจกรรมให้เขามาปรุงยาด้วยกัน ชาวบ้านก็พบว่า ถ้าจะปรุงยาตำรับนี้ มันทำไม่ได้ เพราะสมุนไพรในป่าไม่เหลือแล้ว เขาก็ต้องเริ่มปลูก นอกจากนั้น เราก็นำยาที่ชาวบ้านปรุง ไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านคนอื่นๆด้วย

ส่วนภาคใต้นั้น เราทำโครงการที่ชุมพร และพัทลุง ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี คือเราต้องทำทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ไม่งั้นคนก็จะคิดว่าจะใช้ยาอย่างเดียว แต่ไม่ช่วยปลูกหรืออนุรักษ์พันธุ์” วีรพงษ์พูดถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูศาสตร์หมอพื้นบ้าน

ห่วงจุดอันตรายของ “สมุนไพร”

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ปัจจุบันผู้คนให้การยอมรับและหันมาใช้ยาสนุนไพรกันมากขึ้น แต่ก็มีปัญหาใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ การควบคุมคุณภาพและการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อวงการสมุนไพรในวงกว้าง ในประเด็นนี้วีรพงษ์บอกว่า

“ปัจจุบันยาสมุนไพรได้รับความนิยมมาก มียาสมุนไพรออกสู่ตลาดเยอะ แต่มีปัญหาใหม่เข้ามาคือมีการโฆษณาเกินจริง เพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอันตราย เพราะจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสมุนไพร

ทางมูลนิธิฯจึงต้องเข้ามามีบทบาทเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแทนที่วงการสมุนไพรจะพัฒนาได้ดี ก็กลายเป็นว่ามีคนมาฉกฉวยและมาทำลาย

ยกตัวอย่างย้อนไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว คนฮิตเรื่องน้ำลูกยอ ฮิตน้ำกระชายดำ เมื่อเร็วๆนี้ก็ฮิตมะรุม แต่ตอนนี้เลิกฮิตไปหมดแล้ว ตอนนี้กำลังฮิตเรื่องปอบิด ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่น มีคุณสมบัติเรื่องลดความดัน แต่เชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะเลิกฮิตไปอีก แล้วก็จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นแทนที่เป็นวัฏจักร

สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ ก็เนื่องมาจากผู้ผลิตมุ่งเรื่องการค้ามากเกินไป จึงมีวิธีคิดแบบเอาการตลาดนำ ทำให้มีการโฆษณาสรรพคุณที่เกินจริง โฆษณาราวกับว่าเป็นยาครอบจักรวาล รักษาได้สารพัดโรค ทั้งที่จริงๆแล้ว สมุนไพรแต่ละชนิดนั้นก็มีคุณสมบัติเฉพาะ ไม่มีสมุนไพรอะไรจะมีคุณสมบัติครอบจักรวาล

นอกจากนั้น การที่คนเรารับประทานสมุนไพรบางอย่างซ้ำกันนานๆ จะส่งผลให้ร่างกายได้รับสารบางอย่างมากเกินไปด้วย”

สุดท้าย เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย ยังบอกด้วยว่า การทำเรื่องสมุนไพรนั้น จำเป็นต้องมองแบบองค์รวม ตั้งแต่การปลูก การใช้ การพัฒนา ไปจนถึงการอนุรักษ์ อีกทั้งต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง แต่การจะดำเนินโครงการเหล่านี้ได้นั้น ปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเงินทุน

และเนื่องจากมูลนิธิสุขภาพไทยเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนไทย ดังนั้น รายได้ของมูลนิธิฯจึงมาจากการทำหนังสือและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น

“ใครที่อยากช่วยสนับสนุนโครงการของทางมูลนิธิฯ ก็สามารถอุดหนุนสินค้าหรือหนังสือของมูลนิธิฯได้ สินค้าเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของที่คุณภาพดี ราคาไม่แพง ที่สำคัญยังเป็นการช่วยพัฒนาสมุนไพรไทยและศาสตร์การแผนไทย ตลอดจนส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของชาวบ้านในชุมชนต่างๆอีกด้วย” เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวตบท้าย

กิจกรรมของมูลนิธิในด้านความรู้และบริการสุขภาพองค์รวม

ศูนย์สุขภาพ พุทธมณฑลสาย 4 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้แพทย์แผนไทย อายุรเวท และการบำบัดรักษาทางเลือกอื่นๆ โดยเปิดเป็นสถานพยาบาลอายุรเวท ให้บริการนวดแผนไทย อบประคบสมุนไพร ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม เปิดบริการ อังคาร-เสาร์ เวลา 09.00-17.00 น. โทร. 0-2814-4013

ร้านทางเลือกสำหรับผู้ผลิตและบริโภค

ร้านสุขภาพไทย ซอยพระพินิจ(สวนพลู) ถ.สาทร ให้บริการด้านการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า นวดตัวด้วยน้ำมันหอมระเหย ตลอดจนการอบประคบด้วยสมุนไพร จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร อาหารและหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00-21.00 น. โทร. 0-2286-0599

ร้านชมรมเพื่อนธรรมชาติ ประชานิเวศน์ 1 จำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรและหนังสือ เปิดจำหน่ายวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น. โทร. 0-2589-4243, 0-2591-8092

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย กฤตสอร)


กิจกรรมของมูลนิธิฯ
กิจกรรมของมูลนิธิฯ
กิจกรรมของมูลนิธิฯ
ยาสมุนไพรของมูลนิธิสุขภาพไทย
ยาสมุนไพรของมูลนิธิสุขภาพไทย
ต้นข้าวเย็น
เสลดพังพอน
หนังสือที่มูลนิธิฯ ผลิตขึ้นมา
หนังสือที่มูลนิธิฯ ผลิตขึ้นมา
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของมูลนิธิสุขภาพไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น