ย้อนไปเมื่อราว 2,000 ปีเศษ การสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก โดยฝีมือของช่างแคว้นคันธารราฐ เป็นศิลปะที่ผสมผสานกันระหว่างกรีก-โรมัน และอินเดียโบราณ ด้วยการแกะสลักจากหิน
จากนั้นเป็นต้นมาก็มีการสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุนานาชนิด ได้แก่ ทอง เงิน ทองแดง สำริด อัญมณี ไม้ ปูน อิฐ ดิน เป็นต้น
ล่าสุด กอนคาร์ เกียตโซ ศิลปินชาวทิเบต ได้สร้างสรรค์พระพุทธรูปศิลปะร่วมสมัย ทำจากเรซิ่นโพลียูรีเทน เรียกว่า “คอลลาจ” หรือภาพปะติด (ทำขึ้นด้วยการใช้วัสดุต่างๆ เช่น กระดาษ ผ้า เศษวัสดุธรรมชาติ ฯลฯ ปะติดลงบนแผ่นภาพ)
วิธีการสร้างสรรค์พระพุทธรูปคอลลาจนี้ เริ่มต้นด้วยการสแกนพระพุทธรูปองค์หนึ่งในสมัยศตวรรษที่ 14 เพื่อเป็นต้นแบบ จากนั้นนำภาพสแกนไปดำเนินการหล่อพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งด้วยเรซิ่นโพลียูรีเทน สูง 48 นิ้ว ในระหว่างนี้ได้มีการสั่งผลิตสติกเกอร์รูปแบบต่างๆ จำนวน 600,000 ชิ้นจากโรงงานในจีน
เกียตโซและทีมงานใช้เวลาหลายเดือนในการใช้สติกเกอร์จำนวนนับร้อยนับพันชิ้น ปะติดบนองค์พระพุทธรูป ทีละชิ้นๆ ด้วยความยากลำบาก จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ โดยพระพุทธรูปแต่ละองค์มีสติกเกอร์ ที่มีลวดลายและภาพเขียนแตกต่างกันไป
ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า 'Excuse me while I kiss the sky' ซึ่งได้มาจากเนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลงดัง Purple haze ของ Jimi Hendricks นักดนตรีชาวอเมริกันที่โด่งดังในยุคปี 60
และนี่เป็นผลงานครั้งแรกของเขาที่นำวิธีคอลลาจ ที่เป็นเทคนิคเฉพาะตัว มาใช้กับงานประติมากรรม ในขณะที่ยังคงความศรัทธาเลื่อมใสตามแบบพุทธศาสนาของทิเบตเอาไว้
นอกจากการสร้างสรรค์พระพุทธรูปด้วยวิธีคอลลาจแล้ว ตลอดชีวิตการทำงานของเกียตโซได้หยิบเอกลักษณ์ทิเบตโบราณที่มองเห็นได้ เช่น การวาดภาพทังก้า เข้ามาเป็นส่วนประกอบของงานจิตรกรรม โดยใช้เทคนิคคอลลาจเช่นเดียวกัน ในการจัดวางอย่างระมัดระวัง เพื่อสื่อให้เห็นถึงเศษวัสดุจำนวนมาก
กอนคาร์ เกียตโซ เป็นศิลปินชาวทิเบต เกิดในปี 1961 ที่นครลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต ประเทศจีน ขณะเป็นหนุ่ม เขาอาศัยอยู่ที่ธรรมศาลา ซึ่งเป็นชุมชนทิเบตลี้ภัยในประเทศอินเดีย และศึกษาการเขียนภาพทังก้า (การเขียนภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบทิเบต)
จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาการวาดภาพแบบจีนด้วยหมึกและพู่กันที่กรุงปักกิ่ง จนจบปริญญาตรี ที่ Central Institute of Nationalities ในปี 1984 ต่อมาในปี 1996 เกียตโซได้รับทุนการศึกษาต่อที่ Chesea School of Art and Design ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จปริญญาโทด้านศิลปะชั้นสูง ในปี 2000
และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เกียตโซก็ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอน นิวยอร์ก และปักกิ่ง เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Sweet Tea House ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นแกลเลอรีแห่งแรกของยุโรปที่จัดแสดงผลงานศิลปะทิเบตร่วมสมัย และเคยเป็นศิลปินประจำอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Pitt Rivers เมืองอ็อกฟอร์ด
งานศิลปะของเกียตโซสื่อให้เห็นถึงประติมานวิทยา (เป็นสาขาหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ศึกษาประวัติ คำบรรยาย และการตีความหมายของเนื้อหาของภาพ) ของศิลปะทิเบตโบราณและเอกลักษณ์ทางพุทธศาสนา
ด้วยสัญลักษณ์และการทำงานในแนวศิลปะร่วมสมัย งานของเกียตโซแสดงออกถึงสิ่งที่ขัดแย้งกันได้อย่างลงตัว และจากประสบการณ์ขณะอาศัยอยู่ในชุมชนทิเบตลี้ภัย ได้ช่วยหล่อหลอมมุมมองในเรื่องมนุษยธรรม การเมือง และการผลิตงานศิลปะของเขา
เกียตโซบอกว่า “งานของผมมาจากเสน่ห์ของวัสดุที่ใช้และวัฒนธรรมร่วมสมัย ผมต้องการดึงความสนใจให้คนดูรู้สึกว่า มันดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา ความขัดแย้งเหล่านี้มักพบได้บ่อยในภาพเดียวกัน ผมชอบใส่ความคิดแปลกๆและจินตนาการลงไปในงาน ประสบการณ์อันหลากหลายของผมมีส่วนทำให้งานศิลปะที่ผมสร้าง เต็มไปด้วยส่วนผสมหลายๆอย่าง
และผมคิดว่า มันช่วยไม่ได้ที่งานศิลปะของผมจะเผยให้คนดูเห็นถึงเรื่องราวทางการเมืองและวัฒนธรรมที่เป็นแนวคิดของผม เช่นเดียวกับการที่เอกลักษณ์ของบ้านเกิดผมนั้น ไม่อาจแยกออกจากเรื่องศาสนาและการเมืองได้ ดังนั้น ความรู้สึกนึกคิดของผม จึงได้รับอิทธิพลจากทั้งสองสิ่งนี้”
ผลงานของเกียตโซถูกนำไปจัดแสดงในระดับสากล ตามแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั่วโลก ทั้งที่เป็นสาธารณะและส่วนตัว เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จีน สกอตแลนด์ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 146 กุมภาพันธ์ 2556 โดย บุญสิตา)